xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” ลั่น! อย่ามาฟรุ้งฟริ้ง มโน อ้าง ป.ป.ช.ขอเพิ่มอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.(ซ้าย) และ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. (ขวา)
“วิชา” ลั่น! อย่ามาฟรุ้งฟริ้ง มโน อ้าง ป.ป.ช. ชงขอเพิ่มอำนาจ “ปานเทพ”ย้ำ เสนอ กรธ. ขอบูรณาการเร่งคดี คงอำนาจตาม รธน. ปี 50 ด้าน “เพื่อไทย” สับข้อเสนอ ดูเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี ไร้ประโยชน์

วันนี้ (15 ต.ค.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายหลังแถลงผลงาน ป.ป.ช. 9 ปี ว่า ได้ยืนยันกับ กรธ.ว่า ป.ป.ช.จะต้องเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปราศจากการแทรกแซง ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง จะต้องคงไว้ซึ่งอำนาจหน้าที่เดิมตามมาตรา 250 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่เรื่องปัญหาการทำงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วจะต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันขององค์กรอิสระ หรือหน่วยงานตรวจสอบที่เป็นอิสระ เพราะมีฐานเรื่องการตรวจสอบทุจริตด้วยกันทั้งนั้น เพื่อจะได้รวดเร็วในการไต่สวน นอกจากนี้ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องสามารถดำเนินการไปตามคำวินิจฉัยของป.ป.ช. ได้ เพราะขณะนี้เกิดความลักลั่นของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดผล ไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ไม่สามารถทวงคืนสิ่งที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ถูกทุจริตไป ซึ่ง กรธ. รับทราบและจะหารือแลกเปลี่ยนกันต่อไป

ด้าน นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า “อย่ามาฟรุ้งฟริ้ง หรือมโน ว่า ป.ป.ช.จะขอเพิ่มอำนาจ” ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่เคยขอเพิ่มอำนาจตัวเอง เราแค่บอกว่า ป.ป.ช.ต้องเป็นอิสระในการทำงาน และขอให้ได้ทำงานเหมือนเดิมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กรธ.เห็นว่า ป.ป.ช.ควรได้รับอำนาจดูแลคดีทุจริตทั้งหมด แต่สามารถส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างๆ เช่น ป.ป.ท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นๆ รับไปดำเนินการในคดีเล็กน้อยได้ รวมทั้งขอให้เขียนในรัฐธรรมนูญว่าคดีไหนที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อประชาชนให้ ป.ป.ช.หยิบเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนได้ในทันที

อีกด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี ว่า ที่ผ่านมา เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินภายใน 30 วัน เมื่อพ้นก็ต้องยื่นอีกภายใน 30 วัน และเมื่อพ้นไปครบ 1 ปี ก็ต้องยื่นอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็น 3 ครั้ง ซึ่งหลักฐานหนึ่ง ก็คือ การเสียภาษีในปีที่ผ่านมา แต่ที่กำลังพูดกันอยู่ คือ การดูแต่รายการการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี ถามว่า วัตถุประสงค์เพื่ออะไร ถ้าคนที่เขาไม่มีรายได้พึงประเมิน เช่น คนที่ทำสวน ทำไร่ ทำนา ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร แล้วคิดจะมาเป็นนักการเมือง จะเอาหลักฐานที่ไหนมายื่น ตนมองว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะมาดูหลักฐานการเสียภาษี และจะเป็นปัญหาอุปสรรคมากกว่าจะเป็นการตรวจสอบ เพราะเหมือนกับเป็นการมาดูว่า ที่ผ่านมา 5 ปี คนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเขาทำมาหากินอะไร มีรายได้พึงประเมินมากน้อยแค่น้อย

ทั้งนี้ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนั้น ตรวจเพื่อดูว่าก่อนเข้ามาทำงานการเมืองคุณมีอะไรมาบ้าง พออยู่ในตำแหน่งจนพ้นวาระแล้วเหลืออะไรบ้าง เราต้องยึดหลักก่อนว่า ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมันก็ต้องตรวจเมื่อเขาเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง ส่วนถ้าอยากรู้เรื่องการโยกย้ายถ่ายโอนก็ต้องเขียนว่า ให้แสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีมนุษย์ที่ไหนเตรียมตัวทำไว้ถึง 5 ปีหรอก


กำลังโหลดความคิดเห็น