xs
xsm
sm
md
lg

มีผลแล้ว! พ.ร.บ.องค์การมหาชนฉบับใหม่ สกัด! คนเดียวนั่งบอร์ดเกินกว่าสามแห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิด พ.ร.บ.องค์การมหาชนฉบับใหม่ “ห้ามบอร์ดองค์กรมหาชน 1 คนนั่งเกินกว่าสามแห่ง” เผยให้ตั้ง “บอร์ดพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน” หรือ กพม. มีอำนาจจัดตั้ง ควบรวม ยุบเลิกองค์การมหาชน ให้ประธาน ก.พ.ร.เป็นประธาน ส่วนเลขาธิการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการ ครม. และ ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นกรรมการพ่วงกับอีก 7 ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ห้ามนั่งซ้ำซ้อนในบอร์ดองค์กรมหาชนชุดอื่น หากพบให้ลาออกใน 15 วัน

วันนี้ (8 ก.พ.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) มีประธานกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการจำนวน 4 คน ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในการบริหารองค์การมหาชนอย่างน้อยสองคน ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นผู้รับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการ ของ กพม.

ทั้งนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะดำรงตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษา หรือตำแหน่งอื่นใด ขององค์การมหาชนในเวลาเดียวกันไม่ได้ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการ ที่ปรึกษา หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดขององค์การมหาชนให้เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้กรรมการผู้นั้นลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษา หรือตำแหน่งอื่นใดขององค์การมหาชนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออก ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดย กพม.มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง การรวม หรือการยุบเลิกองค์การมหาชน เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง และหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับ การจัดตั้ง การรวม การยุบเลิก การบริหารและพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชน เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการในคณะกรรมการ และผู้อำนวยการ เสนอแนะหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน การถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุน ในกิจการของนิติบุคคลอื่น และการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญตามมาตรา 18 ต่อคณะรัฐมนตรี

“เสนอแนะหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา กรรมการตรวจสอบ และอนุกรรมการขององค์การมหาชนตามมาตรา ๒๖ รวมทั้ง อัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตามมาตรา ๓๔ ต่อคณะรัฐมนตรี กลั่นกรองการโอนอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐให้แก่องค์การมหาชน ที่จะจัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๙ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เสนอแนะหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและบุคลากรขององค์การมหาชนภายหลังการยุบเลิกองค์การมหาชนต่อคณะรัฐมนตรี เรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่มอบหมายจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหาร การพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ทั้งนี้ มาตรา ๑๙/๑ ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์การมหาชนเกินกว่าสามแห่งไม่ได้ ทั้งนี้ให้นับรวมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งกรรมการด้วยการนับจำนวนการดำรงตำแหน่งกรรมการตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่ได้มีการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติราชการแทน”

พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังให้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการ และหากมีเหตุผลจำเป็นให้คณะกรรมการขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินหกสิบวัน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวให้คณะกรรมการรายงานผลให้ กพม. เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

ขณะที่ มาตรา 43 ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การมหาชน นโยบายของรัฐบาล มติของคณะรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชนนั้น เพื่อการนี้ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้องค์การมหาชนชี้แจง แสดงความคิดเห็นทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำขององค์การมหาชนที่ขัดต่อกฎหมาย วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การมหาชนนโยบายของรัฐบาล มติของคณะรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชนนั้นตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการได้

มีรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น พบว่า ประเด็นเกี่ยวกับการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการขององค์การมหาชนซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสรรหาที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนพิจารณากำหนด กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี กำหนดให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งผู้อำนวยการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่จำเป็นของผู้อำนวยการขององค์การมหาชน และเพิ่มเติมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ และกำหนดให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการจัดตั้งองค์การมหาชนยังขาดมาตรการส่งเสริมและการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรและบุคคล จึงไม่อาจบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการบริหารงานภาครัฐแบบใหม่ สมควรกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเพื่อรับผิดชอบในการเสนอแนะนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน การพัฒนา และหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกองค์การมหาชนต่อคณะรัฐมนตรี ปรับปรุงองค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการขององค์การมหาชนและผู้อำนวยการขององค์การมหาชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตลอดจนกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันจะทำให้การบริหารงานและการปฏิบัติภารกิจขององค์การมหาชนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


กำลังโหลดความคิดเห็น