ปมดรามาอดีตหมอฟัน “ดลฤดี” เบี้ยวใช้ทุน ม.มหิดล ย้ำชัดต้องจ่ายเงินคืน 30 ล้านบาท ตามระเบียบ ก.พ. เผย ผู้ค้ำประกัน 4 รายควักกระเป๋าชดใช้แล้วรวมกว่า 8 ล้านบาท เล็งหารือ สกอ. ฟ้องผู้ขอทุนเป็นบุคคลล้มละลาย ก่อนคดีหมดอายุความ 14 ก.พ. นี้
วันนี้ (2 ก.พ.) ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวชี้แจงกรณีอดีต ท.พญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ ลาศึกษาปริญญาโทและเอก แล้วไม่กลับมาชดใช้ทุน ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น และได้ติดตามทวงถามตามกระบวนการมาเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่ในขั้นตอนการเรียกให้ชดใช้เงินตามผู้ผิดสัญญาและค้ำประกัน ซึ่งการค้ำประกันในสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามหลักการ คือ ผู้ทำสัญญาและผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันในฐานะเป็นลูกหนี้ มหาวิทยาลัยจึงได้มีหนังสือแจ้งให้อดีตทันตแพทย์ และผู้ค้ำประกันทุกคนนำเงินจำนวนที่รับผิดชอบตามสัญญามาชดใช้ให้แก่มหาวิทยาลัยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่เนื่องจากอดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันทุกราย มิได้มาชดใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด มหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายในขั้นของการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อใช้สิทธิเรียกให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันแต่ละรายมาชดใช้
ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้นำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันชดใช้ให้แก่ทางราชการ โดยให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันตามสัญญารับทุนรัฐบาล ร่วมกันหรือแทนกันต้องชดใช้เงินให้แก่ สกอ. ผู้เป็นเจ้าของทุน จำนวน 196,637.49 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2549 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันชดใช้เงินตามฟ้อง และคดีถึงที่สุด มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือแจ้งให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา แต่อดีตทันตแพทย์ไม่ได้นำเงินมาชำระ ส่วนผู้คำประกันรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอหารือการผ่อนผัน โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับขั้นตอนตามคำพิพากษา จนผู้ค้ำเข้าใจว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน หรือแทนกัน โดยผู้ค้ำทั้ง 4 ราย ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนการชำระหนี้ มหาวิทยาลัยจึงนำเรื่องดังกล่าวหารือกับ สกอ. ผู้พิจารณาให้ทุน จากนั้นผู้ค้ำได้รับการลดหย่อนภาระหนี้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
เมื่อถามว่า เหตุใดมหาวิทยาลัยจึงอนุญาตให้อดีตทันตแพทย์รายนี้ลาออกจากราชการ ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า การขอลาออกจากราชการ กับการใช้ทุนเป็นคนละกรณี เพราะข้าราชการที่ลาออกยังต้องชดใช้ทุน ไม่เป็นเหตุให้ยับยั้งการลาออก ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของ ก.พ. พ.ศ. 2551 อีกทั้งปัจจุบันผู้ค้ำทั้ง 4 คน ยังได้นำเงินมาชดใช้เสร็จสิ้นในจำนวนกว่า 8 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 59 ที่ผ่านมา จึงถือว่าผู้ค้ำทุกรายได้พ้นความรับผิดชอบแล้ว ส่วนกรณีที่ไม่สามารถติดตามบังคับคดีกับอดีตทันตแพทย์ดังกล่าวได้นั้น เป็นเพราะว่าเรื่องนี้เป็นการดำเนินการในคดีแพ่งเกิดในประเทศ และกรณีที่อดีตทันตแพทย์เคยเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว มหาวิทยาลัยไม่ประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) นั้น เรื่องดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการขอความร่วมมือจาก ตม. จะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นลูกหนี้บุคคลล้มละลายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับทาง สกอ. รวมไปถึงการหารือมาตรการควบคุมนักเรียนทุนที่ขอทุนไปต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดเช่นกรณีดังกล่าว
“ขณะนี้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้จ่ายเงินคืนเรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของผู้กู้นั้น ยังไม่ได้จ่าย และถ้าหากชำระคืนจะต้องชำระ 30 ล้านบาท คือ 3 เท่าของทุนตามระเบียบ ก.พ. ไม่ใช่จ่ายคืนกว่า 8 ล้านบาท เหมือนผู้ค้ำ ซึ่งจะเป็นการซิกแซก และอาจเป็นตัวอย่างแก่ผู้กู้รายอื่น และที่มีการฟ้องร้อง เพราะคดีนี้จะหมดอายุความในวันที่ 14 ก.พ. นี้ หากมหาวิทยาลัยไม่ดำเนินการจะผิดฐานละเว้นหน้าที่ และจะหารือกับ สกอ. ฟ้องทันตแพทย์เป็นบุคคลล้มลาย” ศ.นพ.บรรจง กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่