xs
xsm
sm
md
lg

‘ครูเคท’ ครูกะเทย ที่สังคมไทยไม่ยอมรับ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารต่อศาลปกครอง เหตุเพราะไม่รับกะเทยเข้าเป็นอาจารย์ ระบุเป็นเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรม ทางด้านมหาวิทยาลัยแจงเป็นเพราะเธอโพสต์รูปลิปสติกคล้ายอวัยวะเพศชายลงทางโซเชียลฯ ไม่เกี่ยวกับเพศที่สาม พร้อมชี้แจงต่อศาล!




ไม่ยอมรับเพราะเป็นกะเทย?

กลายเป็นประเด็นดรามาต่อเนื่องและดูทีท่าว่าจะไม่จบสิ้นในเร็ววันสำหรับกรณีของ ‘เคท ครั้งพิบูลย์’ หญิงข้ามเพศที่ถูกปฏิเสธให้บรรจุเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งที่สอบผ่านข้อเขียนแล้ว โดยเธอได้ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารต่อศาลปกครอง ระบุเลือกทางมหาวิทยาลัยปฏิบัติไม่เป็นธรรม เหตุเพราะเธออาจเป็นสาวประเภทสอง

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2558 ‘คทาวุธ ครั้งพิบูลย์’ หรือ ‘เคท’ เธอผ่านการคัดเลือกเป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และได้แถลงข่าวถึงกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังไม่รับบรรจุเป็นอาจารย์ หลังจากที่ล่วงเลยระยะเวลามากว่า 242 วัน




โดยกล่าวว่า ได้เดินทางเพื่อมายื่นหนังสือถึงอธิการบดี มธ. เพื่อขอทราบความคืบหน้ามติของมหาวิทยาลัยในการรับบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ เพราะที่ผ่านมาได้สอบถามไปทางคณะสังคมสงเคราะห์ แต่ไม่ได้รับคำตอบที่เป็นทางการ จึงรู้สึกสูญเสียโอกาส และพบข้อสงสัยบางประการ เช่น ผู้สมัครรายอื่นที่มีรายชื่อเข้ารับตำแหน่งอาจารย์พร้อมกับตนนั้นได้บรรจุไปหมดแล้ว

อีกทั้ง ในส่วนของตนนั้นระยะเวลายังล่วงเลยมากว่า 10 เดือนก็ยังไม่ได้คำตอบ และหากมหาวิทยาลัยเลือกการเป็นเพศที่สามของตนมาตัดสินคงเป็นเรื่องที่ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การใช้อัตลักษณ์ทางเพศตัดสิน เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมในอนาคต

ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน 2558 เธอได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ โดยมีมติเพิ่มความเห็นเรื่องความล่าช้าในการพิจารณาการบรรจุจ้าง และลงมติเช่นเดิมว่าจะไม่จ้างงานเธอเพราะเรื่องจริยธรรม คาดสาเหตุอาจเกิดจากเธอเป็นสาวประเภทสอง และในเดือนมิถุนายน 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งข่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

โดยระบุถึงกรณีการยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) ซึ่งมีมติ ไม่เห็นชอบจ้าง ‘เคท ครั้งพิบูลย์’ เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่า “เธอมีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย”




ล่าสุด วันที่ 12 ตุลาคม 2558 เธอยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง โดยระบุว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้ง เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะไม่ได้ตัดสินที่คุณสมบัติซึ่งเป็นสาระสำคัญ แต่ดูการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก

ทั้งนี้ ‘เคท ครั้งพิบูลย์’ ยื่นคำฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยอนุมัติการเป็นอาจารย์ ยังให้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 363,000 บาท รวมถึงค่าเสียโอกาสเดือนละ 23,700 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยจะอนุมัติการเป็นอาจารย์





ไม่ใช่เพราะเพศที่สาม แต่เพราะไม่เหมาะสม!

จากกรณีข้างต้น ‘ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์’ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาชี้แจงกรณีไม่รับ ‘เคท ครั้งพิบูลย์’ เข้าทำงานเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ โดยกล่าวว่าเป็นมติคณบดี-กก.กลั่นกรองถึง 2 รอบที่เจ้าตัวยื่นอุทธรณ์ และไม่เกี่ยวกับเป็นเพศที่สาม แต่เป็นเพราะพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการเป็นอาจารย์ที่ดี โดยก่อนหน้านี้เธอได้โพสต์ภาพลิปสติกคล้ายอวัยวะเพศชาย ลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก พร้อมกับย้ำว่าคนเป็นอาจารย์ไม่ควรทำ และพร้อมชี้แจงต่อศาล




“มธ.ขอยืนยันว่าเหตุผลที่ไม่รับนายเคทเข้าเป็นอาจารย์ ไม่ใช่เพราะนายเคทเป็นเพศที่สาม แต่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อการเป็นอาจารย์ที่ดี เนื่องจากมีการโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งคนที่จะมาเป็นอาจารย์ไม่ควรกระทำแบบนี้

และต่อให้นายเคทกล่าวอ้างว่าภาพที่โพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นเพียงแค่ภาพลิปสติกที่เป็นของฝาก แต่ลักษณะของลิปสติกคล้ายอวัยวะเพศชาย อยากให้ดูว่าภาพลิปสติกที่โพสต์นั้นเป็นรูปที่ไม่เหมาะสม คนที่เป็นอาจารย์ไม่ควรทำ ดังนั้น การที่นายเคทไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองถือเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ หากศาลเรียกไปชี้แจง มธ.ก็จะนำหลักฐานที่มีทั้งหมดไปชี้แจงต่อศาล”




ทั้งนี้ การพิจารณาคุณสมบัติของ ‘เคท ครั้งพิบูลย์’ กลั่นกรองโดยคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) ถึง 2 รอบด้วยกัน และผลการประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นพ้องต้องกันว่าเธอมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่จะรับเข้าเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย

“กระบวนการคัดเลือกอาจารย์ของ มธ.ปกติแล้วแต่ละคณะเป็นผู้คัดเลือก โดยพิจารณาตามคุณสมบัติที่ มธ.กำหนดไว้แล้ว เช่น ผลการเรียน ก็จะพิจารณาพฤติกรรมของแต่ละบุคคลนั้นด้วย ในส่วนของนายเคทนั้นทางคณะสังคมศาสตร์ได้เสนอรายชื่อให้คณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีรองอธิการบดีเป็นประธานเป็นผู้พิจารณา ผลการพิจารณาที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่านายเคทมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่จะรับเข้าเป็นอาจารย์

จากนั้นจึงได้นำรายชื่อนายเคทเข้าพิจารณาในที่ประชุม ก.บ.ม. ประกอบด้วยคณบดีคณะต่างๆ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับนายเคทเข้าเป็นอาจารย์เช่นกัน จึงได้แจ้งเรื่องให้นายเคททราบซึ่งนายเคทก็ได้อุทธรณ์เรื่องเข้ามา หลังจากนั้นก็ได้ส่งเรื่องนายเคทเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง และ ก.บ.ม. อีกเป็นครั้งที่ 2 ปรากฏว่าก็ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับเป็นอาจารย์เหมือนเดิม ทาง มธ.จึงได้แจ้งเรื่องให้นายเคททราบ และได้แจ้งสิทธิว่าสามารถไปยื่นฟ้องศาลปกครองได้”




ดูที่เพศ หรือ ความสามารถ?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live จึงต่อสายตรงไปยัง ‘เคท ครั้งพิบูลย์’ เพื่อสอบถามความคืบหน้า ได้รับคำตอบจากเธอว่า เธอทราบดีว่าการที่ไม่ได้รับบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เป็นเพราะเธอมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ถึงอย่างไรก็อยากให้ทางศาลปกครองใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วน




“หลังจากที่ฟ้องคดีไปก็คงต้องรอทางศาลปกครอง แต่ว่าในส่วนของความคืบหน้าของเคทเองก็สิ้นสุดไปหลังจากที่ยื่นเรื่องไปที่ศาลปกครองนะคะ ว่าเราจะฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรณีที่ไม่บรรจุจ้างเราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคททราบจากเหตุผลมหาวิทยาลัยที่ตอบมาอย่างเป็นทางการว่า เคทเองมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการใช้สื่อสาธารณะ

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งของทางมหาวิทยาลัยที่แจ้งเรามา เคทก็ไม่ทราบได้ว่าเป็นเหตุผลอะไร ซึ่งอันนี้เคทคิดว่าทางศาลปกครองท่านก็จะใช้การพิจารณา สำหรับในส่วนของการที่มหาวิทยาลัยอาจจะมีการให้ข่าว ส่วนตัวเคทเองก็ไม่ได้รู้สึกอะไรนะคะ ก็เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยต้องตอบคำถามกับสังคมด้วย”

แม้ว่าจะยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนเอง แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งข้อสงสัยที่ยังแคลงใจอยู่ไม่น้อยว่าเหตุใดทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงได้ใช้ระยะเวลายาวนานถึง 120 กว่าวัน ในการพิจารณาว่าเธอสมควรได้รับเลือกเป็นอาจารย์ประจำหรือไม่?

“อีกประเด็นหนึ่งที่เคทสนใจคือ มหาวิทยาลัยอาจจะยังไม่มีเกณฑ์ในการรับคนที่เข้ามาเป็นอาจารย์ หมายความว่าไม่มีเกณฑ์เปิดรับสมัคร แล้วหากได้ตามข่าวของเคทก็จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยใช้ระยะเวลาในการจ้างเคท เพื่อที่จะเป็นอาจารย์ของธรรมศาสตร์โดยใช้ระยะเวลายาวนาน

จนเราเองยังตั้งข้อสังเกตว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงใช้เวลายาวนานในการที่จะรับเรา นานประมาณ 120 กว่าวันค่ะ มันมีความผิดปกติในหลายๆ จุดอยู่นะคะ ในส่วนของการพิจารณาการรับแล้วก็รวมไปถึงการพิจารณาการบริหารของมหาวิทยาลัย ในเรื่องของการรับเคทเข้าไป”

เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ขึ้นทำให้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากเธอลาออกจากที่เก่าเพื่อรอตำแหน่งเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย แต่เมื่อไม่ได้จึงอยู่ในภาวะว่างงาน

“เคทรอของธรรมศาสตร์มาปีกว่า ก็ต้องเรียกได้ว่าเป็นการรอตำแหน่งที่เราจะเข้าไปทำงาน การรอของเคทคือเราไม่ได้ทำงานในช่วงเวลานั้นเลย เนื่องจากเราลาออกจากงานเก่า แล้วก็รอที่จะเข้าไปทำงานในที่ใหม่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่าเคทก็อยู่ในภาวะ ที่ ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้มีงานทำนะคะ จริงๆ มันก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมว่าคนที่เป็นสาวประเภท 2 หางานลำบากมากค่ะ

ในด้านอื่นเคทมองในประเด็นเรื่องของเพศศึกษาว่าต้องมีการให้ความสำคัญรายังมองเห็นความคับแคบมากในสังคมไทย แต่ด้วยความโชคดีที่เคทเองก็ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางในเพศในการฟ้องคดีครั้งนี้นะคะ แล้วก็เครือข่ายที่ละเมิดสิทธิทางเพศก็ช่วยกัน รู้สึกมีกำลังใจในการที่จะต่อสู้เรื่องนี้ต่อไปค่ะ”




ต่อข้อซักถามที่ว่า รู้สึกอย่างไรต่อประเด็นดรามาในครั้งนี้ เธอกล่าวว่าอยากให้มองเรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่ไม่ใช่จะตัดสินคนจากภายนอกหรือการเป็นเพศที่สาม แต่อยากให้ดูที่ความสามารถของคนคนนั้นมากกว่า

“รู้สึกสบายใจขึ้นนะคะ เราได้ทำหน้าที่ตรงนี้อย่างดีที่สุดแล้ว คิดว่าทางศาลปกครองก็น่าจะช่วยเราได้ เราก็ให้กระบวนการหลังจากนี้เป็นเรื่องของศาลปกครองที่ท่านจะช่วยพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไปค่ะ เพราะเราพบเห็นประเด็นการเลือกปฏิบัติกับเพศมาหลายรูปแบบมาก ที่คนยังมีอคติอยู่กับเรื่องของเพศค่ะ

นี่อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นตัวอย่างใหม่ๆ ของสังคมไทยที่คนเป็นคนข้ามเพศมาสมัครเข้าไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างที่ทราบกันดีว่างานราชการบางที่เขายังบังคับไม่รับคนข้ามเพศเข้าไปเป็นราชการเนื่องจากว่าดูว่าไม่เหมาะสม ซึ่งจริงๆ แล้วเราดูกันที่ไหนระหว่างความเป็นเพศเหรอ? หรือว่าดูที่ความสามารถของคนนั้น?”

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงข้ามเพศที่ตกอยู่ในประเด็นดังข้างต้นได้กล่าวตัดพ้อถึงเรื่องนี้เพิ่มว่า หากพูดถึงเรื่องทัศนคติของสังคมไทยแล้ว ยังมีภาพด้านลบที่เป็นคนหลากหลายทางเพศอยู่รวมถึงการมองสาวประเภทสองว่า ไม่น่าเชื่อถือหรือว่าเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งมันเป็นการตัดสินแบบเหมารวม

ส่วนการรับคนเข้าเป็นครู อาจารย์ในต่างประเทศ เขาเปิดกว้างมาก และระบบการสื่อสารของต่างประเทศก็มีความแตกต่างในประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้น อันนี้จึงเป็นจุดต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะบอกว่าเป็นพื้นที่เปิดสำหรับคนที่เป็นกะเทย หรือสาวประเภทสองก็ตาม ทว่า ถ้ามองอีกมุมหนึ่งแล้วในเมืองไทยก็ยังไม่มีกฎหมายเรื่องของสิทธิพื้นฐานของคนข้ามเพศและยังไม่มีนโยบายใดๆ ที่จะมาสนับสนุน หรือที่เรียกว่าเป็นกฎหมายได้อย่างชัดเจน

ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วน เฟซบุ๊ก Kath Khangpiboon



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น