xs
xsm
sm
md
lg

สภา กห.อนุมัติร่างยุทธศาสตร์ไซเบอร์ คุมเข้มพวกใช้เทคโนโลยีสร้างความไม่สงบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์
“สภากลาโหม” เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อป้องกันประเทศ จำกัดเสรีภาพฝ่ายที่จะเข้ามาแทรกแซง สร้างความไม่สงบ โดยตั้งหน่วยงานกลางร่วมกับฝ่ายความมั่นคงดูแลไซเบอร์ พร้อมปฏิเสธ “บิ๊กป้อม” ไปรัสเซียชอปปิ้งอาวุธ

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลประชุมสภากลาโหมครั้งที่ 2/2559 ว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ไซเบอร์ ประจำปี 2558 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อป้องกันประเทศและให้มีเสรีในการใช้ประโยชน์ไซเบอร์ พร้อมเป็นการจำกัดเสรีของฝ่ายที่จะเข้าแทรกแทรก ป้องกันการสร้างความไม่สงบ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกัน คือ ให้มีหน่วยงานกลางร่วมกับหน่วยความมั่นคงในการดูแลการใช้ไซเบอร์ ด้านการป้องปรามได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการแทรกแซง และผนึกกำลังเพิ่มมาตรการและขีดความสามารถให้ปฏิบัติการป้องกันไซเบอร์ระดับชาติ ซึ่งหลังจากทำแผนแม่บทแล้วจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ

พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ที่ประชุมได้เน้นย้ำให้กองกำลังชายแดนดูแลการเดินทางเข้าออกระหว่างสองประเทศ ป้องกันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ก่อการร้าย ยาเสพติด ส่วนสถานการณ์ด้านการก่อการร้ายนั้น การข่าวไม่ได้มีสิ่งใดที่บ่งชี้ โดยเฉพาะกลุ่มไอเอส แต่ได้ขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม ระมัดระวังไม่ให้เกิด โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ระมัดระวัง ไม่ประมาท สร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ ขอให้ตระหนักว่าข่างเรื่องการก่อการร้าย เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ขอให้นำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง เพราะกระทบต่อความมั่นคง ขอให้รับข้อมูลข่าวสารของทางราชการโดยตรง

“ส่วนข่าวการจัดซื้อยุทโธปกรณ์มีขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปต่างประเทศแล้วจะไปช็อปปิ้งเหมือนอย่างที่หลายฝ่ายคิด เพราะการจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพระยะสั้น กลาง และยาว พร้อมดูความต้องการของเหล่าทัพเป็นหลัก โดยมีคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์พิจารณาดูว่าที่เสนอมานั้น มีคุณสมบัติตามที่กำหนดหรือไม่ เมื่อผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการฯแล้ว ก็ต้องมาดูกำลงของงบประมาณ และความเหมาะสม สภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่อยากซื้อก็ซื้อได้ทันที”

โฆษกกระทรวงกลาโหมชี้แจงว่า การเดินทางไปเยือนรัสเซีย ของ พล.อ.ประวิตร และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนั้น ขอย้ำว่าไทยมีนโยบายรอบทิศทางมาตั้งแต่ปี 2528 เพื่อให้เกิดความสมดุล และเพื่อผลประโยชน์ของทุกประเทศ ไม่ได้เลือกข้างประเทศไหนเป็นพิเศษ ไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์กันยาวนาน และในปี 2560 จะครบรอบความสัมพันธ์ 120 ปีด้วย อีกทั้งเมื่อช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามา รัสเซียก็ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขหรือปิดกั้นความสัมพันธ์กับไทย พร้อมยืนยันความร่วมมือทุกด้าน ในช่วงปี 2558 เศรษฐกิจชะลอตัวสองประเทศก็พร้อมที่จะสนับสนุนพึ่งพาซึ่งกันและกัน

“การเดินทางไปครั้งนี้ไม่ได้หารือด้านความมั่นคงอย่างเดียว แต่ได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ร่วมกันรวมถึงการแลกเปลี่ยน ข่าวสาร การต่อต้านก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การทหาร อุตสาหกรรม ป้องกันประเทศ และความต้องการยุทโธปกรณ์ทางทหาร เพื่อใช้ป้องกันประเทศ และด้านเทคโนโลยีความมั่นคง พลังงาน ทหาร และยกระดับการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทุกมิติ ความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร จะนำไปสู่ความร่วมมือที่มากขึ้นโดยเฉพาะเบลารุส เป็นผู้ผลิตยานยนต์ ล้อ มากเป็น 1 ใน 4 ของโลก โดยมีการตั้ง กมธ ร่วม และจะมีการลงนามในเอ็มโอยู เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไปรัสเซีย พ.ค.นี้”

โฆษกกลาโหมกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนากลาโหมมากขึ้น เพื่อผลิต หรือสร้างนวัตกรรมที่ตรงความต้องการของกองทัพ เพื่อลดการพึ่งพา และการจัดหาจากต่างประเทศเพื่อประหยัดงบฯ ในที่ประชุมสภากลาโหม พล.อ.ประวิตรขอให้ทุกเหล่าทัพช่วยสร้างการรับรู้กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายประชารัฐต่อไป รวมทั้งการบูรณาการแผนงานกลาโหมให้ หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม ร่วมพิจารณา บูรณาการ ทั้งหน่วยในและนอกกกลาโหม พร้อมมอบ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมทุกเหล่าทัพในการจัดทำ พัฒนา อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ออกมาเป็นแผน และงบประมาณ หลังกลับจากรัสเซีย-เบลารุส


กำลังโหลดความคิดเห็น