เมืองไทย 360 องศา
หากนับจากตอนนี้ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะนำคณะชุดใหญ่ที่คาดว่าคราวนี้จะเค้นเอาเฉพาะระดับหัวกระทิร่วมเดินทางสำหรับการประชุมวาระพิเศษ นั่นคือการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์นี้
แน่นอนว่ากำหนดการซึ่งถือว่าเป็น “วาระพิเศษ” ดังกล่าวย่อมเป็นที่จับตามองของชาวโลก ที่ต้องยอมรับกันว่าทั้งการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศย่อมเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันแบบแยกไม่ออก โดยเฉพาะเบื้องหลังที่ซ่อนเอาไว้ล้วนเป็นเรื่องผลประโยชน์ระดับชาติทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี นาทีนี้จะขอแยกมาโฟกัสเฉพาะคู่กรณีที่สำคัญอย่าง ไทยกับสหรัฐอเมริกาก่อน เพราะถือว่าทั้งคู่ล้วนมีความผูกพันและมีผลประโยชน์ร่วมกันมานาน แต่ในเวลานี้มีปัญหาระหองระแหง แต่ด้วยที่ทั้งคู่ที่มีผลประโยชน์ที่ตัดไม่ตายขายไม่ขาด โดยเฉพาะฝ่ายสหรัฐฯที่ยังมองไทยเป็น “ลูกน้อง” ไม่ใช่เป็นเพื่อนไม่ค่อยให้เกียรติพยายาม “จิกหัวด่า” อยู่ตลอดเวลาทั้งที่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ดังนั้นเมื่อมีวาระพิเศษที่จะมีการประชุมสุดยอดอเซียน-สหรัฐฯ ก็ถือว่าน่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะการไปร่วมประชุมในครั้งนี้ย่อมต้องมีเรื่องสำคัญต้องหารือ ต้องเจรจากัน
แม้ว่าหากพิจารณากันตามความเป็นจริงในภาพรวมๆ แล้ว การเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คงไม่ได้รับเกียรติที่โดดเด่นเท่าใดนัก จากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เพราะมีข้อจำกัดรังเกียจเรื่องผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร อย่างมากก็เพียงแค่การพบกันทักทายจับมือกันแล้วภ่ายภาพหมู่กับผู้นำอาเซียนคนอื่นแบบที่ผ่านมา คงไม่มีการนัดหารือกันแบบทวิภาคีแต่อย่างใด และแม้ว่านี่อาจเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปเหยียบกรุงวอชิงตันในฐานะผู้นำ เพราะที่ผ่านมาอย่างที่เคยรับรู้กันมาโดยเขาเคยเป็นคนเปิดเผยมาเองว่าไม่ได้รับเชิญให้เข้าสหรัฐฯ อย่างมากก็เป็นเพียงการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีของสหประชาชาติเท่านั้น
ดังนั้น การเดินทางมาสหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คราวนี้ถึงอย่างไรก็ถือว่าน่าสนใจและจับตามองอย่างยิ่ง เพราะถึงอย่างไรทั้งสองฝ่ายก็มีผลประโยชน์ที่ต้องพึ่งพาระหว่างกัน ดังที่กล่าวมาแล้วตอนต้นนั่นคือทั้งผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหากพิจารณาในแง่ของสหรัฐฯที่ยังต้องการดึงไทยเข้าไปเป็นพวก แต่อาจเป็นเพราะที่ผ่านมายัง “สำคัญตัวเองผิด” มองไทยเป็นลูกน้อง ยังเหยียบย่ำไม่ให้เกียรติ ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ถือว่าไทยอยู่ในจุดสำคัญ และที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็รู้ดีใช้ไทยเป็นฐานมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ด้วยหลักการประชาธิปไตยแบบดัดจริตจอมปลอมทำใหัต้องตั้งเงื่อนไขให้ห่างจากไทย หรืออีกอย่างก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร มาเป็นรัฐบาลทหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จึงไม่มั่นคงเหมือนเดิมทำให้ต้องมีการแสดงท่าทางข่มขู่ แต่อาการแบบนี้มันก็เหมือนกับการบีบให้ไทยต้องหันไปพึ่งพาจีนที่เป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ ไปโดยปริยาย
ด้วยสถานะที่ไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ภูมิภาค ที่สหรัฐฯ ต้องการให้เป็นพวกเพื่อต่อรองกับจีนในเรื่องผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้ และล่าสุดมีความพยายามกดดันให้ไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก กลุ่มความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งมีเบื้องหลังเป้าหมายคือให้ไทยช่วยล้อมกรอบจีน และที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็สามารถดึง 11 ประเทศให้เข้าร่วมไปแล้ว คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งเห็นแต่ละประเทศที่ดข้าร่วมก็พอมองออกว่าเป็นเพราะผลประโยชน์เป็นหลัก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องประชาธิปไตย หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ก็อย่างที่รู้กันก็คือ เวียดนามนี่เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า มีการเลือกตั้งแบบไหน หรือบรูไนนี่ก็ชัดเจน ยังเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เลย ไม่เห็นทางการสหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไงว่าต้องเลือกตั้งโดยเร็วแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นก็รู้กันอยู่แล้ว
สำหรับท่าทีของไทยนั้น ก็เหมือนกับรับรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้างในระหว่างการมาร่วมประชุมอาเซียนฯ ที่สหรัฐฯ คราวนี้ จึงได้มีการตั้งทีมศึกษาผลดีผลเสียหากต้องเข้าร่วมกลุ่มทีพีพีในอนาคต และจากความเห็นของบรรดากลุ่มธุรกิจต่างสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม โดยอ้างว่าหากไม่ร่วมไทยจะเสียโอกาสเพราะคู่แข่งคือเวียดนาม มาเลเซียต่างเข้าร่วมไปแล้ว ตรงกันข้ามหากเข้าร่วมจะทำให้การเติบโตของจีดีพีสูงขึ้นถึงร้อยละ 1 ทีเดียว แต่ทางรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ ออกมา เนื่องจากยังต้องพิจารณาให้รอบคอบโดยเฉพาะในเรื่องสินค้าเกษตร และเรื่องธุรกิจยาที่เราเสียเปรียบ เป็นต้น และคราวนี้เชื่อว่าทางการสหรัฐฯ จะกดดันให้ไทยเข้าร่วม
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตามองไม่แพ้กันก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องถูกตั้งคำถามถึงการเลือกตั้งและโรดแมปว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยเฉพาะหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะยืนยันหนักแน่นว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะต้องมีการเลือกตั้งในปี 2560 อย่างแน่นอน แต่เชื่อเถอะว่าเจอกันคราวนี้จะต้องถูกถามย้ำอีกแน่นอน
ดังนั้น ถ้าพิจารณากันในภาพรวมจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวมาทั้งหมดทำให้พอเดาทางล่วงหน้าได้เลยว่า การเดินทางไปสหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เที่ยวนี้ จะต้องเจอศึกหนักแน่นอน และจะต้องเจอแรงบีบจนหน้าเขียวแน่ โดยเฉพาะคำถามยืนยันถึงโรดแมปเรื่องเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ รวมไปถึงแรงกดดันเรื่องคำตอบการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทีพีพี ที่ต้องการปิดล้อมจีน และเรื่องหนักๆ แบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้เขาต้องมีอารมณ์แปรปรวนอยู่ในเวลานี้ไม่ค่อยตอบคำถามสื่อบอกแต่เพียงว่า “กำลังทำงานสำคัญเพื่อชาติ” บางอย่างอยู่ก็เป็นได้!!