xs
xsm
sm
md
lg

ก.พ.รับ “บิ๊กตู่-รองวิษณุ” สั่งนำเคส “หมอหนีทุน” สังคายนาวงการทุนหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.พ. รับ “บิ๊กตู่ - รองวิษณุ” สั่งนำเคส “หมอหนีทุน” ถกบอร์ด ก.พ. เดือนหน้า เล็งร่วมมือ ป.ป.ช.- ป.ป.ท. วางกรอบปฏิรูปโครงการทุนเล่าเรียนหลวง ย้ำ กรณี ข่าวหมอฟันหนีทุน แม้ไม่ใช่ทุนของ ก.พ. ก็มีปัญหากับระบบ แนะ “มหิดล” ติดต่อสถานทูตไทยในวอชิงตัน ฟันทางกฎหมาย คนหนีทุน เผย หากหนีทุน ก.พ. ต้องชดใช้เงินทุนที่จ่ายไปบวกดอกเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนเงินทุน

วันนี้ (10 ก.พ.) มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้เปิดแถลงและให้ข้อมูลเพิ่มเติม ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวกรณีนักเรียนทุนรัฐบาลกระทำผิดสัญญาชดใช้ทุนที่ต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย ระหว่างหน่วยงานเจ้าของทุน และนักเรียนผู้กระทำผิดสัญญา ตลอดจนผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน โดยได้มีข้อคำถามส่วนหนึ่งไปยังสำนักงาน ก.พ. นั้น

สำนักงาน ก.พ. ได้นัดสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงส่วนที่เกี่ยวข้องกับทุนของรัฐบาลในความดูแลของ ก.พ. โดย ม.ล.พัชรภากร เทวกุล รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากมีทุนของรัฐบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ก.พ. แล้ว ยังมีแหล่งทุนของรัฐจากเจ้าของทุนอื่น ๆ ตามความจำเป็น และความต้องการในการพัฒนาวิทยาการเฉพาะด้าน ตามประเภทหรือสังกัดของข้าราชการ เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนของภาครัฐในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ อาทิ ทุนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอื่น ๆ ส่วนกรณีปัญหาที่เป็นข่าวนั้นเป็นทุนการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ปัจจุบัน ก.พ. ได้จัดสรรทุนเป็นจำนวน 500 คน ในแต่ละปี ซึ่งเงื่อนไขข้อผูกพันในการรับทุนของรัฐบาล ประกอบด้วย 1. ผู้รับทุน จะต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการ หรือปฏิบัติงานของทางราชการในกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน และ 2. กรณีที่ผู้ได้รับทุนไม่เข้าปฏิบัติราชการ หรือปฏิบัติงานของทางราชการเพื่อชดเชยใช้ทุนตามสัญญาที่ทำไว้ จะต้องชดใช้เงินทุนที่จ่ายไปบวกดอกเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนเงินทุนดังกล่าว

รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวต่อว่า ส่วนเงื่อนไขการทำสัญญาการขอรับทุนของรัฐบาล 1. สัญญาการรับทุนระหว่างผู้รับทุนของรัฐบาลกับหน่วยงานเจ้าของทุน 2. สัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ค้ำประกันผู้รับทุนรัฐบาลกับหน่วยงานเจ้าของทุน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ก.พ. ที่ต้องปรับ 2 เท่ากับผู้ที่ทำผิดสัญญาการชดใช้ทุน ก็เพราะว่าเรามองเห็นความสำคัญในการได้รับทุน เพราะคนที่ได้รับ เมื่อได้รับแล้ว ก็จะทำให้คนอื่นเสียโอกาส ซึ่งทางรัฐบาลคาดหวังว่าความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการร่ำเรียนต่างประเทศ จะช่วยกลับมาพัฒนาราชการของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ส่วนปัญหาเกี่ยวกับผู้ค้ำ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ค้ำมาโดยตลอด เพื่อให้ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหมวดค้ำประกัน 1. ไม่ฟ้องผู้ค้ำจนกว่าจะทวงหนี้ชั้นต้น 2. ต้องมีการกำหนดวงเงินระยะเวลาการค้ำประกันที่ชัดเจนในสัญญา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้รับทุนของ ก.พ. ที่ทำผิดสัญญาชดใช้ทุน ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมาย มีจำนวน 23 ราย ประกอบด้วย ผู้ทำผิดสัญญาก่อน พ.ศ. 2539 จำนวน 14 ราย ทำสัญญาช่วงปี พ.ศ. 2539 - 2551 จำนวน 8 ราย ทำสัญญาช่วงปี 2552 ถึงปัจจุบัน จำนวน 1 ราย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนผู้ทำสัญญาชดใช้ทุนในช่วงปี พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน ที่มีจำนวน 888 ราย จะเห็นว่าสัดส่วนผู้รับทุนที่กระทำผิดสัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.11% โดยสาเหตุของการกระทำผิดสัญญาชดใช้ทุน เนื่องจาก 1. ไม่เดินทางกลับประเทศไทย 2. เปลี่ยนสายอาชีพ 3. ลาออกภายหลังปฏิบัติราชการชดใช้ทุนไปได้ระยะหนึ่ง 4. เหตุผลส่วนตัว

ม.ล.พัชรภากร กล่าวยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในความสนใจของรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยได้สั่งการให้ ก.พ. หาวิธีการปรับปรุงแก้ไขทุนของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเรามีแผนที่จะปรับปรุง 4 หลักสำคัญ ได้แก่ 1. ระบบการจัดกรอบทุนของรัฐบาล 2. การสรรหาคนที่ใช่เข้ามาทำงานราชการ 3. ว่าด้วยการดูแลจัดการศึกษา 4. การกลับมาทำงานเมื่อเรียนจบแล้ว เหล่านี้จะช่วยให้การแก้ไขปัญหามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ในเดือนหน้าจะนำเข้าที่ประชุม ก.พ. และในอีก 2 สัปดาห์ จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อวางกรอบต่าง ๆ ในการปฏิรูปโครงการเรื่องทุน โดยนำปัญหาการหนีทุนนี้มาพิจารณาด้วย” รองเลขาฯ ก.พ. กล่าวว่า

ส่วนกรณีที่เป็นปัญหานี้ ซึ่งผู้ขอรับทุนได้ออกจากข้าราชการแล้ว จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของ ก.พ. จึงแนะนำให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ประสานไปยังสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หรือหน่วยงานที่ผู้ดูแลนักเรียนไทยที่นั่น เพื่อขอความร่วมมือประสานไปยังคู่กรณี ซึ่งทาง ก.พ. พร้อมสนับสนุน

ม.ล.พัชรภากร กล่าวด้วยว่า การหนีทุนเป็นปัญหาที่ตัวบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย แต่กระนั้นก็ต้องแก้ไขที่ระบบด้วย เพราะที่ผ่านมาเรามักคัดเลือกจากคนเก่ง ซึ่งต่อจากนี้จะมีการทบทวนเรื่องเหล่านี้ เพราะต้องไม่ใช่คนเก่งเพียงอยากเดียวที่จะได้รับทุน จะต้องดูว่าคนเหล่านั้นใช่ หรือตรงกับความต้องการหรือไม่ ซึ่งคนที่จะได้รับทุนต่อไปต้องมีจิตสำนึกด้วย อย่างไรก็ตาม ก.พ. ขอรับนำเสนอแนะต่าง ๆ จากหลายฝ่ายที่เสนอเข้ามา และขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวจนนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข






กำลังโหลดความคิดเห็น