xs
xsm
sm
md
lg

คลังเร่งนิรโทษกรรมภาษีให้เอสเอ็มอี จูงใจผู้ประกอบการทำบัญชีเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” เดินหน้านิรโทษกรรมภาษีให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.9 ล้านราย แต่อยู่ในระบบเพียง 5 แสนราย เพื่อให้มีการเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยจะให้มีการทำบัญชีเดียว คาดช่วยรายได้รัฐเพิ่ม พร้อมตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทน หวังดูดเงินต่างชาติ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการนิรโทษกรรมภาษีให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่ประมาณ 1.9 ล้านราย แต่อยู่ในระบบเพียง 5 แสนราย ให้มีการเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยจะให้มีการทำบัญชีเดียว ซึ่งมีเงื่อนไขว่าหากผู้ประกอบการร่วมมือ และต่อไปมีการเสียภาษีให้ถูกต้อง จะไม่มีการเก็บภาษีย้อนหลัง แต่หากยังเสียภาษีไม่ถูกต้องก็จะเก็บภาษีย้อนหลังไม่มีการยกเว้น ซึ่งจะทำให้การเก็บภาษีของประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับการหารายได้เพิ่มนั้น กระทรวงการคลังยืนยันจะไม่มีการเพิ่มอัตราภาษี แต่จะเพิ่มฐานภาษีโดยให้ทำบัญชีเดียว และจะประสานกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับสมาคมธนาคารไทย ว่าเวลามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อให้ใช้บัญชีเดียวกับที่ยื่นเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร

“การนิรโทษกรรมภาษีไม่ต้องออกเป็นกฎหมายพิเศษ แต่จะมีเงื่อนไข ที่ผ่านมา เคยนิรโทษกรรมหลายครั้ง แต่เวลาผ่านไปก็ยังทำเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้จะมีเงื่อนไขทำถูกไม่มีย้อน หากทำผิดย้อนกลับมาหมดไม่มียกเว้น” นายอภิศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการยังต้องใช้เวลา ผู้ประกอบการมีปัญหาระบบบัญชี กรมสรรพากรอยู่ระหว่างทำระบบบัญชีให้ผู้ประกอบการรายเล็กนำไปใช้ได้ ซึ่งจะสามารถลงรายรับ รายจ่ายโปรแกรมลงบัญชีให้ว่ามีผลกำไร ขาดทุน งบดุล ต้องเสียภาษีเท่าไร

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง จะทำระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เปย์เมนต์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบเลี่ยงภาษี เนื่องจากจะมีการหักภาษีมูลค่าเพิ่มส่งกรมสรรพากร ณ ที่จ่ายในทันที และยังเป็นการปิดช่องโหว่การรั่วไหลของภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้มีมีเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ ในรูปแบบกองใหญ่ เพื่อมาใช้ลงทุนในโครงสร้างฟื้นฐานที่มีอีกมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท จากเดิมที่ต้องตั้งที่ละกอง เบื้องต้นรัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนของกองทุนที่ตั้งขึ้น เพราะบางโครงการยังไม่มีผลตอบแทนเข้ามา จะทำให้กองทุนได้รับการจัดอันดับเครดิตสูงขึ้น ส่งผลให้กองทุนใหญ่ๆ ต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุนที่ตั้งขึ้น พร้อมกันนี้จะให้เอกชนมาลงทุนร่วมกับรัฐ หรือ PPP โดยจะให้เอกชนลงทุนมากกว่ารัฐ เพราะเอกชนแข็งแรง

ทั้งนี้ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้ประสิทธิภาพของประเทศดีขึ้น โครงการใหญ่ต้องใช้เวลายาว ทำหลายแสนล้านบาท ยอดเงินออกมาปลายปีข้างหน้า ผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้มั่นคงพอสมควร ซึ่งกระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ ที่ ธปท. คาดว่าจะโต 2.7% ต่อปี

ขณะที่การบริหารจัดการสินทรัพย์จะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้ตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ โฮลดิ้ง ที่จะมาทำหน้าที่กำกับดูรัฐวิสาหกิจอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และมีแนวคิดดูแลรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ ที่มีอยู่ เพราะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มีผลประโยชน์สูง ควรจะมีการปรับประสิทธิภาพผลตอบแทนสูงกว่านี้ได้ ทำให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ กำไรมากขึ้น และธรรมาภิบาลดีขึ้น

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจปัจจุบัน คือ สหรัฐฯ ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประเทศจีนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโตจาก 10% มานานเป็น 10 ปี เหลือการขยายตัวปีละ 7% ได้อีก 5-10 ปี เงินสำรองจีนมากที่สุดในโลก มีเงินมากแก้ปัญหาได้ง่าย และอัตราดอกเบี้ยจีนยังไม่ต่ำอยู่ที่ 6-7% ยังมีกระสุนทำได้อีกมาก ผลัดดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้สมควร

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันตกมากทำให้สินค้าราคาเกษตรตกตามไปด้วย และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะทำให้ประเทศพัฒนามีปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากประเทศอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทำให้จีดีพีของไทยเกิดปัญหา การเจริญเติบโตไทยพึ่งส่งออกมาก ทำให้ต้องเดินนโยบายควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย มีส่วนประกอบหลายส่วน เรื่องแก้ปัญหาคนมีรายได้น้อย ที่ยังด้อยโอกาส ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกมาตรการวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท ทำให้มีเงินใช้พอสมควร

ส่วนที่สอง มาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีการออกค้ำประกันให้ทั้งหมด 1 แสนล้านบาท และมีการเติมเงินปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน ดอกเบี้ย 4% อีก 1 แสนล้านบาท ช่วยให้ผู้ปะกอบการเอสเอ็มอีมีความผ่อนคลายขึ้นมาได้ รวมถึงมีการลดภาษีเพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น