xs
xsm
sm
md
lg

สพม.ชง 2 มีนาฯ วันพลเมือง “อลงกรณ์” ชู 5 หลัก เตือนสื่อระวังเจอบี้ตั้ง “สภาวิชาชีพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สปท.ถกรับฟังข้อเสนอ “วันพลเมือง” ประธานสภาพัฒนาการเมือง ชู 2 มีนาคมเหมาะเหตุเป็นวันที่รัชกาลที่ 7 ประกาศพระราชหัตถเลขาให้อำนาจแก่ราษฎร “อลงกรณ์” ชี้หลักสำคัญ 5 ประการ รับแต่ผ่านมายังไม่บรรลุเป้าหมายที่แท้จริง จ่อยกระดับผู้แทนที่ทำอะไรก็ได้เป็นแบบมีส่วนร่วม ชูถึงเวลาก้าวข้ามความแตกแยกอย่าให้นักการเมืองหาเสียงบนฐานประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง ยกกรณี “ไร่ส้ม” เตือนสื่อจะเจอสังคมบี้ให้เกิด “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน”

วันนี้ (2 มี.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.00 น. มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อปฏิรูปประเทศไทยและข้อเสนอ “วันพลเมือง” โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 เป็นประธานเปิดงานสัมมนา และสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) จากทุกจังหวัดเข้าร่วมประชุม จากนั้นนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธาน สพม. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ว่า สพม.จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรม ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งตั้งแต่ประเทศเข้าสู่เวลาของการปฏิรูป สพม.ก็ได้จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปในหลายประเด็น ที่เป็นเสียงสะท้อนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง และวันนี้เป็นวันสำคัญยิ่ง คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชหัตถเลขาประกาศให้อำนาจแก่ราษฎร ดังนั้นวันนี้จึงเป็นวันที่มีนัยสำคัญทางการเมืองที่จะและเป็นวันสำคัญที่จะประกาศให้เป็น “วันพลเมือง”

ด้านนายอลงกรณ์กล่าวเปิดงานว่า การปฏิรูปจะสำเร็จไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือทุกภาคี และต้องทำเพื่อทุกคน ไม่ใช่เพื่อการสืบทอดอำนาจ หรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะปัญหาของประเทศที่สั่งสมมาเป็นเวลา 10 ปี ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายการปฏิรูปอย่างยิ่ง และวันนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทยจึงมีการกำหนดให้วันที่ 2 มี.ค.เป็น “วันพลเมือง” ส่วน “วันพลเมืองโลก” คือ วันที่ 20 มี.ค. ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับพลเมืองเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับประเทศไทย เพราะการประกาศเป็นวันพลเมืองได้ทุกประเทศจะต้องยึดหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ 1. ความเสมอภาค 2. เสรีภาพ 3. สิทธิ 4. ความรับผิดชอบ และ 5. มีความเป็นเอกภาพ

“แต่ตลอดที่ผ่านมายังถือว่าไม่บรรลุเป้าหมายที่แท้จริง เพราะจากการพัฒนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ ระบอบประชาธิปไตย เราพัฒนาโดยระบบราชการ และเป็นพลังถ่ายทอดมายังระบบการเมือง ที่เรียกว่า ระบบรัฐสภาที่มีผู้แทนฯ ซึ่งใช้มาเป็นเวลายาวนาน 84 ปี วันนี้ถึงเวลาที่จะยกระดับพัฒนาระบบผู้แทนที่ทำอะไรก็ได้ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ดังนั้น พลังที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จอยู่ที่พลเมือง จะต้องมีการเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีดุลยภาพ บนพื้นฐานพลังการเมือง ราชการ และพลังพลเมือง ผมจึงเห็นด้วยที่ สพม.ได้ประกาศให้วันที่ 2 มี.ค.เป็นวันพลเมือง เพราะจะเป็นหลักประกันว่า ประการ 5 สำคัญนี้ จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกแยก และเห็นต่างให้ได้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องก้าวข้ามความแตกแยก อย่าปล่อยให้นักการเมืองมาหาเสียงบนฐานความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง” นายอลงกรณ์กล่าว

นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า ปัญหาโจทย์ใหญ่ 6 ในการปฏิรูป ตามมาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นบทพิสูจน์ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อมวลชนที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงต้องเร่งปฏิรูปสื่อ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ไร่ส้ม ที่มีการทุจริตเกิดขึ้น ทำให้สร้างความเสื่อมเสียต่อสื่อมวลชนโดยรวม ดังนั้นเราต้องปฏิรูปให้สื่อเป็นอีกพลังหนึ่งที่มีจริยธรรม และจรรยาบรรณ ที่สามารถทำให้เกิดพื้นที่พลเมืองในเชิงของเวทีทัศนะและข่าวสารอย่างหลากหลายและมีดุลยภาพ ซึ่งจะอยู่ที่องค์กรสื่อที่จะต้องพิจารณาและสร้างความเชื่อมั่น เพราะในที่สุดสังคมจะเรียกร้องให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อมากำกับดูแลกันเองให้ได้ เช่นเดียวกับสภาทนายความ หรือแพทยสภา เป็นต้น

ต่อมาวงสัมมนาได้เปิดโอกาสให้สมาชิก สพม.นำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง อาทิ ข้อเสนอประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลจะต้องบังคับใช้นั้นจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะในอนาคต 20 ปี โลกจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และผู้ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์จะเป็นรุ่นลูกหลาน ไม่ใช่ผู้ที่มานั่งคิดกันอยู่ในสภาฯนี้ จึงขอฝากให้ผู้มีอำนาจได้ทบทวน

ด้านนายธีภัทรได้สรุปข้อถกแถลงว่า ตนจะนำทุกข้อเสนอไปยังที่ประชุมสพม. และนำส่ง สปท.เพื่อดำเนินการ ซึ่งตนเห็นว่าสิ่งที่สมาชิกพูดมาทั้งหมดนี้ ถ้าสามาถนำไปกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติได้ก็จะดี แต่เมื่อดูจากยุทธศาสตร์ชาติหรือข้อกำหนดอื่นๆ ในการปฏิรูปแล้ว จะเห็นว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้นมีน้อยมาก ตนจึงเป็นห่วงว่าการจะผลักดันให้เป็นผลสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพลังที่จะผลักดันให้ปรากฏ คือ พลังของประชาชนนั้นยังไม่มีน้ำหนักพอเมื่อเทียบกับภาคส่วนราชการ แต่เราก็จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริง

จากนั้นสมาชิก สพม.ได้ทำการสักการะประกาศวันพลเมืองต่อเบื้องพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ก่อนจะไปร่วมประกาศเจตนารมณ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น