xs
xsm
sm
md
lg

มีชัย ปรับระบบซักฟอกใหม่ รธน.ห้ามฝ่ายค้านนั่งรองปธ.สภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10ธ.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญว่า จะทยอยเสนอเนื้อหารายมาตราต่อสาธารณะชนได้ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำหนดว่าจะดำเนินการร่างแรกให้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้ถึงเรื่องคณะรัฐมนตรี และจะต่อเรื่องท้องถิ่น หมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่าจะจบก่อนเดือนม.ค. จากนั้นจะดูในเรื่องภาษา ดูความสอดคล้องความต่อเนื่อง แต่คงยังไม่นำรายละเอียดออกมาเปิดเผย เพราะยังไม่นิ่ง เนื่องจากช่วงที่ กรธ.ไปสัมมนาที่ชะอำ จ.เพชรบุรี อาจจะมีการปรับเปลี่ยนอีก แต่จะเสร็จภายในวันที่ 28 ม.ค. และ ส่งวันที่ 29 ม.ค. ตามกรอบรัฐธรรมนูญกำหนด
สำหรับเนื้อหาในหมวดครม.นั้น มีการเพิ่มเติมจากเดิมซึ่งเคยกำหนดไว้ว่า ให้อภิปรายนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล และบังคับว่า ถ้ามีกรณีทุจริตต้องไปฟ้องป.ป.ช. ทำให้เกิดความยุ่งยาก จึงกลับมาใช้ของเดิมคือ อภิปรายเป็นรายบุคคลหรือคณะก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปยื่นต่อป.ป.ช. ถ้ามีข้อกล่าวหาทุจริต สุดท้ายก็ต้องไปที่ป.ป.ช. อยู่แล้ว และได้พิจารณากรณีถ้าฝ่ายค้านมีเสียงไม่ถึง1ใน 5 ที่จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะให้ผู้นำฝ่ายค้านขอให้มีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งเป็นการให้เกียรติผู้นำฝ่ายค้าน จากเดิมที่ตั้งไว้ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้ว่าการอภิปรายดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่เป็นการเสนอแนะ เพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อบ้านเมืองในมุมมองของฝ่ายค้านให้รัฐบาลได้พิจารณา ไม่ใช่เป็นเรื่องจับผิด
โดยในขั้นตอนนี้ คนที่จะอภิปรายได้คือผู้นำฝ่ายค้านคนเดียว จะได้ไม่ดูเป็นเรื่องบาดหมางน้ำใจ เพื่อให้เกิดความปรองดองด้วย แต่ระบบตรวจสอบรัฐสภาจะไม่ลดความเข้มข้นลดลง เพราะสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ปีละ1 ครั้ง แต่จะไม่มีการแบ่งสมัยประชุมเป็นสามามัญ และวิสามัญ เหมือนเมื่อก่อน ทั้งนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องจำนวนเสียงที่จะใช้ยื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรี ว่าจะต้องสูงกว่ารัฐมนตรีที่กำหนดไว้ 1 ใน 5 หรือไม่ โดยแนวโน้มขณะนี้ไปในทิศทางที่ใช้เสียงเท่ากัน เพราะเห็นว่าเสียง 1 ใน 5 ก็พอสมน้ำสมเนื้อ จะได้ไม่มีการอภิปรายพร่ำเพรื่อ แต่ก็ต้องไม่
กำหนดให้การอภิปรายนายกรัฐมนตรียากจนเกินไป
"การอภิปรายนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนของเดิม เพราะคิดว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็ควรเริ่มต้นใหม่โดยให้สภาเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี การกำหนดล่วงหน้าว่า จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี คิดว่าไม่เกิดประโยชน์ ถ้าทำสำเร็จแล้วค่อยเริ่มกระบวนการนับหนึ่งใหม่"
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า การที่ไม่มีสมัยวิสามัญ และสามัญ จะทำให้การทำงานของส.ส.เป็นไปได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และคุณสมบัติของคนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี จะเพิ่มเป็นเงาตามตัวของคุณสมบัติส.ส.ที่เข้มอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน จะกำหนดชัดเจนว่า เป็นหัวหน้าพรรคที่ไม่มีเสียงในรัฐบาล และเพิ่มด้วยว่าต้องไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี เป็นรองประธานสภาฯ ซึ่งเดิมไม่เคยเขียนไว้ ทั้งนี้กรธ.ได้พิจารณาข้อเสนอของฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้รองประธานสภาฯมาจากฝ่ายค้านแล้ว แต่คิดว่าจะเป็นปัญหา จะทำให้สภาเสียหายในวันข้างหน้า
ประธาน กรธ. ยังกล่าวถึงเนื้อหาในหมวดคณะรัฐมนตรีว่า จะมีการระบุเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ไว้พอสมควรเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการปิดข้อสงสัยทางกฎหมายที่เคยเกิดขึ้นเกี่ยวกับความรับผิดชอบของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี และจะได้ชัดเจนว่า เวลาเกิดปัญหาบ้านเมือง เป็นความรับผิดชอบของใคร ถ้าไม่เขียนให้ดีก็จะเถียงกันจนเกิดสูญญากาศในบ้านเมือง ไม่ว่าจะมีองค์กรอิสระอย่างไร ความรับผิดชอบต้องอยู่ที่รัฐบาล ซึ่งเมื่อเขียนชัดเจนแล้ว จะไม่เกิดการถกเถียงกันอีกว่านายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง
"เราพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะร่างรัฐธรรมนูญเต็มความสามารถเพื่อให้รัฐธรรมนูญที่ออกมาสอดคล้องกับสถานการณ์ และเหมาะสมกับประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งอาจต้องเขียนอะไรที่แตกต่างจากประเทศอื่นบ้าง เพราะปัญหาของไทยไม่เหมือนที่อื่น ส่วนรัฐธรรมนูญจะใช้ได้ยั่งยื่นขนาดไหนอยู่ที่ปัจจัย 2 อย่างคือ การศึกษาที่จะทำให้คนมีวินัย และองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายต้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ในการอำนวยความยุติธรรม ถ้าสองอย่างนี้ทำได้ รัฐธรรมนูญก็อยู่ได้ยาว แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็จะเกิดเรื่อง" นายมีชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น