xs
xsm
sm
md
lg

เข้มแบงก์ปล่อยกู้เอสเอ็มอีเลี่ยงภาษี เตรียมจัดระเบียบการใช้บัญชีเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.คลัง เผยมีแนวคิดให้แบงก์เข้มงวดปล่อยกู้นิติบุคคลเลี่ยงภาษี เผยมีเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อจำนวนมาก แต่มีบางรายเลี่ยงภาษีโดยเปิดหลายบัญชีเพื่อรับรายได้ และนำบัญชีที่รายได้น้อยมาเสียภาษี เตรียมร่วมมือ ธปท. และสมาคมแบงก์ จัดระเบียบนิติบุคล โดยเน้นให้ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอสินเชื่อ ต้องใช้บัญชีเดียวกับที่ยื่นเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร และยังให้โอกาสไม่ต้องเสียภาษีย้อนหลัง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในระยะต่อไปมีแนวคิดจะให้ธนาคารเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อกับนิติบุคคลที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยื่นขอสินเชื่อจำนวนมาก แต่มีเอสเอ็มอีบางรายเลี่ยงการเสียภาษี โดยการเปิดหลายบัญชีเพื่อรับรายได้ และนำบัญชีที่มีรายได้น้อยมาเสียภาษี ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนจำนวนมาก แต่ยืนยันว่าจะไม่ปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลแน่นอน แต่จะเน้นเรื่องการจัดระเบียบนิติบุคคล โดยจะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อให้ใช้บัญชีเดียวกับที่ยื่นเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร

ขณะเดียวกัน จะสร้างความรู้ความเข้าใจกับเอสเอ็มอีนอกระบบให้เข้ามาในระบบมากขึ้น โดยกรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโปรแกรมการลงบัญชี เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้เพื่อให้ลงภาษีอย่างถูกต้อง และจะทำระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหักภาษีมูลค่าเพิ่มส่งกรมสรรพากรเลย ณ ที่จ่ายทันทีทั้งหมด เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และการรั่วไหลของเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ ปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าระบบมีเพียง 500,000 ราย จากจำนวนธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านราย ซึ่งระยะต่อไปจะดำเนินการให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องทั้งหมด ในลักษณะการทำบัญชีเดียว และจะให้โอกาสยกเว้นการเก็บภาษีย้อนหลังทั้งหมด โดยกรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายพิเศษ แต่จะตั้งเป็นเงื่อนไขเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาเคยยกเว้นการเก็บภาษีหลายครั้ง แต่ยังกลับเข้าสู่ภาวะเดิม แต่ครั้งนี้หากเสียภาษีไม่ถูกต้องจะเก็บภาษีย้อนหลังโดยไม่มีการยกเว้น
กำลังโหลดความคิดเห็น