xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” พอใจประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ เล็งดีเบตปมผ้าเหลืองไม่ให้ถึงสถาบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” เผยประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษพอใจภาพรวมสะท้อนความร่วมมือแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ถกเศรษฐกิจ ปัญหาอาเซียน ความมั่นคง ย้ำยึดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง-ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไม่สามารถส่งไปตามประเทศที่ต้องการได้ ตอบไม่ได้ประชามติผ่านหรือไม่ ขออย่าขัดแย้ง รับกังวลปมผ้าเหลือง ยันไม่ให้รบกวนเบื้องสูง เล็งให้ดีเบตให้ประชาชนตัดสิน จี้หาทางออกอย่าโยนภาระรัฐ อยากให้ยุติ

วันนี้ (18 ก.พ.) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นรูปแบบเป็นกันเอง และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เชิญมาประชุมเป็นครั้งแรกหลังจากอาเซียนเป็นประชาคม นอกจากสหรัฐฯ แล้วต่อไปจะมีการประชุมอาเซียน-รัสเซีย และอาเซียน-จีน ซึ่งการประชุมครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งมีซีอีโอผู้ประกอบการสหรัฐฯ มาแนะนำถึงเรื่องการพัฒนาประเทศให้เติบโตทางด้านเทคโนโลยี ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการพูดคุยในระหว่างรับประทานอาหารค่ำ ซึ่งได้พูดถึงเรื่องภูมิภาคที่มีการหยิบยกถึงปัญหาของอาเซียนในปัจจุบันมาหารือ เช่น ทะเลจีนใต้บทบาทของสหรัฐฯ ต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค บทบาทของจีนภายใต้กรอบความร่วมมือ EAS ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี สำหรับช่วงที่ 3 เน้นเรื่องความมั่นคงและการรักษาสันติภาพ ซึ่งมีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ ความท้าทายข้ามชาติ ด้านสาธารณสุข การค้ามนุษย์ ประเด็นทางทะเลการก่อการร้าย ซึ่งทั้ง 3 การประชุมได้กล่าวในนามประเทศและอาเซียนว่าจะร่วมมือกันโดยมีสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ต้องสนับสนุนอาเซียนให้ความเข้มแข็ง พร้อมเสนอว่าการจะทำอะไรก็ตามให้คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละประเทศด้วย แต่ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าการเกษตรจึงได้เสนอดูแลราคาสินค้าและพืชผลทางการเกษตรด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของการเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านที่จะมีการจัดตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหลายอย่างที่ได้พูดในที่ประชุมก็ตรงกับสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการ สำหรับมิติความมั่นคงต่างเห็นตรงกันว่าจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพราะปัญหาต่างๆ จะเชื่อมโยงถึงกัน เช่น ปัญหาก่อการร้าย ปัญหาความปลอดภัยในการเดินเรือทะเล ซึ่งเราจะต้องแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ใช้การเจรจาเป็นหลัก บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและความร่วมมือด้านต่างๆ กับประเทศมหาอำนาจ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้เสนอในที่ประชุมเกี่ยวกับประเด็นการก่อการร้ายต้องคำนึงถึงต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ต้องร่วมกันป้องกัน ซึ่งในฐานะที่เป็นประเทศกลางทางจะกำชับเรื่องเส้นทางข้ามแดน ทั้งนี้ การเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้มีผู้เข้า-ออกมากขึ้น จึงต้องมีวิธีป้องกัน เช่น การอนุมัติงบประมาณซื้อเครื่องตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก และเป็นการเพิ่มมาตรฐาน ส่วนการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไทยได้เร่งรัดปราบปรามเรื่องหนังสือเดินทางปลอม และแก้ปัญหาการใช้ไทยเป็นพื้นที่พักคอยของขบวนการค้ามนุษย์ เมื่อถามถึงเรื่องการที่เราเป็นประเทศกลางทาง น่าจะเข้าใจมากขึ้น ผู้มาทำผิดประเทศไทยต้องยึดกฎหมายไทยรวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศหากในกรณีนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกัน แต่ที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากกฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศไม่สอดคล้องกัน ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนผู้นำประเทศต่างๆ เข้าไทยหรือไม่นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าในเรื่องดังกล่าวต้องดำเนินการตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อพิสูจน์สัญชาติแล้ว หากไม่สามารถส่งไปตามความต้องการได้

“ที่ผ่านมาที่จับกุมได้ก็มีหลายกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีความผิดและเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมือง และส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่มีหมายเรียกหรือหมายจับ และพิสูจน์สัญชาติแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกดำเนินคดีต้องการให้ส่งไปประเทศที่ตัวเองต้องการนั้น นายกฯ กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมเป็นประเทศกลางทางที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มค้ามนุษย์ขบวนการอพยพโดยไม่ปกติ ซึ่งต้องให้รอบคอบไม่ใช่มนุษย์สิทธิมนุษยชน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังบอกไม่ได้ว่าการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน และไม่ต้องการดำเนินการอะไรเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่ต้องการทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ และขอให้คนไทยอย่าขัดแย้งกัน

พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์โดยยอมรับว่ามีความกังวลกรณีเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีจัดประชุมที่พุทธมณฑล เนื่องจากเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะตัดสินหรือใช้การบังคับไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความศรัทธา และการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชถือเป็นพระราชอำนาจ ไม่อยากให้เป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ทั้งนี้ เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยจะเชิญผู้ที่เห็นต่างมาพูดคุยแบบโต้วาที (ดีเบต) ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ หากทุกคนหวังดีและต้องการให้ศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติเป็นที่เคารพนับถือ โดยต้องหาทางออกตามแนวทางพระธรรมวินัยให้ได้ข้อยุติ เพราะหากส่งเรื่องมายังรัฐบาลก็ต้องดำเนินการขั้นตอนของกฎหมาย และขอให้ทุกฝ่ายอย่าเพิ่งเคลื่อนไหว

“อีกเรื่องที่กังวลคือเรื่องพระยังไม่ตัดสินอะไรให้ใครไม่ได้ เพราะตราบใดก็ตามถ้ามีความขัดแย้งแบบนี้ก็เป็นปัญหา ถ้าเรื่องกฎวินัยสงฆ์ยังไม่เพียงพอก็ต้องไปว่ากันในข้อกฎหมาย ถ้าทุกคนหวังดีจริงๆ ต้องการให้ศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาติเรา ให้เป็นที่เคารพนับถือก็ต้องไปหาทางแก้ปัญหากันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นมหาเถรสมาคม (มส.) รัฐบาล กลุ่มผู้เห็นต่างอย่างไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดต้องไปหาทางออกให้ได้ คือไม่อย่างนั้นก็จะโยนภาระขึ้นมาและรัฐบาลก็ต้องเสนอไปตามกฎหมาย ผมเคยเรียนแล้วว่าถ้ามีผลกระทบไปถึงสถาบันผมต้องเคลียร์ให้จบก่อน เพราะว่าจะต้องเป็นพระราชอำนาจพระราชทานแต่งตั้งอะไรก็แล้วแต่ ต้องอย่าให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นไปถึงพระองค์ท่านเลย พระองค์ท่านก็ทรงประชวรในขณะนี้ ผมรับไว้เองก็แล้วกัน นี่ผมกลับไปผมสั่งการไว้แล้ว หาทางเอาพระสองฝ่ายมาดีเบตกัน ในเมื่อเป็นพระแล้วแก้กันไม่ได้ ก็เอาสองฝั่งมาดีเบตให้ประชาชนฟังดูซิว่าเหตุผลเป็นอย่างไร เรื่องอะไรที่รัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะตอบ ขอความร่วมมือกับท่านด้วยแล้วกัน กับบรรดาพระสงฆ์ ผมนับถือนะ พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมเป็นชาวพุทธไง ไม่อยากให้ศาสนาเสื่อมถอย และการบังคับมากๆ ก็เป็นปัญหาเรามันเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน พูดจริงก็คือไม่ว่าใครจะมากจะน้อยแต่ก็คือพระ ส่วนหนึ่งฆราวาส ฆราวาสมีเยอะกว่านะ แต่ละฝ่ายเป็นล้านๆ เพราะฉะนั้นคิดว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่จะเกิดต่อไป ผมอยากให้ยุติวันนี้ให้ได้ ถ้าคุยในทางสงฆ์ไม่ได้ต้องไปคุยในข้อกฎหมาย กลับไปจะรีบดำเนินการทันทีขออย่าเคลื่อนไหวมาเลย ไม่อยากไปใช้อำนาจอะไรกับพระ แม้กระทั่งกับฆราวาส แล้วศาสนาพุทธก็จะถูกทำลายด้วยพวกเรากันเองนี่แหละ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น