xs
xsm
sm
md
lg

กระแส “สั่งปิด” และการทำความผิดบน Facebook

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

แตกตื่นกันไปตามๆ กัน เมื่อมีการ “ตีปี๊บ” กันยกใหญ่ ว่าทางการไทยจะทำการปิด Facebook เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ภายในเวลา 10 โมงเช้า ซึ่งตอนนี้เราก็คงรู้กันแล้วว่าในที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

กระแสข่าวนี้ถูก “ตี” ขึ้นมาจากฝ่ายสื่อโซเชียลและผู้คนที่ต่อต้านรัฐบาล เพื่อสร้างความรู้สึกและบรรยากาศให้ผู้คนเห็นว่า เรากำลังจะเข้าไปอยู่ในรัฐเผด็จการเหมือนหลายๆ ประเทศ ที่แบนประชาชนของเขาไม่ให้เข้าสู่ระบบ Facebook

ทั้งๆ ที่เมื่อย้อนติดตามข่าวกันจริงๆ แล้ว ไม่มีแหล่งข่าวไหนยืนยันเลยว่า รัฐบาลขู่จะปิด Facebook ในเส้นตายดังกล่าว

ข้อเท็จจริงคือ กสทช. โดย เลขาธิการคือ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ออกมาให้ข่าวหลังการประชุมร่วมกับสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย หรือ ISP กระทรวงดิจิตอลเพื่อการพัฒนา (DE) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ทางสำนักงาน กสทช.ได้รับแจ้งจากทาง Facebook ว่าได้ปิดกั้น URL ที่ศาลมีคำสั่งไปแล้ว 178 URL จากจำนวนทั้งสิ้น 309 URL ส่วนที่เหลืออีก 131 URL นั้น จะให้โอกาสดำเนินการปิดให้แล้วเสร็จภายใน 16 พฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เป็นการขู่ว่าจะ “ดำเนินการทางกฎหมาย” กับทาง Facebook ที่มีตัวแทนในประเทศไทย แต่ไม่ได้บอกว่า การดำเนินการทางกฎหมายนั้นจะหมายถึงการ “ปิด” หรือสกัดการเข้าถึง Facebook ในประเทศไทยแต่อย่างใด

กระแสว่ารัฐบาล “เผด็จการ” สั่งปิด Facebook นั้นก็ถูกสร้างถูกส่งมาจากฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเมื่อในที่สุด ผ่านพ้นกำหนดเส้นตายมาแล้ว Facebook ยังไม่ถูกปิด ไปตามข่าวปล่อย บรรดาขาประจำซึ่งได้ทีก็ออกมาโห่ฮาว่า ทาง Facebook “ไม่ให้ราคา” กับคำขอของทางการไทย และรัฐบาลไทยก็ไม่กล้าทำอะไร ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อมูลมาเป็นทอด ตั้งแต่เรื่องที่ว่าจะมีการปิด Facebook แล้ว

เนื่องจากในทางความเป็นจริง ในยุคสมัยที่ธุรกิจธุรกรรม การทำการทำงาน ช่องทางการตลาด ตลอดจนความสัมพันธ์ของผู้คนนั้นไปอยู่ในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะ Facebook อันเป็นเครือข่ายที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลกนั้น การที่อยู่ๆอำนาจรัฐจะเข้ามา “ปิด” ช่องทางที่เป็นทางหลักของผู้คนเกือบทั้งประเทศนั้น เป็นไปไม่ได้โดยแน่แท้

ขืนทำกันขึ้นมาจริงๆ รอบนี้พังแน่ๆ ต่อให้มีอำนาจมากขนาดไหนก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำได้บ้าง คือการปิดกั้นบางส่วน เฉพาะข้อมูลหรือรายการที่ผิดกฎหมายไทยชัดแจ้ง

ซึ่งก็ปรากฏว่า Facebook ได้ให้ความร่วมมือกับทางการไทยตามสมควร โดยใช้วิธีการ “สกัดกั้นการเข้าถึง” บาง URL จาก IP Address ที่ออกมาจากประเทศไทย โดยเทคนิคที่เรียกว่าการ Geo-Blocking ซึ่งส่วนใหญ่ Facebook ก็ยอมทำให้ตามคำขอของรัฐบาลหลายประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่การร้องขอเพื่อให้ทำการปิดกั้นการเข้าถึงนั้น จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและกระบวนยุติธรรมของประเทศนั้นๆเสียก่อน

อย่างเช่นกรณีของไทย เมื่อได้รับคำสั่งจากศาลส่งไป Facebook จะดำเนินการปิดกั้น URL ที่ได้รับการร้องขอมา จากการเข้าถึงโดยผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยทันที และแจ้งไปยังเจ้าของโพสต์ที่จะถูกปิดกั้นนั้นด้วย

ดังนั้น การจะบอกว่า Facebook “เมิน” รัฐบาลหรือทางการไทยนั้นก็คงไม่จริง

ส่วนการปิดกั้นระดับปิดการเข้าถึงหมดทั้งบัญชีของผู้ใช้บางคนนั้น เข้าใจว่าในทางปฏิบัติของ Facebook นั้นจะทำไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ยังไม่มีการทำเช่นนั้นในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ออกประกาศเรื่อง การงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต โดยขอให้ประชาชนโดยทั่วไปงดการติดตาม ติดต่อเผยแพร่ หรือการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลของบุคคลต้องห้าม 3 คนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อไม่ให้เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ. ศ. 2550 ทั้งเจตนาและไม่เจตนา

บุคคลทั้ง 3 คือ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และนายแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล

ประกาศดังกล่าวมีสถานะใดในทางกฎหมายนั้นก็ยังไม่ชัดเจนนัก ว่าจะมีสภาพบังคับอย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม การ “แชร์” ข้อมูลจากบุคคลทั้ง 3 นั้น หากเป็นข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ก็ถือว่าผู้แชร์ข้อมูลนั้นเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายไปด้วย ในฐานะของการเผยแพร่หรือทำซ้ำ

โดยก่อนหน้านี้ ก็มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะ “แชร์ข้อความ” จากเพจของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯ มาแล้วหลายคน ซึ่งเป็นข่าวที่รู้กันอยู่ในวงการของผู้ติดตาม

หรือคดีที่ดังหน่อยก็เช่นการดำเนินคดีกับ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งแชร์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หมิ่นเหม่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเพจของ BBC ไปเช่นกัน

ดังนั้น ตามแนวทางการดำเนินคดีของทางการไทย การ “แชร์” ข้อความที่ผิดกฎหมายหรือสุ่มเสี่ยงนั้นอาจถูกดำเนินคดีได้แต่การ “กดไลค์” หรือการติดตามแอบเข้าไปดูเฉยๆ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีผลอย่างไรตามกฎหมาย

การ “กดไลค์” นั้นจะเป็นความผิดไปด้วยหรือไม่บรรดานักกฎหมายก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ที่ผ่านมามีกรณีที่กดไลค์ข้อความหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ก็ถูกหมายเรียกตำรวจไปเป็นพยาน โดยตำรวจตีความว่าการกดไลค์นั้น “ถือเป็นการรับรองว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือมากขึ้น” ซึ่งก็น่าคิดว่า ถ้าตีความอย่างตำรวจแล้ว การไป “รับรองว่าข้อมูล (ที่ผิดกฎหมาย หรือโดยเฉพาะเป็นข้อความหมิ่นตามมาตรา 112) นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จะถูกตีความได้หรือไม่ว่า เท่ากับเป็นการ “สนับสนุน” การกระทำความผิดดังกล่าว

เรื่องนี้จะต้องรอแนวบรรทัดฐานจากศาล แต่นั่นก็หมายความว่า การจะมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน (ไม่ว่าจะออกมาว่าผิดหรือไม่ผิด) ก็แปลว่าผู้ที่ “กดไลค์” นั้น จะต้องตกเป็นผู้ต้องหา และถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว

โดยเฉพาะในคดีละเอียดอ่อนอย่างเช่นความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งศาลในช่วงหลังๆ มีแนวไปในทางไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาด้วย

เท่ากับว่าผู้ที่กดไลค์นั้นอาจจะต้องไป “รอบรรทัดฐาน” กันในเรือนจำจนกว่าจะมีการตัดสินคดีซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากที่จะเป็น “หนูลองแนว” ในเรื่องนี้แน่ๆ

ส่วนการเข้าไปติดตามหรือแอบส่องเฉยๆ นั้น ในทางกฎหมายไม่น่าจะผิด เพราะถือไม่ได้ว่ามีการกระทำ ไม่มีการส่งต่อ เผยแพร่ หรือแม้แต่แสดงออกว่าข้อความนั้นถูกต้องหรือชอบใจข้อความดังกล่าว

แต่ก็ต้องระวังนิดหนึ่งในกรณี “นิ้วลั่น” ที่อันนี้หลายคนคงมีประสบการณ์กดไลค์หรือกดแชร์ข้อความที่ตัวเองไม่มีเจตนาจะไลค์จะแชร์ แต่นิ้วเผลอไปกดเข้า ล็อกอินค้างไว้แล้วมีคนมาใช้ต่อ หรือเป็นไปได้ว่าใส่โทรศัพท์ที่ไม่ได้ปิดหน้าจอลงไปในกระเป๋า แล้วมีอะไรไปถูกระบบทัชสกรีนเข้า

อันนี้หลายคนคงมีประสบการณ์โทรศัพท์โทรออกเอง หรือโพสต์ข้อความไม่เป็นภาษาลงในโซเชี่ยลเน็ทเวิร์คกันบ้างเหมือนกัน

“นิ่วลั่น” ไปกดไลค์ก็เสี่ยงแล้ว แต่ “นิ้วลั่น” ไปกดแชร์ด้วยนี่ อาจจะต้องไปพิสูจน์ “เจตนา” กันตามกระบวนการทางอาญาที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

ดังนั้น การติดตามบุคคลทั้ง 3 นั้น อาจจะยังเป็น “เสรีภาพ” ที่มีอยู่บ้าง

แต่ก็อาจจะถือได้ว่า เป็นเสรีภาพที่ออกจะเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางอยู่พอสมควร ในช่วงเวลาและบรรยากาศของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดภายใต้บรรทัดฐานที่ยังไม่แน่นอนเช่นขณะนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น