xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คลื่นใต้น้ำ "5เสือกกต." งัดข้อทวง "สัญญาใจ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องรอดูเอกภาพภายใน 5 เสือกกต.กันให้ดี เพราะมีแนวโน้มเกิดคลื่นใต้น้ำกับการชิงเก้าอี้ประธานกกต. เพราะการที่มีข่าวเล็ดลอดออกมาถึงสื่อมวลชนว่า มี 3 กกต.ไปเร่งรัด พูดในที่ประชุมกกต. ให้ศุภชัย สมเจริญ ลาออกจากตำแหน่งประธานกกต.

โดยอ้างเรื่องสัญญาใจกันนั่น เป็นเรื่องไม่ธรรมดา การที่ข่าวหลุดออกมาแสดงว่า กกต.อย่างน้อยก็ต้องคนใดคนหนึ่ง หรือคนในฝ่ายกกต.บางคน คงไม่พอใจที่ไม่เห็นความชัดเจนจากศุภชัย ว่ายอมทำตามข้อตกลงที่เคยให้กันไว้ตอนประชุมกกต.นัดแรก หลังได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2556 สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการประชุมกันภายในเพื่อลงมติเลือกประธานกกต. และแบ่งหน้าที่กันโดยการประชุมดังกล่าว

เดิมทีมีข่าวว่า ศุภชัย ตอนแรกจะชิงกับ บุญส่ง น้อยโภภณ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยกันแต่สุดท้าย ก็ไม่มีการแข่งขัน พอมีการเสนอชื่อศุภชัย อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ที่เป็นอดีตกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต. ก่อนลาออกมารับตำแหน่งกกต. ที่ประชุมก็เห็นชอบด้วยเสียงเอกฉันฑ์ ที่ก็อาจเป็นไปได้ว่า มีการตกลงอะไรเป็นการภายในกันมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ก่อนที่กกต.ทั้งหมดจะเริ่มต้นทำงานร่วมกัน

พอได้ตัวตัวประธานกกต.แล้ว ศุภชัย ก็บอกว่า จะขอเป็นประธานกกต.แค่สองปี จากนั้นก็จะลาออกจากประธาน แต่ไม่ลาออกจาก กกต.เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกประธานกกต.คนใหม่ แต่มาถึงตอนนี้ ปี 59 จะเกือบสามปีแล้ว เมื่อศุภชัย ไม่ชัดเจน ก็เลยทำให้ต้องเกิดคลื่นใต้น้ำเกิดขึ้น มีการเอาข่าวไปบอกสื่อเพื่อกดดันให้ศุภชัย ที่เป็นถึงอดีตตุลาการชั้นผู้ใหญ่ เป็นประธานกกต. ต้องรักษาคำพูดหลังเคยเกิดกรณี แบบศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว

ตอนที่ ชัช ชลวร ชิงเก้าอี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วพอได้ ชัช ก็บอกว่าจะเป็นประธานศาลรธน. แค่2-3 ปี ไม่อยู่จนครบวาระ จากนั้นก็จะลาออกจากประธาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นเป็นแทน แต่ปรากฏว่าถึงตอนครบกำหนด ชัช ไม่ทำตามสัญญา แถมไม่พอช่วงนั้นเกิดปัญหาอดีตหัวหน้าสำนักงานประธานศาลรธน.ไปมีส่วนพัวพันกับนักการเมือง ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เกิดกรณีคลิปคดียุบพรรคเกิดขึ้น ก็มีเสียงเรียกร้องให้ ชัช รับผิดชอบ

แต่ ชัช ก็ไม่ทำอะไร พยายามยื้อ แต่สุดท้ายก็ไม่รอด ต้องยอมลาออกจากประธาน แต่ไม่ยอมลาออกจากตุลาการศาลรธน. จนต่อมา วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ได้รับเลือกเป็นประธานศาลรธน. แล้ว พอครบวาระ 2 ปี วสันต์ ลาออกจากตุลาการศาลรธน. อันทำให้ต้องพ้นจากประธานศาลไปด้วย ทั้งที่เหลือวาระการดำรงตำแหน่งอีกหลายปี โดยไม่เสียดายตำแหน่ง แต่ทำเพื่อรักษาคำพูด แล้วเปิดทางให้ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลคนปัจจุบันได้เป็นประธานศาลรธน.

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ศุภชัย อาจได้อยู่ต่ออีกสักช่วงหนึ่ง หลังวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาบอกว่า หากจะมีการสลับสับเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งใน กกต. เอง โดยไม่มีการสรรหา รับสมัคร หรือคัดเลือก ไม่เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหน้านี้ เพราะไม่ได้เป็นการสรรหาใหม่ แต่เป็นข้อตกลงภายในของแต่ละหน่วยงาน แต่ละองค์กร ไม่ได้ไปผูกมัด หรือเกี่ยวพันกับคนอื่นที่จะรับรู้ด้วย แต่ประเด็น คือ การย้ำว่า การคิดจะทำอะไรในช่วงนี้ ที่จะต้องมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องพิจารณาให้ดีก่อน ว่าจะนำไปสู่การนำความกราบบังคมทูลหรือไม่ เพราะจะเป็นการเพิ่มพระราชภาระ ดังนั้นจะต้องพิจาณาหลายชั้น ต้องดูว่า จำเป็นหรือไม่ ขนาดรัฐบาลจะปรับรมว.ไอซีที หากกฎหมายจัดตั้งกระทรวงดิจิตอล มีผลบังคับใช้ ที่จะต้องมีการทูลเกล้าฯ แต่งตั้งรมว.กระทรวงดิจิตอล มาแทน รมว.ไอซีที รัฐบาลยังต้องคิดว่า เมื่อไรจะถึงเวลาอันสมควร ที่ก็คือการเบรกจากแกนนำรัฐบาล ที่มีหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย และคอยประสานงานกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ออกมาบอกว่า หาก กกต.จะมีการปรับเก้าอี้ประธานกกต. อะไรก็ทำกันไปได้ ไม่ขัดต่อประกาศคสช. ตอนที่ออกมาล้มการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ที่ก็คือ การบอกว่า สมบัติผลัดกันชมในสำนักงานกกต.ต้องรู้จัก จังหวะเวลากันด้วย

ทั้งนี้เหตุหนึ่งที่ กกต.บางส่วนต้องการให้ ศุภชัย ลาออก เพราะ กกต.หลายคนเริ่มไม่แน่ใจในสถานภาพตัวเอง ว่าจะโดน เซตซีโร ต้องพ้นจากตำแหน่งเร็วขึ้นหรือไม่ เนื่องจากในมาตรา มาตรา 273 ของร่างรธน. ฉบับกรธ. เขียนไว้ว่า

“ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ในระหว่างเวลาที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตาม มาตรา 267 การพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ” ขณะที่ในหมวดว่าด้วย กกต.ในร่างรธน. ยังคงให้ กกต.อยู่ในตำแหน่ง 7 ปีเท่าเดิม แต่มีการเพิ่มกกต. จาก 5 คนเป็น 7 คน พูดง่ายก็คือ หากการร่างกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ กรธ.-สนช. จะยกร่างขึ้นมา อันเป็น 1 ใน 4 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรธน. ที่สำคัญ หากเสร็จแล้วก็เลือกตั้งเร็ว ถ้ากรธ.-สนช. มีการไปเขียนไว้ว่า ให้กกต.ชุดปัจจุบัน ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หรือพ้นจากตำแหน่งเร็วขึ้น ไม่ใช่พ้นจากตำแหน่งเพราะอยู่มาครบ 7 ปี หรือครบเพราะอายุครบ 70 ปี เช่น เกิดดันไปเขียนว่า ให้กกต.หรือองค์กรอิสระที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ให้พ้นจากตำแหน่งภายใน 2 ปี หรือ 3 ปี หรือ บอกให้พ้นจากตำแหน่งไปเลย เพื่อไปสรรหาใหม่

แบบนี้ ก็เท่ากับ กกต. และพวกองค์กรอิสระทั้งหลาย แม้แต่ตุลาการศาลรธน. ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย หรือพ้นจากตำแหน่งเร็วขึ้น กว่าที่ควรจะเป็นตามรธน.ปี 50 ตรงนี้แหละที่ทำให้ องค์กรอิสระทั้งหลาย เลยชักหวั่นไหว และเริ่มไม่อยากทำตัวมีปัญหากับกรธ. และสนช. ที่จะเป็นฝ่ายออกกฎหมาย เพราะขืนหากมีปัญหามาก งัดข้อ เรื่องมาก จะโดนหั่นเวลาอยู่ในตำแหน่ง 

จุดนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง ทำให้ มีกกต.บางคน ต้องออกมาบี้ ศุภชัย ให้รีบลาออก เพราะยังไง เกิดมีอะไรขึ้นมา ก็จะได้มีบางคนได้เป็นประธานกกต.ไว้ก่อน กันเหนียว



กำลังโหลดความคิดเห็น