xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” ขวาง คกก.ยุทธศาสตร์ จับตาใช้องค์กรอิสระสืบทอดอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุเทน ชาติภิญโญ (แฟ้มภาพ
หัวหน้าพรรคคนไทย ค้านคณะกรรมการยุทธศานตร์ ชี้ฉุดประเทศล้าหลัง เปิดช่องขัดขวางรัฐบาลเลือกตั้งได้ทุกเมื่อ แนะจับตาใช้องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจ

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยุทธศาสตร์ชาติ และอยู่ระหว่างกระบวนการส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเพียงอีกความพยายามซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเหนือกว่ารัฐบาลเลือกตั้งซึ่งมาจากประชาชนโดยตรง อีกทั้งการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นการคิดเองเออเองของคนไม่กี่คน จะเชื่อได้อย่างไรว่าแผนต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือดีที่สุดสำหรับประเทศชาติและประชาชน ในขณะที่โลกก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แผนยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ยาวนานถึง 20 ปี ก็จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน การดำเนินนโยบายของภาครัฐหรือการแก้ไขปัญหาของชาติก็จะไม่ทันต่อสถานการณ์ ที่ผ่านมาเรามีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ปี 2504 แต่ละฉบับมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามแผน ทั้งเหตุจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงไปของโลก

หัวหน้าพรรคคนไทยกล่าวว่า เมื่อฝ่ายบริหารต้องคำนึง และพะวงถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่สามารถขัดขวางได้แทบทุกเรื่อง เพียงแค่ใช้ดุลพินิจ เมื่อคิดหรือเห็นว่าเรื่องนั้นๆ หลุดออกนอกกรอบก็ท้วงติงได้ทันที หรือหนักกว่านั้นเมื่อมีการกล่าวหาว่าส่อไปในทางทุจริตก็ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้อีกด้วย ประกอบกับการให้อำนาจครอบจักรวาลแก่ศาลรัฐธรรมนูญในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งไร้ความหมาย จะกระทำในสิ่งที่แตกต่างหรือที่เห็นว่าเหมาะสมไม่ได้แม้แต่น้อย เพราะถูกครอบงำควบคุมโดยองค์กรที่มาจากไหนก็ไม่รู้ เท่ากับว่าคนไม่กี่คนมีอำนาจเหนือเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ร่างกฎหมายนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามามีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร โดยใช้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เป็นกลไกสำคัญในการใช้อำนาจเหนือรัฐบาลและสภาที่มาจากเลือกตั้ง

“การให้อำนาจแก่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผูกโยงกับ ป.ป.ช. รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต เท่ากับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำอะไรไม่ได้เลย พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันในเรื่องนโยบาย เพราะยังไงก็ต้องมาเป็นลูกไล่ขององค์กรที่มาจากการแต่งตั้งเหล่านี้ สุดท้ายประเทศก็ล้าหลัง ถดถอย หรือดีที่สุดคือย่ำอยู่กับที่”

นายอุเทนกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการกำหนดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 25 คน ให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี เมื่อผ่านไป 4 ปีให้จับสลากออกครึ่งหนึ่ง และสรรหาคนเข้ามาใหม่ ดำรงตำแหน่งไปอีก 8 ปี ก็เท่ากับว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยังคงมีอำนาจผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยาวนานถึง 12 ปี แม้จะจะมีอำนาจไม่เท่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง (คปป.) ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ แต่ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้จะเชื่อได้อย่างไรว่ากรรมการแต่ละคนจะไม่ไขว่คว้าหาอำนาจ หรือแสวงหาผลประโยชน์ ส่วนตัวจึงเชื่อว่าคณะกรรมการนี้จะเป็นอุปสรรคมากกว่าประโยชน์ในการพัฒนาชาติ นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายได้กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี ประธาน สปท. และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบกับบุคคลที่ สนช.สรรหาอีก 22 คน เท่ากับทุกตำแหน่งได้รับการแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งหมด จนมองได้ว่าเป็นการวางเครือข่ายสืบทอดอำนาจของขั้วอำนาจปัจจุบัน

“ทั้งกฎหมายคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาในตอนนี้ ถือว่าผิดหลักการประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ หรือมีการเลือกตั้ง คณะรัฐประหารต้องหมดอำนาจลง แต่นี่กลับพยายามทำทุกวิถีทางที่จะวางตัวบุคคลของตนเองสืบทอดอำนาจ ครอบงำควบคุมรัฐบาลและสภาที่มาจากการเลือกตั้ง” นายอุเทนระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น