xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” จีบญี่ปุ่นลงทุนรถไฟขนส่งสินค้ามาบตาพุด-กาญจน์ฯ หวังเชื่อม “ทวาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” จีบญี่ปุ่นลงทุนรถไฟขนส่งสินค้าสายมาบตาพุด-กาญจนบุรีหวังเชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เตรียมควงเอกชนไทยบุกญี่ปุ่นเดินทางไปโรดโชว์ปลาย ต.ค.นี้ หรือต้น พ.ย.



นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในระหว่างการพบปะนักลงทุนญี่ปุ่นประมาณ 500 ราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ว่า ได้เสนอผ่านทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและนักลงทุนญี่ปุ่นว่าไทยพร้อมที่จะสนับสนุนให้ญี่ปุ่นลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้า โดยเฉพาะในเส้นทางตั้งแต่กาญจนบุรี-ราชบุรี-เพชรบุรี-ลาดกระบัง-แหลมฉบัง-มาบตาพุด และเส้นนี้ยังเชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังศึกษารายละเอียดอยู่

“ไทยเองต้องการเชื่อมการค้าและการลงทุนจากตะวันออกและตะวันตก หรือ “อีสต์-เวสต์คอร์ริดอร์” ซึ่งมี 2 ระดับในไทย คือ เส้นบน ผ่านมุกดาหาร ภาคอีสาน ไปยังเขต ศก.แม่สอด จ.ตาก ไปเชื่อมพม่า ส่วนเส้นล่าง กาญจนบุรี ราชบุรี ลาดกระบัง-มาบตาพุด ซึ่งเส้นล่างอยากให้ญี่ปุ่นทำแต่ก็อยู่ที่ตัดสินใจช่วงปลายเดือน ต.ค.หรือต้น พ.ย.ผมเองจะพานักลงทุนไทยไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นและคงจะไปถามเรื่องนี้ต่อ เพราะถ้าญี่ปุ่นไม่สนใจทางไทยก็พร้อมที่จะลงทุนเอง แต่เห็นว่าญี่ปุ่นมีความสนใจทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง แล้วลองมาพิจารณารถไฟขนสินค้าเส้นนี้ดูผมว่ามันมีศักยภาพมากกว่ารถไฟความเร็วสูงอีกเพราะโรงงานส่วนใหญ่ก็เป็นของญี่ปุ่นอยู่แล้ว” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนไทยมีมูลค่าสูงถึง 40% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมด และเข้ามาอย่างต่อเนื่องแบ่งเป็น 3 ระลอก และในระยะนี้ถือเป็นระลอกที่ 3 โดยไทยนั้นมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนใหม่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นมูลค่าสูง นวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น และสร้างให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรม (Cluster) และผนวกเข้ากับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะออกนโยบายต่างๆ มาจูงใจให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2. การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคนี้และอื่นๆ ตั้งแต่จีน เชื่อมลงไปยังสิงคโปร์ และไปยังพม่าและอินเดีย รัฐบาลไทยจึงลงทุนระบบคมนาคม (ลอจิสติกส์) ที่จะเชื่อมต่อกับประเทศรอบข้างเหล่านี้ทั้งหมด และหนึ่งในเส้นทางดังกล่าวที่ไทยต้องการให้เกิดก็คือเส้นทางที่ได้เสนอญี่ปุ่นให้ดำเนินการครั้งนี้ โดยอนาคตเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้าและการส่งออกสำคัญในการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้

3. รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) โดยได้ทยอยออกแพกเกจในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และเห็นว่า SMEs ญี่ปุ่นสามารถที่จะมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ SMEs ไทยได้เป็นอย่างดี โดยได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอหาคู่ค้าที่ดีให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจในการที่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ไปด้วยกันในอนาคต























กำลังโหลดความคิดเห็น