xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"ฟุ้งร่างรธน.ถูกใจประชาชน ครม.โกงหมดสิทธิ์รักษาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (11 ก.พ.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเปิดงานสัมมนา หัวข้อ“บทบาทของผู้หญิงกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่”ของคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยได้ยืนยันถึงความก้าวหน้าของร่างรธน. เช่น สิทธิเสรีภาพของสังคมไทยที่กว้างขึ้น อะไรที่เป็นเรื่องสำคัญจะกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐ กรธ.ยังใส่ความก้าวหน้าให้ประชาชนได้ประโยชน์ และไม่ไห้ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมด้วย รวมถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการสร้างความเป็นธรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้ง
"บางคนอ่านร่างรธน.เพียงบางช่วงแล้วรู้สึกว่าครอบคลุมไม่ถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ถ้าอ่านครบจะรู้ว่าครอบคลุมตามสมควร ที่พูดไม่ได้จะบอกว่า สิ่งที่กรธ.ทำแล้วจะยุติแค่นั้น การเหลือเวลาทิ้งไว้เดือนเศษ เพราะสติปัญญาคนเขียนร่างรธน. 21 คน คงได้เท่านี้ จึงต้องฟังคนอื่นด้วย เพื่อจะได้นำกลับไปคิด แต่ขอให้ช่วยกันอ่านให้ละเอียด ว่าขาดตกบกพร่องตรงไหน"
ส่วนที่มีพรรคการเมือง บิดเบือนว่ากรธ.วางกรอบการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้บริหารงานได้ไม่เต็มที่นั้น ไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าร่างรธน.ฉบับนี้ เป็นสากล คือต้องแก้ปัญหาของแต่ละประเทศตามวิถีทางของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่า จะแตกต่างไปจากประเทศอื่นไม่ได้ ด้วยกลไกที่ กรธ.วางไว้ จะช่วยให้การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล มีกรอบ มีวินัย พอสมควร
" มีคนถามว่า รธน.เราเป็นสากลหรือไม่ ผมก็บอกว่าเป็น หลายเรื่องที่ไอ้กันโวยวาย แทบเป็นแทบตาย แต่เราไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร เราก็ไม่ได้เขียนไว้ในรธน. เช่น เรื่องสีผิว เพราะคนอเมริกัน เป็นเดือดเป็นร้อนเรื่องนี้มา จึงต้องเขียนเรื่องนี้ไว้ในรธน. แต่ประเทศอื่นเขาไม่เดือดร้อน ประเทศไทยก็ไม่มี แล้วก็ไม่เคยได้ยินว่าการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนไทย มีเรื่องสีผิวด้วย มีแต่สีคนไทย"
ที่ผ่านมา เวลาครม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้อยู่ไปก่อนจนกว่าจะมีชุดใหม่ทำหน้าที่ แต่เรายังไม่เคยคิดว่า ถ้าพ้นทั้งคณะเพราะทุจริต เราจะให้เขารักษาการอย่างนั้นหรือ ตนคิดว่าไม่ควร ถ้าพ้นเพราะทุจริตจากหน้าที่ เขาควรไปเลย กรธ. จึงไปนำฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรณโณ มาว่าในช่วงช่องว่าง 5-10 วัน ต้องให้ปลัดกระทรวงฯ ดูแลไปก่อนได้ครม.ใหม่
นายมีชัย ยังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาระบุวันลงประชามติว่า อาจจะเป็นวันที่ 31 ก.ค.นั้น ตนคาดว่าก็คงจะอยู่ในช่วงนั้น ไม่น่าคลาดเคลื่อนเกิน 2-3 อาทิตย์ ส่วนกรณีที่มีความเห็นว่า ถ้าร่างรธน.ไม่ผ่าน อาจต้องนำเอารธน.ฉบับเก่าๆ มาใช้นั้น เรื่องนี้ตนมองว่ายังไกลไป อย่าเพิ่งไปคิดถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า
ส่วนข้อวิจารณ์เรื่ององค์กรอิสระ ว่ากรธ.ทำให้เข้มแข็งเกินไป ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนนั้น ตนคิดว่า องค์กรอิสระ ไม่ได้เป็นที่รังเกียจของประชาชน แต่คงเป็นที่ไม่ชอบใจของนักการเมืองบางส่วน เพราะหน้าที่เขาก็ตรวจสอบตามกฎเกณฑ์ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้วางไว้ และก็ไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่า ในรธน. 50 แต่ที่มากขึ้นคือ เรื่องของคุณสมบัติของ ส.ส. -ส.ว.และ ครม.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมทำประชามติ ร่างรธน. โดยแก้ไขรธน.ชั่วคราว ปี 57 ก็เพื่อให้การลงคะแนนเสียงมีความชัดเจน การปรับลดหลักเกณฑ์แจกจ่ายร่างรธน. ให้ครบ 80 เปอร์เซ็นต์ และอาจต้องทบทวนว่า จะยังให้มีประเด็นแถมถามประชามติ ในเรื่องอื่นๆ อีกหรือไม่ รวมถึงบทลงโทษ กรณีฝ่าฝืนกฎระเบียบกกต. ในการลงประชามติ ต้องใส่ไว้ในรธน. ชั่วคราวด้วย
เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ หากประชามติไม่ผ่าน จะเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ นายวิษณุ กล่าวย้อนถามว่า "คุณเสียดายไหมละ แต่เมื่อจะเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องยอมสูญเสียเงิน"
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ตนระบุหากประชามติไม่ผ่าน จะนำร่างรธน.ฉบับปี 59 ของนายมีชัย มาปรับปรุงใช้นั้น ตนไม่ได้ยืนยันอย่างนั้น แต่เป็นการตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ทำไมไม่แก้รธน.ชั่วคราวไปคราวเดียวกันเลย หากไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไร ตนบอกว่า หากแก้ในคราวเดียวกันก็ได้ หรือรอความที่ชัดเจนก่อน เพราะมันมีตัวแปรประกอบการพิจารณาอยู่ว่า ถ้าหากค่อยแก้ ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะใช้เวลาไม่นาน ตรงกันข้ามอาจเกิดข้อดี เพราะถ้าเอารธน. ฉบับต่างๆ มาเปรียบเทียบ พอดีพอร้าย เลยต้องมาทำความเข้าใจรณรงค์ ยุ่งไปกันใหญ่ เกิดอคติ ลำเอียงขึ้นได้ในการลงประชามติ ถึงยังไม่เปิดเผยว่าจะทำอย่างไร
นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าไม่ผ่านจะหยิบฉบับไหนมาใช้ ถ้าบอกไปเอาฉบับนั้น ฉบับนี้ ขณะที่เวลานี้ก็มีการมาพูดกันแล้วว่า ฉบับของนายบวรศักดิ์ ดีกว่าฉบับ กรธ. แล้ว หรือหยิบฉบับ กรธ. มาปรับแก้ไข ก็เกิดคำถามว่า หยิบมาทำไม เมื่อไม่ผ่านแล้ว ดังนั้นช่วงเดินหน้าประชามติ ไม่ควรเพิ่มประเด็นขัดแย้งในสังคม ลำพังว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ก็ขัดแย้งกันแย่อยู่แล้ว แต่ก็ต้องทน
"ความจริงไม่จำเป็นต้องเอาฉบับไหนมา เพราะจริงๆ แล้ว ฉบับของนายมีชัย ครึ่งหนึ่งก็เอามาจากรธน.ปี 40 และปี 50 นั่นแหละ ไม่มีใครคิดประดิษฐกรรมอะไรขึ้นมาใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด " นายวิษณุ กล่าว
นอกจากนี้ คะแนนเสียงประชามติ ก็เป็นตัวแปรตัวหนึ่งให้คิดว่า ถ้าไม่ผ่าน แล้วทำอย่างไร เพราะถ้าคะแนนเสียงผ่านมันมากเกินครึ่งก็จบ แต่ถ้าไม่ผ่านโดยคะแนนไม่มาก ก็ต้องแปลผลว่า คนเห็นด้วยกับร่างนั้นมีอยู่ไม่ใช่น้อย และกำลังคิดว่า ที่เขาไม่เห็นด้วยเป็นส่วนน้อย แล้วเรารับฟังความเห็นคนก็ได้ อ่านจากหนังสือพิมพ์ ก็รู้ที่ไม่ผ่านติดใจประเด็นใด ก็แก้ประเด็นนั้นเสีย จะแก้ให้กลับไปเหมือนปี 40 หรือ 50 ก็แล้วแต่ คะแนนประชามติ จะเป็นตัววัด ซึ่งไม่ใช่ถึงขนาดที่ว่า จะนำร่างรธน. ฉบับปี 59 ขึ้นมาใช้แน่ๆ
**ชงปฏิรูป12ด้านใส่ในร่างรธน.

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) กล่าวว่า ในการประชุมสปท.วันที่ 15-16 ก.พ.นี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาวาระการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ใน 3 คณะได้แก่ 1. รายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องการจัดทำแผนการกำหนดและการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 2. รายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน เรื่องบทบาทหน้าที่และการใช้ประโยชน์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3. รายงานการปฏิรูประเทศด้านเศรษฐกิจ เรื่องพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ในการประชุม สปท. วันที่ 15 ก.พ.นั้น สปท.จะมีการพิจารณายกร่างเนื้อหาใน มาตรา 269 ของร่างรธน. ที่สปท. จะต้องเสนอบรรจุ เรื่องแนวทางการปฏิรูปประเทศ ในร่างรธน. ซึ่งขณะนี้ กมธ.ทั้ง 11 คณะและกมธ.วิสามัญ 1 คณะ รวม12 คณะ ได้เสนอข้อความด้านการปฏิรูปประเทศ ที่จะใส่ในร่างรธน. ดังนี้
1. ด้านการเมือง 2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4. ด้านการปกครองท้องถิ่น 5. ด้านการศึกษา 6. ด้านเศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ เศรษฐกิจกระแสใหม่ และการเงินการคลัง 7. ด้านพลังงาน 8. ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 9. ด้านสื่อสารมวลชน 10. ด้านสังคม 11. ด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม และ 12. ด้านการปกป้องและปราบปรามการุทจริตและประพฤติมิชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น