“อุตตม” นั่งหัวโต๊ะประชุมขับเคลื่อนอีอีซีมอบให้ สนข.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหลักการสร้างรถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) แบบไร้รอยต่อให้เสร็จ 1 เดือน ก่อนเสนอที่ประชุมครั้งหน้าและชงนายกฯ เคาะ 16 มิ.ย. พร้อมเร่งพลังงานศึกษาลงลึกจัดหาไฟรับ พร้อมประกาศอีอีซีดีเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เมื่อ 4 พ.ค. 60 ว่า ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบรถไฟทางคู่เชื่อมเข้ากับ 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) อย่างไร้รอยต่อ เพื่อทำให้ระบบการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรองรับการเติบโตการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยขอให้ศึกษาเสร็จภายใน 1 เดือนเพื่อนำเสนอ กรศ.วันที่ 26 พ.ค. พิจารณารายละเอียดก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขต ศก.ภาคตะวันออกที่มีนายกฯ เป็นประธาน 16 มิ.ย.
“ระบบรางเป็นเรื่องใหญ่ นักลงทุนให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ถ้าระบบรถไฟขนคน ขนของไม่มีประสิทธิภาพเพียงพออุตสาหกรรม และเมืองก็เกิดลำบากมาก โครงข่ายพื้นฐานจึงสำคัญและช่วยให้ประสานการรถไฟให้พิจารณาการเชื่อมโยงระบบขนส่งจากอีอีซีไปยังกัมพูชาผ่านทางอรัญประเทศที่ดำเนินการอยู่ให้เร็วขึ้น” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
นอกจากนี้ยังได้พิจารณาเรื่องของพลังงานให้เพียงพอในพื้นที่อีอีซีโดยเฉพาะไฟฟ้าเป็นหลักเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รายงานความคืบหน้าที่จะทำการศึกษาเชิงลึกว่าความต้องการใช้ไฟใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นปริมาณไฟที่ต้องการใช้มากขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์ปี 2579 ซึ่งระยะสั้นเพียงพอแต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจไม่พอจำเป็นต้องศึกษาเชิงลึกหาแนวทางรองรับทั้งปริมาณที่เพียงพอและคุณภาพที่รองรับอุตสาหกรรมที่เป็นอีคอมเมิร์ซปาร์กซึ่งสำคัญไฟต้องนิ่ง
ที่ประชุมยังเห็นชอบประกาศให้จัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิตอล (อีอีซีดี) โดยให้กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพิ่มเติม เพื่อให้มีส่วนในการสร้างประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น และมีมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมกำหนดให้มีแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมและแผนที่แนวเขตที่ชัดเจน แผนการเผยแพร่ผลการศึกษาเพื่อรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพิจารณาในครั้งต่อไป
“ผมยังได้เสนอให้ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปจัดพื้นที่รองรับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) รองรับในพื้นที่อีอีซีด้วยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่น การใช้ห้อง LAB ทดลองงานเบื้องต้น” นายอุตตมกล่าว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ กรศ. กล่าวว่า การชักชวนนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพบว่านักลงทุนสนใจอย่างมากที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานที่นอกเหนือจากแอร์บัส SAAB ล่าสุดยังมีอุตสาหกรรมอากาศยานของประเทศสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน บ.ฟูจิฟิล์มสนใจในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Medical Hub ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีทั้งฮอนด้า โตโยต้า ซูซูกิ เมอร์เซเดสเบนซ์ แล้ว เซี่ยงไฮ้มอเตอร์ก็สนใจเช่นกัน