โฆษก กรธ.ไม่เห็นด้วยให้ฝ่ายค้านนั่งรองประธานสภาฯ หวั่นควบคุมการประชุมมีปัญหา ขอทุกคนอ่านร่างรัฐธรรมนูญให้เข้าใจก่อนวิจารณ์ ยังมั่นใจประชาชนออกมาใช้สิทธิตามเป้า แย้มมีร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองในมือแล้ว
นายอมร วิณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้กำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นรองประธานสภาฯ เพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไรหรือมีบทบาทไปมากกว่าที่เป็นอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิมๆ รวมทั้งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานและการควบคุมการประชุมสภาเกิดปัญหาได้ นอกจากนี้เราได้ให้บทบาทฝ่ายค้านสามารถตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลได้มากขึ้นกว่าเดิมอยู่แล้ว ทั้งการขออภิปรายหรืออาจกำหนดให้เป็นประธาน กมธ.ด้านการตรวจสอบ แบบนี้จะดีกว่า ทั้งนี้ กรธ.ยินดีรับฟังทุกข้อเสนอแนะ หากพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์กับประเทศและประชาชนจริงๆ กรธ.ก็พร้อมปรับแก้ให้ตามนั้นได้
นายอมรกล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ สนช.ได้อภิปรายยังมีบางประเด็นที่อาจจะเข้าใจผิด เช่น กลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ สนช.บางท่านมองว่าไม่มีกลไกที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก ยืนยันว่า กรธ.ได้กำหนดกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทำได้ยากอยู่แล้ว เช่น กำหนดสัดส่วนให้มี ส.ส.ทุกพรรคต้องเห็นชอบด้วย ตนคิดว่าบางท่านอาจจะไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญจนเข้าใจ หรืออาจไม่มีเวลาอ่านจึงให้ผู้ช่วยหรือฟังคนอื่นจนเกิดการเข้าใจผิดได้ ดังนั้นขอฝากว่าทุกท่านควรอ่านและทำความเข้าใจด้วยตนเอง อย่าไปฟังคนอื่นจนเกิดการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือหากสงสัยในประเด็นใดก็สามารถมาสอบถามโดยตรงกับ กรธ.ทุกคนได้เลยไม่ต้องเกรงใจ
นายอมรกล่าวว่า เรื่องการทำประชามติที่มีคนออกมาเหน็บแนมว่าเพ้อเจ้อกับการที่ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้ตนยังมีความเชื่อมันว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิตามเป้าที่คนคิดไว้ได้แน่ เพราะเราได้ประสานงานกับทั้งกองทัพและส่วนราชการ เพื่อให้ช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนและช่วยรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ และทางรัฐบาลเองก็ค่อนข้างจะช่วยเหลือตรงจุดนี้ในการสั่งกองทัพและข้าราชการให้ช่วยกันด้วย ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าเราให้กองทัพและส่วนราชการช่วยรณรงค์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นกองกำลังให้ร่างฯ ผ่านประชามติ หรือมีสินจ้างให้ออกมาลงประชามติแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นของศาลรัฐธรรมนูญ ตนขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้ไปเพิ่มอำนาจหรือหมกเม็ดอะไร ข้อท้วงติงจากฝ่ายต่างๆ เขาอาจยังมองภาพไม่ชัดเพราะยังไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ หากเขาเห็น พ.ร.บ.ประกอบจะช่วยให้มั่นใจขึ้นว่าเราวางเกณฑ์ไว้อย่างรัดกุม มีกระบวนการชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำอะไรตามใจชอบได้
โฆษก กรธ.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเสร็จแล้ว ซึ่งได้ทำตั้งแต่สมัยเป็น สปช.ที่จัดทำในนามอนุ กมธ.ศึกษาระบบพรรคการเมืองใน กมธ.การเมือง สปช. ซึ่งตนมีตำแหน่งเป็นประธานอนุฯ โดยได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม กปปส. กลุ่ม นปช.และพรรคการเมืองอีกหลายพรรค รวมทั้งนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง มาร่วมกันร่าง และให้ข้อมูล รวมทั้งนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาศึกษาประกอบและนำร่างฯไปฟังการเสนอแนะงานงานสัมมนาอีกหลายงานด้วย ทั้งหมดเป็นกระบวนการทำเหมือนร่างกฎหมายตามปกติ ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ผ่านประชามติ ตนจะนำ พ.ร.บ.ดังกล่าวเสนอให้กับที่ประชุม กรธ.พิจารณา แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า กรธ.จะเอาด้วยหรือไม่ หากเห็นชอบก็สามารถส่งต่อให้ สนช.พิจารณาได้ทันที ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการร่างกฎหมายลูกและช่วยร่นระยะเวลาการทำงานได้ด้วย