กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าให้ผู้ประกอบการตระหนักความรับผิดชอบต่อสังคม ล่าสุดเตรียมออกประกาศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน พ.ศ. 2559 ภายในเดือนมกราคมนี้ โดยเล็งเป้ายกระดับเป็นโรงงานมีมาตรฐานสากล และผู้นำในประชาคมอาเซียน
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า เพื่อให้ยุทธศาสตร์ตามที่ก.อุตฯ กำหนดไว้เป็นรูปธรรมพร้อมสามารถปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น จึงมีการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน โดย นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกำหนดออกประกาศนี้ภายในเดือนมกราคม 2559 ซึ่งถือว่าเป็นการขอความร่วมมือจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยที่ก.อุตฯ จะให้การส่งเสริม
สำหรับหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน ได้กำหนดไว้ดังนี้
“โรงงาน” หมายความว่า โรงงานจำพวกที่ 3 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
“ผู้ประกอบกิจการโรงงาน” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
“บุคลากรเฉพาะ” หมายความว่า บุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน
“การอบรมและทดสอบ” หมายความว่า การอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่กรมโรงงาน อุตสาหกรรมกำหนด
“ใบรับรอง” หมายความว่า ใบรับรองผ่านการทดสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากร เฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน
“ขึ้นทะเบียน” หมายความว่า การขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบ ต่อสังคมประจำโรงงาน
ทั้งนี้ ด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ซึ่งหลักการดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการสนับสนุนและสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อให้การดำเนินกิจการโรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้มีความรู้ความสามารถเพื่อการยกระดับให้ผู้ประกอบการโรงงานมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของการแข่งขันในตลาดสากล และเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน
รายงานข่าวระบุถึงการสนับสนุนให้มีบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงานจะต้องมีการขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะ ตามลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1) โรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการ หรือ กิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2) โรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3) โรงงานที่เข้าข่ายต้องทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการการป้องกันและแก้ไข ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 29 กันยายน 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4) โรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5) โรงงานอื่นๆ นอกเหนือจาก 1) ถึง 4) ที่มีความประสงค์มีบุคลากรเฉพาะ
ด้านหลักเกณฑ์วิธีการแจ้งมีบุคลากรเฉพาะ การอบรมและทดสอบเป็นบุคลากรเฉพาะ ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น สามารถจัดให้มีบุคลากรเฉพาะ โดยส่งรายชื่อพนักงานเพื่อเข้ารับการอบรม และทดสอบ พร้อมเอกสารหลักฐานตามแบบ บฉ.ส1 ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดฝึกอบรมและทดสอบให้แก่พนักงานของโรงงาน หรืออาจจะมอบหมายให้องค์กรหรือหน่วยงานอื่นจัดอบรมและทดสอบแทนตามที่เห็นสมควร และกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ออกใบรับรองให้กับผู้ที่ผ่านการทดสอบ
โดยบุคลากรเฉพาะดังกล่าวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) บุคลากรเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน 2) บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับทั่วไป และ 3) บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับอาวุโส
บทบาทหน้าที่บุคลากรเฉพาะด้านซีเอสอาร์ประจำโรงงาน
1.บุคลากรเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เป็นผู้จัดทำแผนงานด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนประจำปี ปฏิบัติงานด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนประจำปีตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย จัดทำรายงานด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนประจำปี และให้ข้อมูลต่อผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรม กรณีที่เกิดข้อร้องเรียนจากชุมชน และร่วมตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย โดยบุคลากรเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบได้ไม่เกิน 1 โรงงาน
2. บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับทั่วไป เป็นผู้จัดทำแผนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำปี ปฏิบัติงานให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม หรือ ตามหลักเกณฑ์สากลโดยความเห็นชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำรายงานตามมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม รวมถึงให้ข้อมูลต่อผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรม กรณีที่เกิดข้อร้องเรียนจากชุมชน และร่วมตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่บุคลากรเฉพาะด้านการบริหาร ความรับผิดชอบต่อสังคมระดับทั่วไป โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบได้ไม่เกิน 1 โรงงาน
3.บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับอาวุโส ทำหน้าที่จัดทำแผนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำปี ปฏิบัติงานให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามประกาศ กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม หรือตามหลักเกณฑ์สากลโดยความเห็นชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำรายงานตามมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโรงงาน อุตสาหกรรมต่อสังคม ให้ข้อมูลต่อผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรม กรณีที่เกิดข้อร้องเรียน จากชุมชน และร่วมตรวจสอบ หรือแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับอาวุโส ให้มีหน้าที่ รับผิดชอบ ได้มากกว่า 1 โรงงาน แต่ไม่เกิน 5 โรงงาน โดยจะต้องได้รับความยินยอม หรือกระทำการที่ไม่ส่งผลเสียหายกับโรงงานที่บุคลากรเฉพาะปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่