xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ล้านนาจับมือ สวทน. คีนัน เชฟรอน ลงนามจัดตั้งศูนย์ประจำภาคเหนือพัฒนาบุคลากรเพิ่มขีดสามารถแข่งขัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สวทน. พร้อมด้วยสถาบันคีนันแห่งเอเชีย และเชฟรอน จับมือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงนามจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาระดับภูมิภาคประจำภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ เพื่อพัฒนานักศึกษาอาชีวะและแรงงานสายอาชีพ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ

วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ดร.กิตติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และรองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สวทน., สถาบันคีนันแห่งเอเชีย, บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา)

ในการจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาระดับภูมิภาค (Technical Vocational Education and Training Hub : TVET Hub) ประจำภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนานักศึกษาอาชีวะและแรงงานสายอาชีพ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ

รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติกล่าวว่า การศึกษาถือเป็นฐานรากสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขณะที่สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) จัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในปี 2558 อยู่อันดับที่ 30 จาก 61 ประเทศ

โดยพบว่าหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยมาจากขาดแคลนแรงงานวิชาชีพที่มีทักษะฝีมือ และพื้นฐานด้าน STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ โดยความต้องการแรงงานในสายอาชีวะอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนคนต่อปี ทว่านักเรียนที่เข้าสู่การศึกษาในสายอาชีวะเมื่อเทียบกับสายสามัญกลับมีเพียง 33% เท่านั้น

โดยที่ภาคเหนือถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตจากการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวด้านการลงทุนจาก 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า และการบริการท่องเที่ยว

ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะแรงงานสายอาชีพในภาคเหนือ ที่มีจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ รวมทั้งศูนย์กลางการศึกษา ซึ่งมีสถานศึกษาทั้งสิ้นถึง 1,156 แห่ง ครู 22,255 คน และนักเรียน-นักศึกษา 440,706 คน มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน 8 แห่ง

ทาง สวทน.จึงได้ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เพื่อยกระดับการเรียนการสอนด้าน STEM ให้แก่หน่วยงานการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะในภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า การจัดตั้ง TVET Hub ประจำภาคเหนือในเบื้องต้น สถาบันคีนันซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จะร่วมระดมสมองและพัฒนาหลักสูตรกับ มทร.ล้านนา และ สวทน. เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มที่โครงการฯ เห็นว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การเกษตร และพลังงาน

ทั้งนี้ หลักสูตรด้านวิชาการ จะนำโมเดลการอาชีวศึกษาและอาชีพในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย มาปรับใช้ให้เข้ากับระบบการศึกษาไทย หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดอบรมครู ผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงการแนะนำหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ พร้อมการติดตามข้อมูลและประเมินผลอย่างใกล้ชิด

ด้านนางหทัยรัตน์กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแผนจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาระดับภูมิภาค (Technical Vocational Education and Training Hub : TVET Hub) ประจำภาคเหนือ เป็น 1 ใน 6 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนานักศึกษาอาชีวะและแรงงานสายอาชีพ ในวันนี้ทางโครงการฯ จึงได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ให้เกียรติรับหน้าที่เป็นศูนย์กลางและแกนนำในการพัฒนาการศึกษาด้านทักษะอาชีพของภาคเหนือ

โดยในระยะเริ่มแรกจะเผยแพร่สู่วิทยาลัยเทคนิค 4 แห่ง เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษากว่า 1,800 คน ทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาแรงงานที่มีคุณภาพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 138,000 คน ตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการ

รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการศึกษา ตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูวิทยาลัยเทคนิคและโรงเรียนอาชีวศึกษา รวมทั้งการสร้างเครือข่ายวิทยากรและครูพี่เลี้ยงทางวิชาใน TVET Hub จนถึงพัฒนากระบวนการฝึกงานของนักศึกษากับสถานประกอบการ และการติดตามวัดผล

สำหรับโครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” นั้น เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาศักยภาพครู นักเรียน ด้าน STEM ในการศึกษาสายสามัญศึกษา 2. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสายอาชีพและอาชีวศึกษา และ 3. การสร้างการรับรู้และความร่วมมือในการพัฒนาเรียนรู้ด้าน STEM และอาชีวศึกษาให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

โดยมีเป้าหมายสร้างประโยชน์ให้แก่ครู นักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคลากรทั่วประเทศกว่า 500,000 คน



กำลังโหลดความคิดเห็น