โฆษกวิป สปท.เตรียมเสนอบรรจุแนวทางปฏิรูปประเทศ 12 ด้านในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กมธ. การเมืองเสนอปฏิรูปพรรคการเมือง เลือกตั้งบริสุทธิ์ กมธ. กฎหมาย-ปราบทุจริต เน้นเกิดผลสัมฤทธิ์ ขณะเดียวกันการประชุม สปท.15 ก.พ. รับทราบรายงาน กมธ.พลังงาน ใช้ประโยชน์กองทุนน้ำมัน
วันนี้ (11 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.20 น. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) กล่าวว่า ในการประชุม สปท.วันที่ 15-16 ก.พ. ที่ประชุม สปท. จะมีการพิจารณาวาระการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ใน 3 คณะ ได้แก่ 1. รายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องการจัดทำแผนการกำหนดและการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 2. รายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน เรื่องบทบาทหน้าที่และการใช้ประโยชน์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3. รายงานการปฏิรูประเทศด้านเศรษฐกิจ เรื่องพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
นายคำนูณกล่าวว่า ในการประชุม สปท.วันที่ 15 ก.พ. สปท.จะมีการพิจารณายกร่างเนื้อหาในมาตรา 269 ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ สปท.จะต้องเสนอบรรจุเรื่องแนวทางการปฏิรูปประเทศในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ กมธ.ทั้ง 11 คณะ และ กมธ.วิสามัญ 1 คณะ รวมทั้งหมด 12 คณะ ได้เสนอข้อความด้านการปฏิรูปประเทศที่จะใส่ในมาตรา 269 ของร่างรัฐธรรมนูญมาเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งหมด 12 ด้าน หรือ 12 อนุมาตรา ดังนี้ ดังนี้ 1. ด้านการเมือง 2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4. ด้านการปกครองท้องถิ่น 5. ด้านการศึกษา 6. ด้านเศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ เศรษฐกิจกระแสใหม่และการเงินการคลัง 7. ด้านพลังงาน 8. ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 9. ด้านสื่อสารมวลชน 10. ด้านสังคม 11. ด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม และ 12. ด้านการปกป้องและปราบปรามการุทจริตและประพฤติมิชอบ
“กมธ.ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เสนอแนวทาง ให้เกิดผลสัมฤทธิ์เรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การปฏิรูปพรรคการเมือง และการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ เที่ยงธรรม การกำกับควบคุมการใช้อำนาจรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ กมธ.กฎหมายแลกระบวนการยุติธรรม เสนอแนวทางปฏิรูปในทุกด้านให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 64 และ 43 และ กมธ.วิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติชอบในภาครัฐ เสนอแนวทางให้เกิดผลสัมฤทธิ์สร้างจิตสำนึกของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การให้มีกลไกป้องกันการทุจริต โดยปราศจากการแทรกแซงการเมือง เป็นต้น” โฆษกวิป สปท.กล่าว