xs
xsm
sm
md
lg

เชฟรอน สถาบันคีนันแห่งเอเซีย จับมือ สพฐ. สมุทรปราการ พัฒนาโรงเรียนสะเต็มและส่งเสริมการเรียนรู้สาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ เชฟรอนประเทศไทย และ ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย พร้อมผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดสมทุรปราการ ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เพื่อพัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM อย่างบูรณาการ โดยนำร่องที่จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนขยายสู่ 56 จังหวัดทั่วประเทศ
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดสมุทรปราการ ลงนามร่วมกันในบันทึกข้อตกลงโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เพื่อร่วมกันส่งเสริมการศึกษาสาขาสะเต็ม (STEM) หรือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ในจังหวัดสมุทรปราการอย่างบูรณาการ
เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษา ในหัวข้อ “ผู้บริหารกับความเป็นผู้นำด้านวิชาการในโรงเรียน - การจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อผู้เรียน” ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน โดยมุ่งการยกระดับการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมต้น ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ หรือ Inquiry-based Learning

หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ เชฟรอนประเทศไทย กล่าวว่า “การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงความร่วมมืออันดีและแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างเชฟรอน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดสมุทรปราการ ในการสนับสนุนกระบวนการเรียนการสอนที่จะช่วยสร้างให้เยาวชนไทยมีทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ การคิด วิเคราะห์ การตั้งคำถาม กล้าคิดและกล้าแสดงออก โดยเฉพาะในสาขาสะเต็ม ซึ่งเป็นสาขาที่เชฟรอนมุ่งส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การนำแนวทางนี้ไปปรับใช้กับการเรียนการสอนในโรงเรียน ไม่เพียงต้องพัฒนาครูผู้สอนและนักเรียนเท่านั้น แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสามารถยกระดับการสอนด้านสะเต็มให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง ดิฉันยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาคการศึกษา และผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาในด้านนี้ และให้เกียรติเข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงและเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการศึกษาและศักยภาพของเยาวชนไทยในสาขาสะเต็มอย่างยั่งยืน”

ด้าน ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “การยกระดับคุณภาพการศึกษาสาขาสะเต็ม (STEM) ในประเทศไทย ไม่เพียงต้องพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอนและนักเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาให้มีวิสัยทัศน์และความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ เพื่อให้ท่านผู้บริหารเหล่านั้นเห็นประโยชน์และนำไปผลักดันให้มีการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาดังกล่าวด้วยแนวทางใหม่นี้ ดังนั้น สถาบันคีนันแห่งเอเซียจึงได้พัฒนาหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาขึ้น เพื่อพัฒนาและสร้างภาวะผู้นำทางวิชาการ รวมทั้งชี้ให้ผู้บริหารสถานศึกษาเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ การให้แง่คิดและมุมมองของการเป็นผู้นำทางวิชาการและนักบริหาร รวมถึงการให้คำแนะนำในการสังเกตชั้นเรียน เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้นำไปปรับใช้กับโรงเรียนของตนเองได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป และนับเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสมุทรปราการที่จะช่วยส่งเสริมให้กิจกรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนยิ่งต่อโรงเรียนในสังกัดในเขตพื้นที่ต่อไป”

ขณะเดียวกัน นพพล พิพิธจันทร์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 6 กล่าวว่า “การอบรมในวันนี้ ช่วยให้ผู้บริหารสถานศึกษา มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และเห็นถึงประโยชน์ของการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้แนวทางการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ที่มีต่อการพัฒนาศักยภาพการศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนได้อย่างชัดเจน โดยวิธีการนี้จะใช้การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดสืบเสาะต่อ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในบทเรียนได้ดีขึ้นและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ยังช่วยให้ครูสามารถสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนเพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้น การอบรมนี้ยังให้แนวทางแก่ผู้บริหารโรงเรียนในการนำกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะไปปรับใช้ในโรงเรียนของตนเองอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวสู่การเป็นโรงเรียนสะเต็มต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น