xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอยุธยาฟ้องศาลปกครอบี้รัฐ สั่ง 51 โรงงาน 26 ท่าเรือริมป่าสักแก้ปมขนถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำชาวนครหลวง กรุงเก่า ฟ้อง 14 หน่วยงานรัฐ ขอศาลสั่งควบคุม 51 โรงงาน 26 ท่าเรือริมน้ำป่าสัก แก้ปัญหาขนถ่านหิน คลังสินค้าเป็นระบบปิด รื้อถอนส่วนล้ำแม่น้ำ ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (23 ก.พ.) ที่ศาลปกครองกลาง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา พร้อมด้วยชาวบ้านในอำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 81 คน ได้เข้ายื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ 14 หน่วยงาน เช่น อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานของรัฐ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานเหล่านี้สั่งการควบคุมให้ผู้ประกอบการโรงงาน 51 บริษัท และท่าเรือ 26 แห่ง ริมแม่น้ำป่าสัก ในพื้นที่ อ.นครหลวง แก้ไขปัญหาการประกอบกิจการ ทั้งการขนถ่านหิน คลังสินค้า เป็นระบบปิดทั้งหมด ไม่ปล่อยฝุ่นละออง น้ำเสีย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม รื้อถอนท่าเทียบเรือในส่วนที่ล่วงล้ำลำน้ำป่าสักออกทั้งหมด และท่าเรือที่รับหรือทำการขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกที่มีนำหนักหรือระวางเกิน 500 ตันกรอส ให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตท่าเรือที่ฝ่าฝืน พร้อมเอาผิดกับผู้ประกอบการเรือบาสที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นชาวบ้านในตำบลคลองสะแก ต.ปากจั่น ต.บ่อโพง ต.บ้านเกาะ ต.แม่ลา ต.นครหลวง ต.บางพระครู อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของโรงงาน ท่าเรือขนถ่าย สินค้า ริมแม่น้ำป่าสัก ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการขนถ่ายถ่านหิน แป้งมันสำปะหลัง ปูนซีเมนต์ ปุ๋ยเคมี พืชผลการเกษตร มากว่า 10 ปี โดยกิจการของสถานประกอบการดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน ทั้งฝุ่นละออง น้ำเสีย เสียงดัง มลพิษต่างๆ การขนส่งทางน้ำโดยเรือบาส ก่อให้เกิดการกีดขวางทางสัญจรทางน้ำของชาวบ้าน ทำให้เกิดบ้านเรือน พื้นที่ดินริมตลิ่งของชาวบ้านทรุดเสียหาย ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยในการแก้ไขปัญหา ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ประกอบกิจการ ที่ผ่านมาแม้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา และมีการกำหนดให้ผู้ประกอบการกิจการต้องดำเนินการแก้ปัญหา จำนวน 20 ประเด็น รวมถึงชาวบ้านได้ฟ้องร้องไปที่หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน เช่น สภาผู้แทนราษฎร, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ให้แก้ปัญหา แต่การแก้ไขปัญหาก็ไม่มีความคืบหน้า จึงจำเป็นต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง






กำลังโหลดความคิดเห็น