รัฐบาลดันสะเต็มศึกษา บูรณาการ 4 วิชา พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พร้อมมอบหมาย ศธ.-วท. และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วางแนวจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ปูทางสู่ Tech startup
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ โดยได้บูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (S) เทคโนโลยี (T) วิศวกรรมศาสตร์ (E) และคณิตศาสตร์ (M) รวมเรียกว่า STEM (สะเต็ม) ในการจัดการศึกษา ผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
“ศธ.ได้พัฒนาและสนับสนุนการศึกษาด้านสะเต็ม (STEM) มาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ และศูนย์ในระดับภาคจำนวน 13 ศูนย์ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน สถาบันอุดมศึกษา เพื่อบริหารจัดการบริการวิชาการและติดตามการทำงานของโรงเรียนเครือข่ายซึ่งมีอยู่ 78 โรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา อีกทั้งมีการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพสะเต็ม เช่น แพทย์ เภสัชกร สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ฯลฯ ในฐานะทูตสะเต็มเข้ามาเป็นจิตอาสาให้คำแนะนำ สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ รวมถึงให้คำแนะนำแก่ครูผู้สอนในการสร้างความเชื่อมโยงองค์ความรู้และทักษะการคิดวิเคราะห์ให้แก่นักเรียน”
พล.ต.สรรเสริญยังกล่าวอีกว่า การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มเป็นวิธีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ เพื่อจูงใจให้เรียนสนุก โดยบูรณาการความรู้ 4 วิชาเข้าด้วยกัน เน้นการนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะการพัฒนาผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ (Tech startup)
“ท่านนายกฯ ต้องการให้เด็กและเยาวชนกล้าคิด กล้าแสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ โดยวิธีการเรียนแบบสะเต็มจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น สร้างความท้าทายทางความคิด และปลูกฝังให้เยาวชนรู้สึกรักการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็กโดยได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพิจารณาร่วมกันว่าจะพัฒนาและส่งเสริมสะเต็มศึกษาได้อย่างไรบ้าง เช่น ประยุกต์เข้ากับแนวทางลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จัดกิจกรรมสอดแทรกไปตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในคาบเรียน หรือจัดกิจกรรมในวิชาเลือกเสรี หรือกิจกรรมนอกชั้นเรียน ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการต่อไป”