โฆษก กรธ.เผยพิจารณาบทบัญญัติฝ่ายนิติฯ เสร็จแล้ว จันทร์ถึงคิวฝ่ายบริหาร คุณสมบัตินายกฯ เข้มข้นกว่าเดิม จ่อถกกระจายอำนาจ ตั้งเป้า 8 ม.ค.ยกร่างมาตราทั้งหมด ก่อนประชุมที่ชะอำ 29 ม.ค.เผยร่างแรก แจงให้ผู้นำฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ลงมติแม้เสียงไม่พอ กันเผด็จการรัฐสภา ให้ทุกฝ่ายประนีประนอม ย้ำร่างยึด ปชต.-ฟัง ปชช.
วันนี้ (11 ธ.ค.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ทาง กรธ.ได้พิจารณาบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติเสร็จแล้ว โดยการประชุมในสัปดาห์หน้าวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคมนั้นจะเริ่มพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องฝ่ายบริหาร เช่น คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวนของ ครม. อำนาจหน้าที่ของ ครม. ความสัมพันธ์ของ ครม.กับข้าราชการประจำ บทบาทของฝ่ายบริหารในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ สำหรับคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น เบื้องต้นเราคิดว่าควรจะมีคุณสมบัติที่เข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้มีความเข้มข้นอย่างไร เบื้องต้นเราคงดูในแง่ของพื้นฐานก่อน เช่น เป็นคนซื่อตรง ต้องเสียภาษีย้อนหลัง ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นต้น ส่วนแนวทางอื่นๆ ก็คงต้องรอดูว่าที่ประชุม กรธ.จะมีความคิดเห็นอย่างไรเพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประชาชนไว้วางใจ
นายชาติชายกล่าวต่อว่า สำหรับบทบัญญัติที่ กรธ.เหลืออยู่นอกจากฝ่ายบริหารแล้วและไม่นับบทเฉพาะกาลก็จะมีประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดย กรธ.ตั้งเป้าหมายว่าภายในวันที่ 8 มกราคม 2559 จะต้องยกร่างมาตราทั้งหมดให้ครบ เพื่อการประชุมนอกสถานที่ระหว่างวันที่ 11-17 มกราคม 2559 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทาง กรธ.ก็จะได้ไปพิจารณาเรียงตามมาตราเพื่อดูว่าจะต้องเพิ่มเติมสิ่งใดหรือต้องตัดสิ่งใดบ้าง จากนั้นทาง กรธ.ก็จะมาทบทวนความถูกต้องด้วยความรอบคอบอีกครั้งก่อนที่จะเปิดเผยรัฐธรรมนูญร่างแรกต่อสาธารณชนในวันที่ 29 มกราคม 2559
โฆษก กรธ.กล่าวกรณีที่ กรธ.วางหลักการการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยให้อภิปราย ครม.เป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ รวมทั้งกำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้านยื่นเปิดประชุมนัดพิเศษเพื่ออภิปรายเสนอความเห็นโดยไม่ลงมติได้หากเสียงสนับสนุนไม่พอว่า เหตุผลที่เราวางหลักการแบบนี้ เพื่อให้มีการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้ดีขึ้นและป้องกันเสียงข้างมากเผด็จการไม่ฟังเสียงข้างน้อย เราจึงหาช่องทางให้มีการรับฟังเสียงทุกฝ่ายด้วยการหารือกันเพื่อให้เกิดการปรองดอง อีกทั้งสภาไม่ใช่สถานที่ที่จะมาทะเลาะกัน แต่เป็นสถานที่ใช้ปรึกษาหารือสร้างความเห็นชอบร่วมกันไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล
“เราต้องการให้ทุกฝ่ายรู้จักการประนีประนอม เพราะฐานของระบอบประชาธิปไตย คือ ความรัก ความเมตตาในเพื่อนมนุษย์ที่จะช่วยกันทำสิ่งดีๆ ให้เกิดแก่คนส่วนรวม การเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านเป็นเพียงการแยกบทบาทกันเท่านั้น”
นายชาติชายกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ขอให้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักประชาธิปไตยนั้น ขอยืนยันว่า กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามประชาธิปไตย ไม่ได้เขียนให้มีอำนาจนิยมหรืออำนาจเผด็จการ หรือเขียนสิ่งใดโดยที่ไม่ฟังเสียงประชาชน เราเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม การมาบอกแบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ย้ำว่า กรธ.ทั้ง 21 คน ตระหนักเสมอว่าเวลาที่เราคิดเราเขียนสิ่งใดเราจะคุยกันเสมอว่ามีความเหมาะสม ถูกต้องตามหลักสากล หรือมีประเทศใดทำกันบ้าง เราคิดเสมอไม่ได้เขียนไปเรื่อยเปื่อย ทุกฝ่ายมีสิทธิและเสรีภาพสามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ กรธ.สามารถอธิบายได้ทุกเรื่อง เนื่องจากเรายึดประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง