รองนายกฯ ปฏิเสธแสดงความเห็นให้มี ส.ว.สรรหา พร้อมร่วมโหวตนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน บอกอย่าเอาข้อเสนอของ สปท.คนเดียวมาถามรัฐบาล แต่ยกอดีตเคยให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ รับรัฐบาลติง กกต.ใช้งบฯ ทำประชามติสูงสั่งให้ลดลงมา ขณะเดียวกันปัดให้สัมภาษณ์นายกฯ สั่ง ขรก.งดจ้อรายการ “สรยุทธ” ส่วนการปรับปรุงองค์กรมหาชนคาดภายในเดือนนี้ได้บอร์ดกำกับดูแล แย้มมีบางแห่งต้องพิจารณาสภาพคงอยู่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอที่จะให้มี ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านว่า ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้ ส่วนข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่จะให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ตนคงไม่ได้มองไปไกลขนาดนั้น อย่าเอาคำพูดของ สปท.เพียงคนเดียวซึ่งยังไม่ผ่านการรับรองของที่ประชุม สปท.มาถามรัฐบาล แต่ยอมรับว่าในอดีต ส.ว.เคยมีส่วนในการโหวตเลือกนายกฯ แต่เป็นเพียงช่วงหนึ่ง ไม่นาน เพราะตอนนั้นเราถือว่า ส.ว.เป็นสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยจึงมีส่วนร่วม อีกทั้งประธาน ส.ว.ก็เป็นประธานรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องการให้ลดงบประมาณในการทำประชามติด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ มติ ครม.ก็มี อยากให้ควบคุมในงบฯที่เหมาะสม แต่บอกไม่ถูกว่าต้องใช้เท่าไหร่ แต่วงเงิน 3 พันล้านบาทถือว่ามาก เมื่อปี 2558 ที่จะมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ร้อยละ 80 ของครัวเรือนก็วางงบประมาณไว้ที่ 3 พันล้านบาท แต่วันนี้ลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขว่าต้องใช้เท่าไร เพราะจะกลายเป็นการพูดส่งเดช แต่วิธีการจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเข้าถึงประชาชนมีเยอะ โดยไม่ต้องพิมพ์เป็นเล่ม ตนเห็นว่าคู่มือบทสรุปจะมีความสำคัญที่สุด โดยจะแจกจ่ายให้ทั่วถึง อาจจะออกโทรทัศน์ได้ทุกวัน
นายวิษณุยังกล่าวถึงการที่นายกรัฐมนตรีกำชับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ภายหลังศาลตัดสินจำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินการรายการข่าว คดีทุจริตค่าโฆษณา อสมท ว่า ตนได้ยินจากข่าว แต่ไม่ทราบว่านายกฯ เป็นคนสั่ง และนายกฯ ไม่ได้พูดอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวคิดดังกล่าวเหมาะหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามต่อว่าแต่หน่วยงานราชการจะต้องพึ่งสื่อในการเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร นายวิษณุกล่าวว่า แล้วประเทศไทยมีกี่สื่อ พูดกับสื่อ (ที่ทำเนียบรัฐบาล) ทุกวันนี้สบายใจจะตาย ต่อข้อถามว่า การที่คนซึ่งถูกศาลตัดสินยังออกพื้นที่สาธารณะควรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้คนอื่นพูดมากแล้ว ตนอย่าพูดเลยโดยเฉพาะตนซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล อสมท ซึ่งเป็นเจ้าหนี้
รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงองค์การมหาชน หลัง พ.ร.บ.องค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิมาอยู่ในคณะกรรมการพัฒนาองค์การมหาชน หรือบอร์ดองค์การมหาชน เพื่อกำกับดูแลองค์การมหาชนทั้ง 40 แห่ง ให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการควบรวมองค์กรต่างๆ และจัดตั้งองค์การมหาชนใหม่ ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมมากกว่าการควบคุม ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวจะมี 13 คน มีตนในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นประธานโดยตำแหน่ง ส่วนคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังอีก 3 คน ที่เหลือจะเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ซึ่ง ก.พ.ร.ได้ส่งรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิมาให้คัดเลือกแล้ว 14-15 คน จากนี้ต้องส่งชื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือก และเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน มี.ค.
นายวิษณุกล่าวว่า จะมีการศึกษารูปแบบองค์กรมหาชนทั้งหมดและจะพิจารณาถึงระบบประเมินผลว่าจะทำอย่างไร รวมถึงสถานภาพความจำเป็นการคงอยู่ขององค์กรที่ต้องให้ ครม.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ที่สำคัญสุดคือต้องให้องค์การมหาชนทุกแห่งปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน ถ้าไม่เสร็จคณะกรรมการก็ต้องปรับแก้เสร็จเอง
รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดแบบฟอร์มข้าราชการแบบใหม่ว่า ขณะนี้แบบฟอร์มเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีได้ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ วิธีประเมินแบบใหม่จะไม่ยุ่งยาก จะประเมินจากนโยบายปกติ นโยบายพิเศษ และนโยบายของแต่ละพื้นที่ ลงนามโดยรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับกระทรวง เจ้ากระทรวง และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)