xs
xsm
sm
md
lg

สวยแต่รูป! ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไร้สิทธิประชาชน “โคทม” ชมเขียนกระชับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โคทม อารียา (ภาพจากแฟ้ม)
วงเสวนารัฐธรรมนูญใหม่ ใช้วิธีบันทึกเทปรายการแทน หลังถูกสั่งห้ามจัดหวั่นกระทบคำสั่ง คสช. จวกยับไร้สิทธิประชาชน ทำลายระบบตัวแทน รัฐทำตัวให้ใหญ่ต้องแบมือขออย่างเดียว อาจารย์ด้านสันติวิธี ม.มหิดล ชมเขียนกระชับ สละสลวย แต่แก้ไขยาก อาจารย์ มสธ. มองไม่ทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของร่วม เอารัฐเป็นตัวตั้ง ขยายฐานระบบราชการ เซ็นเช็คเปล่าศาลรัฐธรรมนูญทางการเมือง เชื่อโอกาสถูกคว่ำมีสูง “เสรี” ถามกลับ ทำอย่างไรถึงใช้เสรีภาพแล้วไม่เกิดปัญหา

วันนี้ (28 ก.พ.) ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต ได้มีการเผยแพร่เทปบันทึกภาพรายการเวทีสาธารณะ โดยกลุ่มเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ประกอบด้วย สำนักข่าวประชาไท, สำนักข่าวไทยพับลิก้า, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญใหม่เอาไงดีจ๊ะ” โดยมีนักวิชาการ และผู้ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางสังคมได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

นางกรรณิการ์ กิตติเวชกุล ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch), นางบุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมุทรสงคราม, นางจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์, นายเคท ครั้งพิบูลย์ ผู้เคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมในกลุ่มคนข้ามเพศ และ นายปกรณ์ อารีกุล สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้แสดงความเห็นว่า เมื่อเห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้ว ตกใจมาก เพราะสิทธิของประชาชนได้หายไปมาก เหลือแค่เพียงสิทธิของประชาชนตามที่รัฐจะให้

โดยเฉพาะสิทธิของประชาชนในการดำเนินการตรวจสอบหนังสือสนธิสัญญาจากต่างประเทศ ก่อนเจรจาหรือลงนาม เรื่องสิทธิของผู้บริโภค เพราะไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปการในคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ให้สำหรับคนชายขอบในสังคมในการมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ การลดสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา รวมทั้งเนื้อหาในส่วนหน้าที่ของรัฐนั้น ก็มีความสงสัยว่า หากไม่บัญญัติไว้ รัฐจะทำตามหรือไม่ เพราะปกติภาครัฐจะต้องทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้บัญญัติเนื้อหาที่ทำลายความเชื่อมั่นในระบบตัวแทน โดยมีองค์กรที่มีอำนาจซ้อนรัฐคอยกำกับควบคุม ดังนั้น ในช่วงเวลาที่อยู่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระบวนการตั้งแต่ที่มาของ กรธ. และขั้นตอนการร่างถือว่ามีส่วนร่วมประชาชนน้อยมาก มีความเป็นตัวแทนประชาชนน้อย ซึ่งในบทบัญญัติหน้าที่ของรัฐทำให้ตัวรัฐมีขนาดใหญ่มาก อำนาจประชาชนถูกเทไปอยู่ในส่วนของรัฐหมด อะไรที่ประชาชนเคยมีอยู่ต้องไปขอจากรัฐเพียงอย่างเดียว และประเด็นเรื่องการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ที่มีความคลุมเครือในตัวเองว่าห้ามขาดดุลหรือไม่ ถ้ารัฐต้องทำหน้าที่มากมาย สุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการขาดดุลทางการคลังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งในตัวเองว่า สรุปแล้วรัฐจะเลือกแนวทางใด อีกทั้งสภาวะตอนนี้ไม่เอื้ออย่างยิ่งว่าจะเป็นการทำประชามติที่เป็นคุณภาพ ซึ่งต้องยอมรับก่อนความขัดแย้งที่เกิดขั้นช่วง 10 ปีทีผ่านมา เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ต้องใช้การเมืองแก้ไขเปิดโอกาสให้ต่อรองกัน

นายโคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างเบื้องต้นมีข้อดี คือ เขียนได้กระชับและสละสลวย เห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เป็นระบบจัดสรรปันส่วน แต่บัตรเลือกตั้งเป็นสองใบน่าจะดีกว่า และความตั้งใจของผู้ร่างที่คิดจะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

ส่วนข้อกังวลที่มีการพูดถึงกันมาก คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) และ รัฐธรรมนูญสองขยัก คิดว่า กรธ. คงรู้ว่าทำแล้วจะมีเสียงต้าน แต่กลไกที่จะควบคุมการทำงานของรัฐบาลชุดต่อไปได้วางไว้แล้วในร่างรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมากเกินไป บทบัญญัติที่ระบุว่าหาก ครม. ไม่ยับยั้งการใช้งบประมาณที่มากเกินไป อาจจะเป็นโดยตรงหรืออ้อม ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นว่าเกี่ยวข้องโดยตรงให้ ครม. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและห้ามสมัครเลือกตั้ง

รวมทั้งที่มีการระบุว่าให้มีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติให้ใช้บังคับได้ และบอกให้ทำกฎหมายนี้ให้เสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งหมายถึงจะทำตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นการสอดแทรกไว้แล้ว และประเด็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมีหลายด่าน เช่น ข้อกำหนดให้ ส.ส. ของพรรคการเมืองทุกพรรคต้องมี 1 ใน 10 ที่เห็นด้วยกับการแก้ไข ซึ่งดูแล้วเหมือนว่าง่าย แต่พรรคการเมืองใดเหนียวแน่น ไม่แตกแถว การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอันพับไป อีกทั้งที่ให้บางเรื่องหากจะแก้ไขต้องไปทำประชามติ แต่หมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกลับกำหนดให้แก้ไขยากมาก บทบัญญัติที่เป็นช่องให้แก้รัฐธรรมนูญก็ทำยาก ซึ่งส่วนนี้ กรธ. ควรทบทวนอีกครั้ง

นายยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า จุดเด่นที่เห็นได้ชัดในร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือ การพูดเรื่องการรับรองสิทธิตามธรรมชาติ เพิ่มบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพ การบัญญัติหน้าที่ของรัฐ การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมจุดเด่นเหล่านี้สังคมไม่รู้สึกว่าจะเป็นประโยชน์ แต่กลับรู้สึกว่าจะทำให้เกิดปัญหาในเชิงมุมกลับ เนื่องจากว่าเพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของร่วม แม้บทบัญญัติดีแค่ไหนแต่สังคมไม่รู้สึกร่วมไปด้วยก็ไม่มีความหมาย

อีกทั้งเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ จะเอารัฐเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่สังคม โดยเฉพาะการบัญญัติหน้าที่ของรัฐ จะทำให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น คือการขยายฐานระบบราชการ ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ ที่ถูกพูดอยู่เสมอคือ เรื่องที่มาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเปิดช่องให้นายกฯ มาจากคนนอก ที่มา ส.ส. แม้บอกจะเป็นการนับทุกคะแนน ถ้าเป็นบัตรสองใบจะน่าสนใจ ที่มา ส.ว. เลือกไขว้ข้ามกลุ่ม แต่ตรงนี้ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะบล็อกโหวตหรือไม่

ส่วนเรื่องกลไกการตรวจสอบที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่มากขึ้น อำนาจหน้าที่ไม่ได้ใส่ไว้ชัด โดยระบุว่าแล้วแต่กฎหมายประกอบ จนเป็นการมองว่าคือการเซ็นเช็คเปล่าทางการเมืองหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่ากฎหมายประกอบนั้นจะเป็นอย่างไร การเพิ่มกลไกตรวจสอบในทางกลับกันอาจเป็นมาตรการคัดง้างกับเสียงข้างมาก อีกทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยหลังจาก ส.ส. ส.ว. ให้ความเห็นชอบตามเกณฑ์ที่กำหนด ตามปกติตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย แต่พอเกิดอีกอำนาจหนึ่งจะทำให้โครงสร้างบิดเบี้ยว อำนาจ 3 ฝ่ายจะไม่สมดุล

การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยแท้ของนิติบัญญัติด้วยซ้ำ เพราะผูกพันประชาชนมากที่สุด และสุดท้ายในบทเฉพาะกาลที่ให้คงอำนาจในมาตรา 44 ต่อไปจนกว่ามีรัฐบาลใหม่นั้น เปรียบเสมือนอำนาจสูงสุดที่มีความทับซ้อนและคู่ขนานกับอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ตนมองว่า ถ้าเนื้อหาเป็นเหมือนร่างเบื้องต้นเชื่อว่าโอกาสที่จะไม่รับจะมีสูง ยกเว้นแต่ว่า ต้องยึดหลักการร่างรัฐธรรมนูญสากล ส่วนร่วมประชาชน ความเชี่ยวชาญ และสภาที่ความเชื่อมโยงกับประชาชน

สุดท้าย นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า ความเห็นหลากหลายเป็นประโยชน์ควรนำมาปรับแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ระบบราชการต้องปฏิรูปให้บริหารกลไกของรัฐให้มีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญควรสั้นกระชับ รายละเอียดไปใส่ในกฎหมายประกอบ ควรบอกให้ชัดว่าเป็นลักษณะใด ส่วนคำถามว่าจะทำอย่างไรต่อ ก็เห็นว่าทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น ต้องปฏิรูปประเทศให้ได้ ทำรัฐธรรมนูญให้ดี ซึ่ง สปท. คือ แม่น้ำสายหนึ่ง ทุกคนเข้ามาแก้ไขปัญหา ทำประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่า ต้องมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่อย่าลืมปัญหาที่เกิดขึ้น จะต้องพิจารณาสองด้าน ถ้าอยากให้มีการชุมนุม หรือการแสดงความเห็นก็ทำได้ แต่ทำอย่างไรแล้วจะไม่เกิดปัญหาและผลกระทบ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ การจัดวงเสวนา “รัฐธรรมนูญใหม่เอายังไงดีจ๊ะ?” เดิมจะจัดขึ้นในวันนี้ (28 ก.พ.) เวลา 10.00 - 13.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนนพระราม 1 แต่ทางตำรวจ สน.ปทุมวัน แจ้งมาว่า กิจกรรมนี้อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขัดต่อประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 และจำเป็นต้องได้รับอนุญาตก่อน จึงไม่อาจอนุญาตให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรม อย่างไรก็ตาม ทางรายการเวทีสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ขอเดินหน้าบันทึกรายการตอนนี้ต่อไป ในประเด็นการพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้ย้ายสถานที่ไปยังสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น