สุพรรณบุรี - เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการช่วยเหลือปัญหาหนี้สินเกษตรกร และผู้ยากจน
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่ห้องประชุมพลายชุมพล โรงแรมสองพันบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องระเบียบหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกร และผู้ยากจน พ.ศ.2546 โดยมี น.ส.ดุษฎี รังษีพลาสวัสดิ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปัญหาหนี้สินของชาวนา และเกษตรกรเกิดจากปัญหาภัยแล้งด้วยกันทั้งสิ้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เช่น โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกร โครงการแก้วิกฤตภัยแล้ง และโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อนำเม็ดเงินให้เกษตรกรนำไปหมุนเวียนเพื่อสร้างอาชีพก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนขึ้นในชุมชน แต่เกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องของระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่างๆ
ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และตัวเกษตรกรเอง ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรี จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในหลักการเหตุผล หรือกฎระเบียบ หรือข้อจำกัดต่างๆ เชื่อว่า การสัมมนาในครั้งนี้เราจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน น.ส.ดุษฎี รังษีพลาสวัสดิ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) ได้จัดทำแผนพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงาน และกิจกรรมของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรเพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อให้ดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์
จังหวัดสุพรรณบุรี จึงจัดการประชุมสัมมนาขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ได้รับความรู้ความเข้าใจในระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติงาน สามารถวิเคราะห์เรื่องของผู้ขอกู้ได้โดยถูกต้องตามระเบียบ และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ยากจนให้ลดน้อยลง หรือหมดไป