โครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ได้เชิญบุคลากรด้านการศึกษาที่อยู่ในวัยเกษียณเข้าร่วมเป็น “ครูพี่เลี้ยงวิชาการ” เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทาง แก่ครูวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ผ่านการอบรมวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (inquiry-based learning) จากโครงการฯ
เริ่มจากการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูพี่เลี้ยงวิชาการวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชุดแรกจำนวน 19 คน ที่จังหวัดขอนแก่น มีผู้เชี่ยวชาญจาก Teachers College มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากร เพื่อให้กลวิธีและเทคนิคในการให้คำปรึกษาการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ ตลอดจนร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมอง เพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานของครูพี่เลี้ยงวิชาการ ก่อนที่จะลงไปทำงานร่วมกับครูผู้สอนในโรงเรียนที่ได้รับมอบหมายต่อไป โดยวางแผนจัดการอบรมและเพิ่มจำนวนครูพี่เลี้ยงวิชาการอย่างต่อเนื่อง
หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนได้ร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ในโครงการ ‘Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ เพื่อพัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) ตลอดทั้งระบบ โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนรู้ด้านวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก ด้วยกระบวนการสืบเสาะ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน ทั้งการคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม แก้ไขปัญหา และหาคำตอบได้ด้วยตนเอง มากกว่าการท่องจำเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว อันจะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและสนุกไปกับบทเรียน มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อในสาขาสะเต็มต่อไปในอนาคต”
หทัยรัตน์ กล่าวอีกว่า “ในปีแรกของการดำเนินโครงการ Enjoy Science เราได้จัดการฝึกอบรม แก่บุคลากรทางการศึกษากลุ่มเป้าหมาย ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และครูวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่สมุทรปราการ ขอนแก่น และสงขลา และเพื่อให้การอบรมนั้นสัมฤทธิ์ผล โครงการฯ ยังจัดให้มี ‘ครูพี่เลี้ยงวิชาการ’ ทำหน้าที่เป็น ‘โค้ช’ เพื่อคอยให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกับครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในจังหวัดของตนเองภายหลังการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครูมีความเข้าใจและมั่นใจในการนำวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะไปใช้ในชั้นเรียนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ครูพี่เลี้ยงวิชาการของเรา ประกอบด้วยศึกษานิเทศก์และครูเกษียณอายุราชการ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาอย่างยาวนาน”
ด้าน เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการอาวุโสด้านโครงการและวิชาการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย เปิดเผยว่า “การอบรมในครั้งนี้ เราได้เชิญครูพี่เลี้ยงวิชาการของโครงการ Enjoy Science ให้มาทำความรู้จักกัน ได้เรียนรู้ถึงกลวิธีและแนวทางในการโค้ช ตลอดจนเครื่องมือในการสังเกตชั้นเรียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะให้แก่ครูผู้สอน โดยครูพี่เลี้ยงวิชาการจะให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกับครูเพื่อตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ในชั้นเรียนของตน พร้อมทั้งระบุกลวิธีการสอนที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้น แล้วจึงวางแผนว่าจะนำกลวิธีการสอนนั้นไปใช้ในห้องเรียนได้อย่างไร จากนั้นครูพี่เลี้ยงจะติดตามว่าครูนำกลวิธีการสอนไปใช้ในชั้นเรียนอย่างไร และให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครูสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ตลอดจนเกิดความมั่นใจในการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะในชั้นเรียนของตนอย่างถาวร”
โดยทั่วไปแล้ว หลายๆ คนมองว่าบุคลากรในวัยเกษียณ มักใช้เวลาหลังเกษียณพักผ่อน อยู่กับครอบครัว แต่ยังมีบุคลากรเกษียณอายุหลายท่านที่ยังมีใจต้องการทำงาน อยากใช้ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาเพื่อถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เหมือนคุณครูเกษียนณอายุกลุ่มหนึ่งที่มีใจอาสา มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในฐานะ “พี่เลี้ยง” ให้กับคุณครูรุ่นใหม่ๆ
อาจารย์วรรณา เฟื่องฟู อดีตครูวิทยาศาสตร์ จากจังหวัดภูเก็ต ครูพี่เลี้ยงวิชาการวิชาวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นครูพี่เลี้ยงวิชาวิทยาศาสตร์ของโครงการ Enjoy Science เนื่องจากเห็นด้วยกับแนวทางของโครงการฯ ในการส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนแบบสืบเสาะในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่เด็กส่วนใหญ่มองว่าเข้าใจยาก ทั้งยังเคยชินกับรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูอธิบายและบอกคำตอบให้เสร็จสรรพ โดยการเรียนแบบสืบเสาะจะช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจและสนุกกับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพราะได้ฝึกค้นหาความรู้ด้วยตนเอง อันจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในระยะยาวอย่างแท้จริง นอกจากนั้นการมีครูพี่เลี้ยงวิชาการเพื่อให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จะช่วยให้ครูสามารถนำกลวิธีการสอนแบบสืบเสาะที่ได้รับการอบรมไปปรับใช้กับชั้นเรียนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้แบบสืบเสาะให้ได้มากที่สุด”
ดร.สุคนธ์ แพ่งศรีสาร อดีตศึกษานิเทศก์ จากจังหวัดขอนแก่น ครูพี่เลี้ยงวิชาการวิชาวิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงความรู้สึกที่มีต่อการอบรมในครั้งนี้ว่า “การอบรมในครั้งนี้ เป็นเวทีให้ครูพี่เลี้ยงวิชาการได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกำหนดแนวทางในการให้คำปรึกษาให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน หากไม่มีการอบรมครูพี่เลี้ยงวิชาการแต่ละคนก็จะให้คำแนะนำแก่ครูตามประสบการณ์ของตน นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก Teacher College ยังแนะนำแนวทางและเทคนิคใหม่ๆ ในการโค้ชครู เช่น ให้ครูพี่เลี้ยงวิชาการวางแผนการสอนร่วมกับครูผู้สอน ก่อนที่จะลงไปสังเกตการสอน จากเดิมที่ครูพี่เลี้ยงวิชาการจะเข้าไปสังเกตการสอนของครู และให้คำแนะนำกับครูเลย ซึ่งนับเป็นแนวทางที่น่าสนใจและน่าจะช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้มากขึ้น”
อาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ อดีตศึกษานิเทศก์ จากกรุงเทพมหานคร ครูพี่เลี้ยงวิชาการวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “ครูพี่เลี้ยงวิชาการไม่เพียงต้องมีความรู้แตกฉานและลึกซึ้ง แต่ยังต้องมีมนุษยสัมพันธ์ ให้ความเป็นกันเอง และทำงานร่วมกับครูผู้สอนดั่งกัลยาณมิตร เพื่อให้ครูผู้สอนยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำของครูพี่เลี้ยงวิชาการ ในขณะเดียวกัน ครูผู้สอนซึ่งอาจจะเคยชินกับการสอนแบบอธิบายเนื้อหาตามหนังสือเรียนให้ครบทุกหน้า ก็จะต้องเปิดใจยอมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนเป็นแบบสืบเสาะที่จะช่วยให้เด็กมีความเข้าใจในบทเรียนอย่างแท้จริง สามารถต่อยอดความรู้ที่ได้รับได้ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ที่จะเอื้อให้พวกเขาหาความรู้ต่อยอดต่อไป เมื่อนั้นระบบครูพี่เลี้ยงวิชาการก็จะประสบความสำเร็จ และสามารถช่วยยกระดับการศึกษาในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้อย่างแท้จริง”
“การเข้ามาร่วมงานกับโครงการ Enjoy Science นับว่าเป็นการใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่า ครูพี่เลี้ยงวิชาการไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้เท่านั้น เรายังเป็นผู้รับอีกด้วย เพราะการอบรมและการทำหน้าที่นี้ช่วยเปิดมุมมองตลอดจนมอบความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ดิฉันจึงตั้งใจที่จะเป็นครูพี่เลี้ยงวิชาการตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการฯ หรือจนกว่าจะทำไม่ไหว” อาจารย์วงเดือน โปธิปัน อดีตศึกษานิเทศก์ จากจังหวัดเชียงใหม่ ครูพี่เลี้ยงวิชาการวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวอย่างมุ่งมั่น