xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องหลัง ครม.ตั้ง “ธัญญา เนติธรรมกุล” เถลิงอำนาจ “อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธัญญา เนติธรรมกุล
เปิดเบื้องหลัง ครม.ตั้ง “ธัญญา เนติธรรมกุล” เถลิงอำนาจ “อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” คนใหม่ เผยซี 9-10 วิ่งนั่ง “กรมร้อยล้าน” เปิดเส้นทางอธิบดีฯ ถูกข้อครหาเพียบ! ตั้งคนใกล้ชิด-ถูกสอบสวน คดี “อุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต” เผย “สมัคร ดอนนาปี” อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ เคยย้ำอธิบดีกรมอุทยานฯ ต้องได้คนดีจริงๆ และต้องอยู่ในวงการป่าไม้และอุทยาน

วันนี้ (9 ก.พ.) มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ ให้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง 2 ตำแหน่ง คือ 1. นายทศพร นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และ 2. นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

สำหรับ นายธัญญา เนติธรรมกุล ถือศิษย์เก่าวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วน.47) ดีเด่นด้านการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกป่า ปี 2547 เช่นเดียวกับนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้กระทรวงทรัยพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับแต่งตั้งไปเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อกลางปี 2558 ก็เป็นศิษย์เก่าวนศาสตร์ดีเด่น (วน.46) ปี 2557 ประเภทผู้บริหารภาครัฐ

มีรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าเมื่อปลายเดือนมกราคม นายธัญญาซึ่งเป็นรักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ เคยถูกข้อครหาเมื่อปลายปี 2558 จากกรณีมีคำสั่งให้นายสมหมาย กิตติยากรและนายอดิศร นุชดำรงค์ 2 รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ออกจากการเป็นคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเสนอรายชื่อเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการสูง (ซี 9)

นอกจากนี้ นายธัญญายังเคยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) โดยกรรมการมีชื่อ นายจรวย อินจันทร์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ อดีตหัวหน้าอุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต และเป็นอดีตหน้าห้องนายธัญญา รวมทั้งเป็นเพื่อนคณะวนศาสตร์ รุ่น 47 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับนายธัญญา ที่ถูกกรมอุทยานฯ ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงและล่าสุดถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ชี้มูลความผิดข้อหาร่วมกันออกเอกสารสิทธิในอุทยานฯ สิรินาถ โดยมิชอบรวมอยู่ด้วย

นายธัญญายังเคยมีคำสั่งโยกย้ายนายธนวัฒน์ ทองตัน รักษาการ ผอ.กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (ไซเตส) กรมอุทยานฯ พ้นจากตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้งนายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล นักวิชาการป่าไม้ ส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ เป็น ผอ.ไซเตส และกรณีนี้ก็ถูกนายธนวัฒน์ ระบุว่า ไมได้รับความเป็นธรรม เพราะรักษาการ ผอ.ไซเตส มานานกว่า 3 ปี ที่ผ่านมาเคยเสนอขอย้ายตัวเองกลับต้นสังกัด คือ ส่วนต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) หลังจากนายสมเกียรติสอบได้ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากอธิบดีกรมอุทยานฯ ในช่วงที่ผ่านมา และตนก็เรียกร้องให้สอบใหม่มาตลอด การย้ายครั้งนี้เหมือนเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล เพราะเพิ่งทำงานเรื่องการรณรงค์การค้างาช้างสำเร็จ และจองตั๋วเตรียมเดินทางไปประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 66 ในวันที่ 5-11 ม.ค.2559 ในวาระสำคัญคือการชี้ชะตาตัดสินว่าไทยจะถูกระงับการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีไซเตสหรือไม่ ซึ่งไซเตสประเมินผลงานของไทยน่าพอใจได้คะแนนเต็ม 100 และเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่จะถูกถอดออกจากบัญชีไซเตส ที่ประกาศให้ไทยเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่ถูกระบุว่ามีส่วนกระตุ้นการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย

มีรายงานด้วยว่า นายธนวัฒน์ ทองตัน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งโยกย้าย แต่ไม่มีรายงานว่ามีการยื่นฟ้องศาลปกครองหรือไม่โดยมองว่านายสมเกียรติ อยู่ระหว่างถูกกรมอุทยานฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง กรณีเกี่ยวพันกับการออกเอกสารสิทธิในอุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต

มีรายงานอีกว่า สำหรับตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในช่วง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เข้ามา รมว.ทรัพยากรฯ ได้เสนอ ครม.โยกย้ายนายนิพนธ์ โชติบาล จากอธิบดีกรมอุทยานฯ ไปเป็น รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ขณะที่ พล.อ.สุรศักดิ์ ได้ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ในกลุ่มผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อแจ้งกับผู้บริหารทุกคนว่า การปรับย้ายครั้งนี้เป็นเพราะนายนิพนธ์อยู่ในตำแหน่งนานแล้ว และเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูง ต้องการให้ไปทำงานกำกับกลุ่มงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากขึ้น หากให้ผู้อาวุโสน้อยไปทำงานกำกับตรงนี้ จะทำให้งานออกมาไม่ดีนัก ขอให้ทุกคนช่วยกันทำงาน เพื่อให้เป็นไปตามโรดแม็พ ของคสช.และขออภัยที่ไม่ได้แจ้งเรื่องนี้ล่วงหน้า

จากนั้นพบว่า ทำให้เกิดการวิ่งเต้นจากบรรดาข้าราชการทั้ง 9 และ 10 ที่ต้องการไปนั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่และมีความสำคัญ รวมถึงกรมฯนี้ มีนโยบายสำคัญของรัฐบาล และ คสช.อยู่ด้วย

มีรายงานด้วยว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายสมัคร ดอนนาปี อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า การแต่งตั้งอธิบดีกรมอุทยานฯ ต้องได้คนดีจริงๆ และต้องอยู่ในวงการป่าไม้และอุทยาน ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯบอบช้ำมามากกับการแต่งตั้งอธิบดีที่เอาข้าราชการที่ไม่มีความรู้ด้านป่าไม้มาเป็น ทำให้การทำงานเสียหาย แต่ถ้า พล.อ.สุรศักดิ์แต่งตั้ง อธิบดีกรมอุทยานฯจากคนนอก จะรวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้เสนอนายกรัฐมนตรี และจะประสานเอ็นจีโอ องค์กรอนุรักษ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งอธิบดีจากคนในที่มีความสามารถ.

สำหรับตำแหน่งดังกล่าวในหลายรัฐบาล พบว่ามีปัญหามาโดยตลอด เพราะการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ทำให้มีกระแสข่าวว่า ในรัฐบาล คสช. นายธัญญาได้รับแรงสนับสนุนจากอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง แต่นายธัญญาก็ถูกต่อต้านจากข้าราชการบางส่วนในกรมอุทยานฯ เนื่องจากแต่งตั้งคนใกล้ชิดที่มีปัญหาในเรื่องการถูกตั้งกรรมการสอบสวนกรณีการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่อุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต เข้ามารับผิดชอบงานหลายด้าน

ขณะที่ในส่วนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต้องการเสนอชื่อนายสมหมาย กิตติยากุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ แต่นายสมหมายเองก็มีเรื่องข้อร้องเรียนกรณีการจัดซื้อชุดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ในราคาสูงเกินปกติ

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ เคยตั้งข้อสังเกตถึงการเข้ามาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียม การท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ สังกัดกรมอุทยานฯ ส่งผลให้ขณะนี้สามารถจัดเก็บค่าเข้าชมได้มากขึ้นหลายเท่าตัว โดยคาดว่าสถานที่ท่องเที่ยวเฉพาะหมู่เกาะแห่งเดียวอาจทำรายได้สูงถึง 3 ร้อยล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลปี 2558 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านคน สร้างรายได้สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวชาวไทย รายได้สุทธิในปีที่ผ่านมา จึงสูงทะลุเป้า 2.2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เดินทางไปเที่ยวชมความงาม ในอุทยานแห่งชาติ 147 แห่งทั่วประเทศ สูงถึง 13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 11.9 ล้านคน ในปี 2557 สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับประเทศไทย เมื่อ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นส่งผลให้รายได้ จากการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2558ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีรายรับจากค่าธรรมเนียมเข้าชม รวมทั้งสิ้นจำนวน 896 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากยอดรวมในปี 2557 จำนวน 696 ล้านบาท และปี 2556 จำนวน 662 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น