xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแพกเกจแสนล้าน “คลัง-กษ.” - ครม.ลุงตู่ไฟเขียวช่วยเกษตกรสู้ภัยแล้งยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
เปิดแพกเกจ “คลัง-เกษตรฯ” หลัง “บิ๊กตู่” ไฟเขียวช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง ปล่อยสินเชื่อยกระดับคุณภาพเกษตรกรตามโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท สินเชื่อใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ปี 58/59 วงเงิน 6,000 ล้านบาท สินเชื่อปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง วงเงิน 15,000 ล้านบาท พร้อมอนุมัติงบกลางให้ ก.เกษตรฯ 2.9 พันล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยแล้งระยะที่ 2

วันนี้ (23 ก.พ.) มีรายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบงบกลางเพื่อดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/59 ระยะที่ 2 ครั้งที่ 2 จำนวน 4,937 โครงการ วงเงิน 2,967 ล้านบาท แบ่งแยกเป็นโครงการที่ไม่เกี่ยวกับการปลูกพืชใช้น้ำน้อย 70 จังหวัด มี 4,041 โครงการ เป็นเงิน 2,695 ล้านบาท ส่วนโครงการที่อยู่นอกภาคการเกษตร เช่น กลุ่มอาชีพหัตถกรรม 44 จังหวัด รวม 896 โครงการ งบประมาณ 271 ล้านบาท รวม 2,967 ล้านบาท ของบกลาง เพิ่มเติมจากที่ ครม.อนุมัติงบงบกลางเพื่อช่วยเหลือแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรฯ ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. จำนวน 3,135 โครงการ เป็นเงิน 1,814 ล้านบาท โดยโครงการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปตามความต้องการของชุมชนและสร้างความเข้มแข็งระดับฐานราก

ทั้งนี้ เมื่อ 6 ตุลาคม 2558 มีมติเห็นชอบ 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยแล้งปี 58/59 แต่มาตรการที่ 4 คือมาตรการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชน ซึ่งกำหนดเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2558 และระยะที่ 2 คือ โครงการกิจกรรมด้านการเกษตรอื่นๆและอาชีพนอกภาคการเกษตร รวมถึงงานหัตถกรรม การจ้างงาน

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีและเกษตรกร ได้แก่ มาตรการสินเชื่อเพื่อยกระดับคุณภาพเกษตรกรตามโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ตั้งแต่ปีที่ 1-7 ส่วนปีที่ 8-10 คิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติ ก่อนหน้านี้รัฐช่วยเอสเอ็มอีด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมไปแล้ว คราวนี้จะมาช่วยด้านเกษตรกรรมให้ยกระดับเป็นผู้ผลิตและผู้ค้าต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า” นายอภิศักดิ์กล่าวภายหลังการประชุม ครม.

มาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคการเกษตร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายคน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือบริษัทชุมชน จำนวน 7,200 ราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน (ประมาณการจ้างงานได้ 5-30 คนต่อกิจการ)

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติมาตรการเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ประสบภัยแล้งวงเงิน 6 พันล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ให้รายละ 1.2 หมื่นบาท จำนวน 5 แสนราย ระยะเวลาเงินกู้ 12 เดือน ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก(รัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 500ล้านบาท) ส่วนอีก 6 เดือนหลังจะคิดดอกเบี้ยอัตรา 4% สำหรับเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส.ที่ปัจจุบันมีวงเงินกู้ต่อรายรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีอยู่จำนวน 500,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้หรือผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้มีรายได้ลดลงกว่า 50% จากรายได้ปกติ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมทั้งก่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและช่วยป้องกันการก่อหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร โดยจะได้มีเงินที่จะนำไปใช้เตรียมการเพาะปลูกหรือปรับปรุงเครื่องมือเกษตร โดยไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ

รมว.คลัง กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการต่อมาเป็นการให้สินเชื่อกับเกษตรกรที่รวมตัวเป็นกลุ่มให้ปรับเปลี่ยนพืชเพาะปลูก วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจและตั้งใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างแท้จริงและผ่านการคัดเลือกจากชุมชน (ชุมชน ได้แก่ กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส. กลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด) ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานให้กับเกษตรกร โดยกำหนดวงเงินกู้กลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน โดยเราจะใช้วิกฤตจากภัยแล้งเป็นโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่น

พร้อมกันนั้นยังมีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาทให้แก่เอสเอ็มอีรายละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยรัฐจะอุดหนุนค่าค้ำประกันในปีแรก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs และช่วยลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบของผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs แต่ครั้งนี้ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมคือต้องเป็นผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะรับค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาการค้ำประกัน 10 ปี จ่ายค่าประกันชดเชยสูงสุดไม่เกิน 20% บวกกับค่าธรรมเนียมที่ได้รับ และรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถรับคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 ซึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อดังที่กล่าวข้างต้น จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs ไทย รวมทั้งยังก่อให้เกิดเม็ดเงินมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปและยังจะมีมาตรการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีจัดทำบัญชีเดียวสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจ้างนักศึกษาด้านบัญชีและพาณิชย์เข้ามาดำเนินการมาหักภาษีได้ทั้ง 100% ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งเอสเอ็มอีและเป็นการสร้างรายได้/ประสบการณ์ให้กับนักศึกษาด้วย

มีรายงานว่า สำหรับรายละเอียดที่ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร ที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วนที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ รายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสภาวะสังคม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตรของประเทศและจะเป็นการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและภัยธรรมชาติอื่นๆ ในระยะกลาง โดยมีรายละเอียดโครงการ ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558/2559 วงเงินรวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อไม่เกิน 12,000 บาทต่อราย กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0 ต่อปี ในระยะเวลา 6 เดือนแรก และตั้งแต่เดือนที่ 7-12 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สำหรับเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส. ที่ปัจจุบันมีวงเงินกู้ต่อรายรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีอยู่จำนวน 500,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้หรือผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้มีรายได้ลดลงกว่าร้อยละ 50 จากรายได้ปกติ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมทั้งก่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและช่วยป้องกันการก่อหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร

2. โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 72,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคการเกษตร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายคน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือบริษัทชุมชน จำนวน 7,200 ราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน (ประมาณการจ้างงานได้ 5-30 คนต่อกิจการ) โดย ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี และปีที่ 8-10 อัตราดอกเบี้ยปกติตามชั้นลูกค้า วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

3. โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจและตั้งใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างแท้จริงและผ่านการคัดเลือกจากชุมชน (ชุมชน ได้แก่ กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส. กลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด) ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานให้กับเกษตรกร โดยกำหนดวงเงินกู้กลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.ถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ทางกระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดว่า สถานการณ์โดยทั่วไปยังอยู่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนน้ำในภาคการเกษตรได้ให้นโยบายไปว่าในแต่ละพื้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แต่ขณะนี้สถานการณ์ทั่วไปยังไม่รุนแรงมากนัก และในปีนี้ทุกพื้นที่ยังยืนยันว่าดูแลได้

สำหรับกระแสข่าวว่าจะต้องปิดประตูน้ำทั้ง 64 ประตูเพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน พล.อ.อนุพงษ์เผยว่า ยังไม่ได้รับรายงานดังกล่าว เป็นเรื่องของกรมชลประทาน ซึ่งการเปิด-ปิดประตูน้ำเป็นมาตรการบริหารจัดการของกรมชลประทานที่จะต้องใช้น้ำที่มีอยู่ในเขื่อนให้อยู่ให้ได้จนถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2560

มีรายงานว่า มติ ครม.ในส่วนของการแก้ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558/2559 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญมีปริมาตรต่ำอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาความเป็นอยู่ รายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสภาวะสังคม ในการนี้กระทรวงการคลังจึงได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วนและระยะกลาง


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง (ขวา) ร่วมแถลงข่าว
ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น