xs
xsm
sm
md
lg

"อ่าวปิเละ" บทเรียนสะเทือนตา! เรื่องเละๆ จากเศษขยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
ความเสื่อมถอยของธรรมชาติจากผู้ทำลายนามว่า "มนุษย์" และคำว่า "ธุรกิจ" กลายเป็นประเด็นวิพากษ์ในกลุ่มนักอนุรักษ์ รวมไปถึงประชาชนส่วนหนึ่งที่เกิดความสงสารกับภาพการเติบโตของรีสอร์ทนับร้อยแห่งบนภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์มาแล้ว ล่าสุดมาถึงคิวอ่าวปิเละ เกาะพีพี จ.กระบี่ หลังพบขยะลอยเกลื่อน ทำลายภาพความเป็นอ่าวที่สวยที่สุดของประเทศในทันที

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ได้โพสต์ภาพขยะจำนวนมากลอยเกลื่อนบริเวณอ่าวปิเละ เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อ Thon Thamrongnawasawat พร้อมข้อความ "อ่าวปิเละ...กำลังเละ" ก่อนจะเผยภาพการลงไปกู้เก็บขยะร่วมกับกลุ่มพิทักษ์พีพีและเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยากลำบาก เพราะต้องเจอกับหินที่คมจนถูกบางครั้งก็โดนบาดเท้า แต่ก็ต้องอดทนเพื่อทะเลไทยที่สวยงาม
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
"พี่จ๋า ช่วยกันดูบ้างนะฮะ ตอนเก็บมันยากกว่าตอนทิ้งเยอะเลย" ผู้พิทักษ์ทะเลไทยฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว

ถามว่าขยะทั้งหลายนี้มาจากไหน ด้านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า มาจากหลายพื้นที่ถูกมรสุมที่พัดเข้ามาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี ขณะนี้ก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการกำจัดขยะดังกล่าวแล้ว และกำลังเตรียมจัดหาทุ่นไข่ปลามาผูก บริเวณปากอ่าวเพื่อกันพื้นที่ป้องกันไม่ให้เรือขนาดใหญ่ เข้าไปซึ่งจะเป็นการป้องกันแนวปะการังได้รับความเสียหายด้วย


"#กู้วิกฤตพีพี กลับมาอีกครั้งที่ปิเละ เพื่อจัดการเก็บขยะร่วมกับกลุ่มพิทักษ์พีพีและเจ้าหน้าที่อุทยาน วันนี้เธอสะอาดขึ้น แต่ถ้าอยากให้สะอาดทุกวัน คงต้องรบกวนหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวช่วยเหลือ พีพีสร้างรายได้ให้ท่องเที่ยวไทยมหาศาล แต่ชาวบ้านต้องเรี่ยไรตังค์หาค่าน้ำมันเรือมาเก็บกันเอง #แบ่งเงินจัดอีเวนต์มาช่วยบ้างนะจ๊ะ #อาจารย์ธรณ์ปิดจ็อบเอง #ไม่ใช่เอาแต่ด่าต้องมาทำด้วยฮะ" ดร.ธรณ์ โพสต์เอาไว้ในวันลงพื้นที่ไปเก็บกู้ขยะ ณ อ่าวปิเละ

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
นับเป็นการกู้วิกฤตที่แม้ "ดร.ธรณ์" จะบอกว่า เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ต้องไปกันอีกยาว โดยพลังในโลกโซเชียลคือพลังขับเคลื่อนสำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เห็นได้จากสิ่งที่ "ดร.ธรณ์" ได้โพสต์อธิบายถึงพลังของคนในโลกออนไลน์ที่ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ หันมาเหลียวแลทะเลไทยกันมากขึ้น

"เพื่อนธรณ์บางคนสงสัย แค่กดไลค์กดแชร์ มันจะช่วยอะไรได้หรือ? ผมเริ่มลงเรื่องพีพีในวันที่ 2 ผ่านมาสัปดาห์เศษ เรามาดูสิว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง #กู้วิกฤตพีพี #ผลลัพธ์แปดประการ

1. ทิ้งสมอ/ทุ่นจอดเรือ

ก่อนเราเริ่ม - โครงการทุ่นจอดเรือที่อุทยานพีพีขอจากส่วนกลาง จำนวนกว่า 150 ลูก ถูกระงับชั่วคราว ทั้งพีพีมีทุ่นจอดเรือสภาพดีไม่ถึง 10 ลูก (ข้อมูลจากกลุ่มพิทักษ์พีพี)
ตอนนี้ - กรมอุทยานอนุมัติโครงการทุ่นจอดเรือทั้งหมด ภาคเอกชนบางรายกำลังเตรียมสนับสนุน กลุ่มพิทักษ์พีพีช่วยกันเรี่ยรายจัดหาทุ่น
สรุป - จะมีทุ่นจอดเรือไม่ต่ำกว่า 200 ลูกในพีพีในเวลา 1-2 เดือนข้างหน้า

2. เรือ Try Dive


ก่อนเราเริ่ม - เรือขนาดใหญ่จอดแช่บนแนวปะการังเกิน 3 ปี

ตอนนี้ - เรือทั้ง 5 ลำ ถูกเคลื่อนย้ายออกไปภายใน 1 วัน
สรุป - กิจกรรม Try Dive กำลังถูกพิจารณาไม่ให้ทำในเขตอุทยาน

3. เรือตรวจ


ก่อนเราเริ่ม - อุทยานมีเรือ 1 ลำ

ตอนนี้ - อุทยานได้เรือเพิ่มจากส่วนกลาง 1 ลำ กำลังจะได้จากภาคเอกชนอีก 1 ลำ
สรุป - มีเรือ 3 ลำ เป้าหมายคือ 6 ลำ (รวมเรือยางนะจ๊ะ)
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
4. ขยะในทะเล

ก่อนเราเริ่ม - มีการเก็บขยะในทะเลโดยกลุ่มพิทักษ์พีพี ปีละ 2-3 ครั้ง

ตอนนี้ - เราเก็บขยะจนหมดอ่าวปิเละ ประธานกลุ่มและอุทยานบอกว่าจะเก็บให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง
สรุป - มีการเก็บขยะเพิ่มขึ้นมาอีกมาก หลายบริษัทติดต่อผมมาเรื่อง CSR

5. คราบน้ำมัน


ก่อนเราเริ่ม - มีการทิ้งคราบน้ำมันเป็นระยะ แต่ไม่มีใครรู้

ตอนนี้ - เรือกำลังจะถูกจับและปรับอย่างรุนแรง หัวหน้าอุทยานกำลังพยายามนำเรือต่างๆ เข้าระบบขออนุญาตและควบคุมให้ชัดเจนภายใน 2 เดือน เดิมทีมีเรือเข้าระบบเพียง 93 ลำจากเรือมากกว่า 1,000 ลำที่มาพีพี หากอยากรู้ว่าทำไมเป็นเช่นนั้น ต้องย้อนกลับไปถามหลายปี หัวหน้าเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 3-4 เดือนครับ
สรุป - ระบบควบคุมเรือและตรวจสอบสภาพ จะเริ่มต้นเป็นจริงในปีหน้า

6. เหยียบปะการัง เลี้ยงอาหารปลา


ก่อนเราเริ่ม - มีการเลี้ยงอาหารปลาและเหยียบปะการังทั่วไป

ตอนนี้ - ผู้ประกอบการเริ่มระมัดระวัง หลีกเลี่ยงและเริ่มเตือนแขก
สรุป - สองเรื่องนี้ต้องว่ากันอีกยาว ใจเย็นนิดครับ

7. ค่าเข้าอุทยาน (เราทำมาตั้งแต่เดือนเมษา)


ก่อนเราเริ่ม - พีพีเก็บเงินได้วันละ 80,000 บาท (เฉลี่ยทั้งอุทยาน)

ตอนนี้ - เฉพาะอ่าวมาหยา เมื่อวานเก็บเงินได้กว่า 700,000 บาท
สรุป - หากเรือพร้อมคนพร้อม เข้าช่วงไฮซีซั่น บางวันอาจถึง 1 ล้านบาททั้งอุทยานครับ

8. ประการสุดท้าย สำคัญสุดคือกำลังใจ ผมอยากให้เพื่อนธรณ์มาอยู่ด้วย ตอนผมมาถึง เจ้าหน้าที่อุทยานมากันเพียบ ชาวบ้านแห่กันมา พวกเขามีความหวัง วันนี้ผมโทรศัพท์กริ๊งเดียว เรือมาทันที 2 ลำ ผู้คนกระโดดลงน้ำช่วยกันเก็บขยะ ซึ่ง
กำลังใจที่คนท้องถิ่นเห็น เจ้าหน้าที่อุทยานรู้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งในประเทศไม่ทิ้งพวกเขา ไม่ปล่อยให้เขาเผชิญหน้าปัญหาเพียงลำพัง ด้วยคำว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน

กำลังใจมีพลัง...และมีมากกว่าทุกอย่างครับ จึงมาบอกเพื่อนธรณ์ว่า นี่คือผลของการแชร์การไลค์ อย่าแปลกใจว่าทำไมผลมันถึงมากมายปานนี้ ผมไม่ได้ลงดุ่มๆ มาพีพีแบบไม่มี อะไรเลย อาจารย์ธรณ์ทำงานกับทะเลไทยมา 30 ปี ผมมีกึ๋นฮะ แต่ประสบการณ์และกึ๋นปราศจากความหมาย หากไร้ความฝันและพลังผลักดัน ความฝันผมมีได้ แต่พลังจะเกิดจากเพื่อนธรณ์เท่านั้น หากปราศจากเพื่อนธรณ์ จ้างให้ผมก็ไม่มา (ตรงมั้ยครับ)"

...สมแล้วกับการเป็นผู้พิทักษ์ทะเลไทยตัวจริง แต่ลำพังตัวคนเดียวคงไม่สำเร็จเท่ากับหลายคนช่วยกันส่งเสียง และช่วยกันดูแลทะเลไทยให้งดงาม 
จริงไหม



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น