ความสำเร็จของการตั้ง “คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ดำเนินการมาครบ 1 ปี ได้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของระบบครอบครัว หากพ่อแม่ที่ไม่เปิดรับ ไม่เข้าใจเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ จะทำให้เด็กไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต สอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่า เด็กจะมีปัญหาซึมเศร้าและมีสถิติการฆ่าตัวตายถึง 2 เท่า
ตรงกันข้ามกับเด็กที่ครอบครัวให้การยอมรับ ไม่ว่าเขาจะเป็น ตุ๊ด, เกย์, กะเทย, ทอม, เลสเบี้ยน, bisexual (ไบเซ็กชวล) และ transgender/transsexual (คนข้ามเพศ) หรือ Intersex (คนสองเพศ) กลับพบว่ามีผลการเรียนดี และส่วนใหญ่จะพบความสำเร็จในชีวิตสูง เพราะเมื่อได้รับการยอมรับในตัวตนนั้นๆ เด็กก็จะมี self-esteem คือมีความนับถือตัวเอง มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ที่อยากจะพิสูจน์ให้คนใกล้ชิดได้เห็นและพร้อมๆ กับรู้สึกอยากตอบแทนพ่อแม่ที่ยอมเปิดใจรับในสิ่งที่เด็กเป็น ซึ่งวันนี้คลินิกฯ ได้ช่วยให้เด็กกลุ่มหนึ่งที่มีความจำเป็นในและต้องการจะแปลงเพศให้ได้รับการดูแลอย่างครบวงจร
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ เวชศาสตร์วัยรุ่น ผู้ก่อตั้ง คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น (Gender Variation Clinic หรือ Gen-V clinic) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวกับ Special Scoop ถึงการเปิดคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่นว่า ทำให้สังคมได้เข้าใจ “ความหลากหลายทางเพศ” มีรายละเอียดมากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจ เพราะไม่ใช่มีเพียงแค่ "ชาย-หญิง-ตุ๊ด-กะเทย-เกย์-ทอม-ดี้" จากการเปิดคลินิก ทำให้พบความหลากหลายมากมายกว่านั้น ทั้งคนที่เป็นกะเทยแต่มีแฟนเป็นผู้หญิงก็มี หรือเด็กผู้ชายที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงมีความพอใจแค่ไม่อยากมีหนวดมีเคราแต่ก็ไม่ได้อยากมีหน้าอก ซึ่งก็พอใจในแบบที่เป็น
ดังนั้นสิ่งที่วัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ “เผชิญปัญหา” จึงไม่ได้เกิดจากการที่คนคนนั้นเป็นเพศหลากหลาย แต่ต้นตอของปัญหาจะเกิดจากการถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน บางครั้งครูเองก็เป็นต้นเหตุเรียกเด็กว่า "อีตุ๊ดควาย"หรือพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจนั้น เป็นสิ่งที่ลดทอนศักยภาพของเด็กที่สามารถแสดงศักยภาพเต็มที่โดยไม่ต้องขึ้นกับเรื่องสถานะทางเพศของเด็ก
ส่วนที่เข้าใจกันว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เกิดจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูนั้น ยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่า การเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุเดียวที่มีผลอย่างชัดเจนต่อความหลากหลายทางเพศ แต่คิดว่าเป็นจากหลากหลายสาเหตุร่วมกัน แต่มีงานวิจัยที่พบว่าเป็นเรื่องของปัจจัยทางชีวภาพ ที่พบว่าสมองบางส่วนของกลุ่มตุ๊ดหรือกะเทยนั้น มีลักษณะเหมือนของผู้หญิง ซึ่งกลไกของสมองอาจจะเป็นจากเรื่องการพัฒนาฮอร์โมน ยีนส์ และสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ที่ส่งผลต่อการเติบโตของสมองแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่พ่อแม่อยากให้ลูกคลอดออกมาเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงจริงๆ ก็อาจจะไม่สามารถควบคุมได้ กรณีเดียวกันกับอยากได้ลูกฉลาดก็ไม่สามารถจะได้อย่างใจกันทุกคน
ซื้อฮอร์โมนฉีด/กินเอง ระวังตับพัง
พญ.จิราภรณ์ ระบุถึงข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเชิงสำรวจความหลากหลายทางเพศของเด็กมัธยมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 2,700 คนในพื้นที่กรุงเทพฯ พบตัวเลขเด็กที่ตอบมีความหลากหลายทางเพศถึงร้อยละ 11 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย และยังพบอีกว่าพ่อแม่มีบทบาทสำคัญและมีผลกระทบกับเด็ก โดยเฉพาะ “พ่อแม่ที่ไม่ให้การยอมรับ” เด็กจะมีภาวะซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตายที่สูงกว่าปกติถึง 2 เท่า รวมถึงมีผลการเรียนต่ำกว่าปกติ ตรงกันข้ามหากกลุ่มที่พ่อแม่มีความเข้าใจจะช่วยในการพัฒนาเด็ก และยังสามารถดึงศักยภาพจุดเด่นที่มีอยู่ในตัวของเด็กออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในตัวเด็กบางคน อาจมีความสับสนเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และพบว่า เด็กมีการกินฮอร์โมนประจำอยู่แล้ว ซึ่งบางคนซื้อฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชายจากเว็บไซต์ มีบริการส่งไปรษณีย์ถึงบ้าน และกรณีที่ใช้ฉีดก็จะมีการนำไปให้คลินิกฉีดให้ บางคนก็ฉีดเองเลย
“การใช้ฮอร์โมนของกลุ่มเด็กเหล่านี้มีความน่ากลัว ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพราะเป็นยาอันตรายไม่ปลอดภัย แต่อยู่ที่การใช้ไม่ระมัดระวัง เพราะเด็กที่ซื้อฮอร์โมนมากิน มาฉีด จะเข้าใจตามที่ได้อ่านว่า นี่คือสูตรที่ไอดอลกินหรือฉีดแค่นั้น”
ในหลักการใช้ฮอร์โมน จะต้องมีการตรวจและเจาะเลือดเพื่อดูผลก่อน และจะต้องมีการติดตามผลของการใช้ฮอร์โมนทุกๆ 3 เดือน ว่ามีผลข้างเคียงอย่างไร หรือมีผลต่อตับหรือไม่ ขณะที่เด็กที่ซื้อกินเองไม่ได้ตรวจเลือด ำม่รู้ข้อห้ามใช้ ไม่มีการติดตามผลดูการทำงานของตับ ไต ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หากมีการปล่อยปละละเลยไม่มีการดูแล ปล่อยให้ซื้อฮอร์โมนมาฉีดเอง จะเป็นอันตรายกับตัวเด็กโดยตรง
“ยาพวกนี้ขายแพงกว่าปกติทั่วไปมาก เพราะฉะนั้นการซื้อมาใช้ก็อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ซึ่งเด็กที่มาหาหมอส่วนใหญ่จะพยายามมัธยัสถ์ เพื่อไปซื้อฮอร์โมนมาใช้ แต่เมื่อไหร่ที่ต้องการเงินก็อาจจะชักจูงไปสู่ด้านอื่นๆในทางที่ไม่ดีก็ได้”
ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเป็นห่วงและกังวล คือ ครอบครัวและพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะค่านิยมสังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องเพศน้อยมาก และความเชื่อเดิมทำให้ไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้พ่อแม่กับลูกมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดี และแทนที่วัยรุ่นจะพัฒนา เรื่องนี้จะทำให้เด็กพัฒนาได้ไม่ดี ต้องมาติด “กับดักในความไม่เข้าใจของครอบครัว” ซึ่งเมื่อพูดถึงเกย์ คนที่เป็นพ่อแม่หรือคนสมัยก่อนอาจจะเปิดใจรับยาก แต่ก็อยู่ที่การพูดคุย ซึ่งการแสดงความเข้าใจไม่ได้หมายความว่า ปล่อยแล้วก็ต้องปล่อยหมดเลย จะต้องมีขีดจำกัดที่รับได้ในระดับที่คนในครอบครัวพูดคุยกันแล้วค่อยๆ จูนกันไป
การที่เด็กมีภาวะข้ามเพศนั้น อยากจะให้พ่อแม่เข้าใจและเข้าหาเด็ก ทั้งนี้งานวิจัยยังพบว่า ถ้าเด็กไม่ได้รับการดูแล และเผชิญกับปัญหาครอบครัวไม่เปิดใจรับนั้น จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายสูงมาก โดยสถิติเด็กกลุ่มที่ครอบครัวไม่ยอมรับจะบอกว่าตัวเองคิดอยากจะฆ่าตัวตายมากกว่า 2 เท่าของเด็กที่ครอบครัวยอมรับ
ในเรื่องของปัญหาทางอารมณ์ที่มีการกล่าวกันว่าคนข้ามเพศหรือคนผิดเพศมักจะมีปัญหาทางอารมณ์นั้น ไม่จริง เพราะถ้าไปดูข่าวหนังสือพิมพ์ที่ฆ่ากันตายทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องของผู้ชายและผู้หญิง แต่พอมีเรื่องของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ทอมดี้ และตุ๊ดกะเทยฆ่ากันก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะสังคมมีความเชื่อว่าคนพวกนี้มักมีอารมณ์รุนแรง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีทุกเพศทุกอาชีพ เพราะในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่มีข้อสรุปว่าคนที่มีการข้ามเพศ จะมีอารมณ์รุนแรง
“Gen-V clinic” พร้อมช่วยเด็กที่ต้องการค้นพบตัวเอง
พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า เด็กกลุ่มที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ หากมีปัญหาให้เดินมาที่คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทันที ซึ่งเปิดให้คำปรึกษาในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ปัญหาครอบครัว พ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือดูแลความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ โดยจะเปิดให้บริการในวันศุกร์ ส่วนในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนจะมีแพทย์เฉพาะทางครบทุกด้านมาช่วยในการดูแล เช่นแพทย์อายุรกรรมต่อมไร้ท่อเด็ก และแพทย์ต่อมไร้ท่อผู้ใหญ่ ที่มาให้คำปรึกษาดูแลเรื่องฮอร์โมนรวมถึงจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น และศัลยแพทย์ที่พร้อมจะให้คำปรึกษากับคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องการแปลงเพศ
ซึ่งเป้าหมายหลักของคลินิก คือ การทำให้เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ กลายเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีคุณภาพซึ่งวันนี้ได้มีการขยายจากเดิมให้คำปรึกษาตั้งแต่อายุ10-24 ปี เป็นตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่
“วันศุกร์ที่ 4 ของเดือน จะมีแพทย์ครบทุกด้าน เพราะถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องการผ่าตัดแปลงเพศ เราก็ต้องดูความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่ว่าต้องการจะทำแล้วเราก็ทำให้ ทุกอย่างต้องอยู่ที่การประเมิน อายุมากกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 18 ปี โดยมีผู้ปกครองยินยอมโดยมีจิตแพทย์รับรองอย่างน้อย2ท่าน ว่ามีความจำเป็น ปัจจุบันคุณหมอศัลยรรมตกแต่งได้ผ่าตัดแปลงเพศไปแล้วเป็นสิบราย และตอนนี้มีคิวยาวไปถึงปี 2559”
พญ.จิราภรณ์ ย้ำว่า ปัญหาของเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศจะไม่มี ถ้าครอบครัวเข้าใจ ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศระบุเลยว่า ครอบครัวที่มีการยอมรับเด็กๆ จะมีความสุขมากกว่า และจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (Acadamic Arshivment) และจะประสบความสำเร็จในชีวิตที่สูงกว่า
ทั้งนี้สังคมที่ไม่เปิดกว้างอาจจะทำให้บางคนต้องบีบตัวเองไปอยู่ในอีกสังคม ซึ่งหากสังคมเปิดกว้างและมีคลินิกเปิดให้บริการแบบนี้ จะทำให้คนเข้าใจความหลากหลายทางเพศ และทำให้คนอยู่อย่างเป็นสุขมากขึ้น
ที่สำคัญ "เด็กกลุ่มนี้จะไม่ถูกตีตราว่าผิดปกติ" และเข้าใจอย่างถูกต้องว่าเป็นความหลากหลายแบบหนึ่ง ที่เหมือนหน้าตาคน ที่เมื่อถูกมองว่าหน้าตาน่าเกลียด ก็จะเครียด จนต้องไปทำหน้าให้สวย ซึ่งความคิดแบบนี้ไม่ทำให้การพัฒนาศักยภาพเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าเมื่อเด็กไม่ถูกกดดันและได้รับการยอมรับและก็อยากจะพิสูจน์ให้เห็น และเป็นความรู้สึกอยากตอบแทนพ่อแม่ ที่ก่อนหน้าถูกตราหน้าว่าเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง อธิบายได้ถึงเรื่อง self-esteem เพราะเมื่อเรารู้สึกตัวเองใช้ได้นั้น ก็อยากจะทำอะไรที่สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน
วิธีสังเกตลูกว่ามีลักษณะข้ามเพศ
พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า ความหลากหลายทางเพศมีรายละเอียดทั้งการแบ่งตามอัตลักษณ์ และตามรสนิยมทางเพศ บทบาททางเพศและอื่นๆ โดยความหลากหลายทางเพศเป็นร่มใหญ่ เป็นธรรมชาติที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ขณะที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ทั้งความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ทางเพศ คือ "ความรู้สึกที่ตัวเองเป็นชายหรือหญิง" ซึ่งมีความหลากหลาย รสนิยมทางเพศคือการรู้ว่าตนเองมีความรู้สึกทางเพศแบบชอบผู้ชายหรือชอบผู้หญิง หรือชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง บางคนก็มีความหลากหลายในบทบาท เช่นผู้หญิงบางคนไม่มีความเป็นผู้หญิงสูง ไม่ชอบสีชมพูแต่งหน้าหรือไว้ผมยาว เป็นผู้หญิงห้าวๆ ซอยผม คือ เรียกว่ามีความเป็นผู้ชายอยู่ในตัว
ขณะที่ผู้ชายบางคนไม่ชอบเตะบอล แต่ชอบรดน้ำต้นไม้อยู่บ้าน ซึ่งเป็นความหลากหลาย แม้กระทั่งความรู้สึกในความเป็นเพศชาย - เพศหญิงของตัวเราเอง ทำให้มีการแสดงบทบาทที่แตกต่างกันความหลากหลายในแง่มุมของอัตลักษณ์เมื่อก่อน ผู้ชายคือ คนที่มีบทบาทเป็นผู้นำต้องดูแลบ้าน หรือผู้ชายทำงานเป็นพ่อครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่มีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าจะกล้าแสดงออกมาหรือเลือกชอบอย่างที่ตัวเองเป็นได้ดีแค่ไหน
พ่อแม่จะเริ่มสังเกตลูกว่า มีความหลากหลายทางเพศได้ โดยดูที่การแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ ถ้าเด็กผู้ชายมีดีกรีความเป็นผู้หญิงมากจะเห็นตั้งแต่เล็กๆ จะเริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่เล็ก 2-3 ขวบ เช่น ลูกไม่ทำกิจกรรมอะไรแบบเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย หรืออาจจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ท่าท่างกริยา ก็พอจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ เช่น เด็กผู้ชายไม่เคยยืนฉี่นั่งฉี่ตลอด เล่นของเล่นของเด็กผู้หญิง หรือท่าทางเวลานั่งเหมือนเด็กผู้หญิง
ในอีกลักษณะคือ เป็นเรื่องของรสนิยมทางเพศจะเริ่มแสดงให้เห็นตอนโตเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นว่า เด็กชอบเพศไหน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความเป็นชาย ความเป็นหญิงที่แสดงออกมาจากร่างกาย จะแสดงให้เห็นตอนที่เด็กโตแล้ว เริ่มสนใจเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน ซึ่งเด็กบางคนจะสับสนยังต้องใช้เวลาในการรู้จักตัวเองไปเรื่อยๆ
หากกลุ่มเพื่อนในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น เด็กมีเพื่อนเป็นเพศตรงข้าม เด็กผู้ชายมีเพื่อนผู้หญิงเยอะไม่มีเพื่อนผู้ชายเลย ก็อาจจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ว่าลูกเรามีความเป็นผู้หญิงค่อนข้างสูง ซึ่งพ่อแม่หลายคนเข้าใจว่า เป็นเพราะคบแต่เพื่อนผู้หญิงเลยทำให้ลูกเป็นแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เด็กเลือกเอง เด็กจะรู้ตัวว่าเวลาอยู่กับเด็กผู้ชายแล้วไม่ชอบ
ส่วนเด็กที่ปรากฏท่าทางตอนวัยรุ่นชัดเจน อันที่จริงเวลาถามกลุ่มที่เป็นกะเทยว่ารู้ตัวเมื่อไหร่ จะตอบเหมือนกันทุกคนว่า รู้ตั้งแต่เล็กๆ หรือรู้ตั้งแต่จำความได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าดีกรีมากหรือน้อยถ้าดีกรีมากจะเห็นตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่บางคนบอกลูก 2 ขวบเริ่มเห็นว่าลูกเล่นแต่ตุ๊กตา ไม่เล่นอะไรที่เป็นของเล่นผู้ชาย เอาหุ่นยนต์มาให้ก็ไม่สนใจ
สำหรับที่มีภาวะข้ามเพศไม่มากจะค่อยๆ ปรากฏให้เห็น ซึ่งจะเห็นชัดไม่ชัด ก็ไม่ได้ขึ้นกับเด็กมีความเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายมากน้อย แต่ขึ้นอยู่กับบรรยากาศภายในบ้านที่จะทำให้รู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงออกได้แค่ไหน หากรู้สึกปลอดภัยพ่อแม่ยอมให้พื้นที่ให้การยอมรับก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น บางคนจะเก็บกดไม่กล้าแสดงออกเดี๋ยวพ่อเอาตาย พ่อแม่ก็จะไม่รู้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมีความเป็นผู้ชายมากแค่ไหน เพราะทุกคนมีความเป็นผู้ชายผู้หญิงอยู่ในตัว เด็กบางคนมีความเป็นผู้ชายเยอะ แต่มีความเป็นผู้หญิงเหมือนกัน
ทั้งนี้เด็กบางคนไม่ได้เป็นตุ๊ดเลย แต่วันหนึ่งจะชอบผู้ชายก็ได้ ไม่มีทางรู้และบอกไม่ได้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของยีน กรรมพันธุ์ จะพัฒนาไปเอง ไม่สามารถจะบังคับหรือทำให้เป็นอย่างไรได้ ซึ่ง พญ.จิราภรณ์ แนะนำว่า การเลี้ยงดูโดยมีบทบาทที่เหมาะสมของพ่อแม่ ก็อาจจะทำให้มีการซึมซับบทบาทและเป็นต้นแบบความเป็นหญิงชายได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นคำตอบ เพราะมีพ่อแม่ที่มีการแสดงบทบาทเหมาะสม แต่มีลูกเป็นตุ๊ดกะเทยทอมดี้ ก็มี สิ่งที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
“พ่อแม่ควรดูแลและรักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่พ่อแม่มักคิดว่าการข้ามเพศจากความเป็นชายหญิงนั้น คือสิ่งที่ผิดปกติ จึงทำให้เป็นทุกข์ ดังนั้น พ่อแม่จะต้องลบความคิดนี้ไปให้ได้ เพราะปัจจุบันทางการแพทย์ไม่ได้เรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็นคนผิดปกติ พ่อแม่ก็ต้องไม่รู้สึกว่าลูกผิดปกติเช่นกัน”
เฉกเช่นเดียวกับคนที่ถนัดซ้ายซึ่งก็ไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่แต่ก็ไม่ได้ผิดปกติ เป็นคนที่มีความสามารถเหมือนคนทั่วไป ส่วนการจัดสภาพแวดล้อมและการดูแลจะช่วยให้พ่อแม่เปลี่ยนลูกได้หรือไม่นั้น ในความเห็นของ พญ.จิราภรณ์ ย้ำว่าเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ในระดับกลางๆ อาจจะปรับเปลี่ยนได้เล็กน้อย ส่วนคนที่มีความเป็นเพศตรงข้ามมากกว่าก็อาจจะยาก "เด็กผู้ชายรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง จะรู้สึกมาตั้งแต่เป็นเด็ก" แม่บอกไม่เคยเล่นอะไรที่เหมือนเด็กผู้ชาย ชอบเล่นตุ๊กตา ซึ่งถ้ามีลักษณะนี้โอกาสจะไปเปลี่ยนนั้นคงจะยาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นหญิง-ชายของแต่ละคนด้วย
ดังนั้น หน้าที่ของพ่อแม่คือ เข้าใจและเปิดรับในความเป็นเพศที่เด็กเป็น แต่ไม่ถึงขนาดต้องบังคับให้ลูกต้องทำสิ่งที่เป็นเพศของตัวเองมากๆ เช่นลูกผู้หญิง ก็จัดหาตุ๊กตา ส่วนลูกผู้ชายก็พาไปเตะฟุตบอล แต่ควรจะเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้เป็นเรื่องของเพศ เช่นเกมที่เล่นได้ทั้งเพศหญิงและชาย การพาไปว่ายน้ำ และค่อยๆ ติดตามดู สุดท้ายหากพบความเป็นเพศตรงข้ามแสดงออกมาเยอะจริงนั้น ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับ เพราะพ่อแม่ไม่ได้เป็นเจ้าชีวิตของลูก แต่ต้องสนับสนุนให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป!