xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.รื้อระบบซักฟอกตัดขั้นตอนส่ง ป.ป.ช.ปมทุจริต ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ ประกบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“มีชัย” เผย กรธ.รื้อระบบซักฟอก ให้ฝ่ายค้านมีสิทธิ์ขอประชุมนัดพิเศษอภิปรายโดยไม่ลงมติหากเสียงไม่พอ ตัดขั้นตอนส่ง ป.ป.ช.ปมทุจริต ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ ประกบ พ้นตำแหน่งเริ่มเลือกใหม่ ห้ามฝ่ายค้านเป็นรองประธานสภาฯ กันมีปัญหา เลิกแยกสภาสมัยสามัญ-วิสามัญ แต่คง 2 สมัย ชี้การศึกษา-องค์กรตรวจสอบตรงไปตรงมา ทำ รธน.อยู่ยาว การเมืองกดดันไม่กระทบ ม.ค.เปิดรายมาตรา

วันนี้ (10 ธ.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังวางพวงมาลาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ถึงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญว่าจะสามารถทยอยเสนอเนื้อหารายมาตราต่อสาธารณชนได้ในเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำหนดว่าจะดำเนินการร่างแรกให้แล้วเสร็จ โดยในขณะนี้มีการดูรายมาตรามาตั้งแต่ต้นในหลักการว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร แล้วให้อนุกรรมการไปยกร่างฯ จากนั้นก็ดูไล่ไปซึ่งใกล้จะจบแล้ว โดยขณะนี้ถึงเรื่องคณะรัฐมนตรี และจะต่อเรื่องท้องถิ่น หมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญคิดว่าจะจบก่อนเดือนมกราคม จากนั้นจะไล่ในเรื่องภาษา ดูความสอดคล้องความต่อเนื่อง แต่คงยังไม่นำรายละเอียดออกมาเปิดเผยเพราะยังไม่นิ่ง เนื่องจากช่วงที่ กรธ.ไปสัมมนาที่ชะอำอาจจะมีการปรับเปลี่ยนอีก แต่ภายในเดือนมกราคมจะเสร็จในวันที่ 28 ม.ค. และส่งวันที่ 29 ม.ค.ตามกรอบรัฐธรรมนูญกำหนด

สำหรับเนื้อหาในหมวด ครม.นั้นมีการเพิ่มเติมจากเดิมซึ่งเคยกำหนดไว้ว่าให้อภิปรายนายกรัฐมนตรีกับ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และบังคับว่าถ้ามีกรณีทุจริตต้องไปฟ้อง ป.ป.ช. ทำให้เกิดความยุ่งยาก จึงกลับมาใช้ของเดิม คือ อภิปรายเป็นรายบุคคลหรือคณะก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ถ้ามีข้อกล่าวหาทุจริตสุดท้ายก็ต้องไปที่ ป.ป.ช.อยู่แล้ว และได้พิจารณากรณีถ้าฝ่ายค้านมีเสียงไม่ถึง 1 ใน 5 ที่จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะให้ผู้นำฝ่ายค้านขอให้มีการประชุมนัดพิเศษเพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งเป็นการให้เกียรติผู้นำฝ่ายค้าน จากเดิมที่ตั้งไว้แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้ว่าการอภิปรายดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่เป็นการเสนอแนะเพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อบ้านเมืองในมุมมองของฝ่ายค้านให้รัฐบาลได้พิจารณา ไม่ใช่เป็นเรื่องจับผิด โดยในขั้นตอนนี้คนที่จะอภิปรายได้คือผู้นำฝ่ายค้านคนเดียว จะได้ไม่ดูเป็นเรื่องบาดหมางน้ำใจเพื่อให้เกิดความปรองดองด้วย แต่ระบบตรวจสอบรัฐสภาจะไม่ลดความเข้มข้นลดลง เพราะสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ปีละ1 ครั้ง แต่จะไม่มีการแบ่งสมัยประชุมเป็นสามามัญและวิสามัญเหมือนเมื่อก่อน ทั้งนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องจำนวนเสียงที่จะใช้ยื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องสูงกว่ารัฐมนตรีที่กำหนดไว้ 1 ใน 5 หรือไม่ โดยแนวโน้มในขณะนี้ไปในทิศทางที่ใช้เสียงเท่ากัน เพราะเห็นว่าเสียง 1 ใน 5 ก็พอสมน้ำสมเนื้อจะได้ไม่มีการอภิปรายพร่ำเพรื่อ แต่ก็ต้องไม่กำหนดให้การอภิปรายนายกรัฐมนตรียากจนเกินไป

“การอภิปรายนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนของเดิม เพราะคิดว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็ควรเริ่มต้นใหม่โดยให้สภาเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี การกำหนดล่วงหน้าว่าจะให้ใครเป้นนายกรัฐมนตรีคิดว่าไม่เกิดประโยชน์ ถ้าทำสำเร็จแล้วค่อยเริ่มกระบวนการนับหนึ่งใหม่”

นายมีชัยกล่าวว่า การที่ไม่มีสมัยวิสามัญและสามัญจะทำให้การทำงานของ ส.ส.เป็นไปได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และคุณสมบัติของคนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี จะเพิ่มเป็นเงาตามตัวของคุณสมบัติ ส.ส.ที่เข้มอยู่แล้ว รัฐมนตรีอาจเข้มขึ้นอีกนิดหน่อย ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะกำหนดชัดเจนว่าเป็นหัวหน้าพรรคที่ไม่มีเสียงในรัฐบาลและเพิ่มด้วยว่าต้องไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี เป็นรองประธานสภาฯ ซึ่งเดิมไม่เคยเขียนไว้ ทั้งนี้ กรธ.ได้พิจารณาข้อเสนอของฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้รองประธานสภาฯมาจากฝ่ายค้านแล้ว แต่คิดว่าจะเป็นปัญหาจะทำให้สภาเสียหายในวันข้างหน้า

ประธาน กรธ.ยังกล่าวถึงเนื้อหาในหมวดคณะรัฐมนตรีว่าจะมีการระบุเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ไว้พอสมควรเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ ถือเป็นการปิดข้อสงสัยทางกฎหมายที่เคยเกิดขึ้นเกี่ยวกับความรับผิดชอบของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี และจะได้ชัดเจนว่าเวลาเกิดปัญหาบ้านเมืองเป็นความรับผิดชอบของใคร ถ้าไม่เขียนให้ดีก็จะเถียงกันจนเกิดสุญญากาศในบ้านเมือง ไม่ว่าจะมีองค์กรอิสระอย่างไร ความรับผิดชอบต้องอยู่ที่รัฐบาล ซึ่งเมื่อเขียนชัดเจนแล้วจะไม่เกิดการถกเถียงกันอีกว่านายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง

“เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะร่างรัฐธรรมนูญเต็มความสามารถเพื่อให้รัฐธรรมนูญที่ออกมาสอดคล้องกับสถานการณ์ และเหมาะสมกับประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งอาจต้องเขียนอะไรที่แตกต่างจากประเทศอื่นบ้างเพราะปัญหาของไทยไม่เหมือนที่อื่น ส่วนรัฐธรรมนูญจะใช้ได้ยั่งยื่นขนาดไหนอยู่ที่ปัจจัย 2 อย่าง คือ การศึกษาที่จะทำให้คนมีวินัย และองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายต้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมาในการอำนวยความยุติธรรม ถ้าสองอย่างนี้ทำได้รัฐธรรมนูญก็อยู่ได้ยาว แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็จะเกิดเรื่อง” นายมีชัยกล่าว

นายมีชัยยังกล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีแรงกดดันทางการเมืองไปที่ คสช. และรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆว่าไม่กระทบต่อการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ที่มีกรอบเวลากำหนดไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องทำให้เสร็จตามกรอบเวลา แต่คิดว่าคงไม่สามารถทำได้เร็วกว่านี้ เพราะระยะเวลาสั้นมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น