รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ยอมรับได้ป้องกันทุจริตเข้มข้น กฎหมายวินัยการคลัง และสามารถทักท้วงนโยบายรัฐที่กระทบการคลังได้ แต่ตำหนิเรื่องนายกฯ คนนอกแก้วิกฤต สุดท้ายพรรคการเมืองยังเสนอชื่อ หวั่นบัตรเลือกตั้งใบเดียวซื้อเสียงเยอะขึ้น กังขาปฏิบัติหน้าที่ก่อนถวายสัตย์ฯ ขอเก้าอี้รองประธานสภาฯ ให้ฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล ฝาก “มีชัย” ระวังคำพูด
วันนี้ (31 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับเบื้องต้น ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน กรธ. ว่า จากที่ได้พิจารณาดูมาตราทั้ง 270 มาตรา 15 หมวดแล้ว พบว่า มีทั้งส่วนดีที่ยอมรับได้ และมีส่วนที่ต้องแก้ไข โดยส่วนที่ยอมรับได้นั้น ตนคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามจะหาทางป้องกันการทุจริตอย่างเต็มที่ เพราะการทุจริตเป็นต้นเหตุของปัญหาทางการเมืองอย่างมากมาย ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาสำคัญที่ป้องกันการทุจริต ก็คือ เรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐ การใช้อำนาจรัฐ และเรื่องของการตรวจสอบอำนาจรัฐ ซึ่งกระจายอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างมาก และคาดว่า น่าจะแก้ปัญหากรณีที่รัฐบาลเมื่อมีอำนาจรัฐแล้วอาจจะไปใช้อำนาจในทางทุจริตได้
ขณะเดียวกัน การบัญญัติให้มีกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐในมาตรา 259 ที่ระบุว่า กฎหมายวินัยการเงินการคลังนั้น จะเป็นหนึ่งในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กรธ. จะไปร่าง อีกสิ่งหนึ่งที่รับได้ ก็คือ ในมาตราที่ 241 ที่บัญญัติให้ 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ช่วยกันมีส่วนทักท้วงเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล แต่ไม่จำเป็นที่ต้องมาประชุมร่วมกันในการเสนอความเห็นต่อรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา เพราะหากจะให้อำนาจกับองค์กรอิสระใดก็ควรจะแยกอำนาจออกไม่ ไม่ควรต้องให้มาประชุมร่วมกัน
ส่วนเรื่องที่คิดว่าต้องปรับแก้ก็คือในมาตราที่ 50 ที่ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เกิดการศึกษาภาคบังคับโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนุญปี 2540 และปี 2550 และรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดให้การศึกษาให้กับประชาชน เลยการศึกษาภาคบังคับไปแล้ว คือ ถึง 12 ปี ซึ่งตามภาคบังคับคือ 9 ปี รวมถึงการจัดการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ควรกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อกันรัฐบาลหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการ นอกจากนี้ ยังไม่มีการระบุว่าให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่งมาจากฝ่ายค้าน ซึ่งตรงนี้ตนอยากให้มีด้วย จะได้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะการที่ไม่บัญญัติตรงนี้ลงไปนั้นก็อาจจะทำให้พรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างมาก ซึ่งมีสมาชิกดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการไม่เหมาะสมกับประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งเรื่องของการตั้งกระทู้สดเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนั้น ตนก็ไม่มั่นใจว่าจะดำรงอยู่หรือไม่ ดังนั้น ก็อยากจะฝาก กรธ. ช่วยสร้างความมั่นใจว่าสิ่งนี้จะมีอยู่ด้วย
นายองอาจ กล่าวว่า เรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับระบุว่า แต่ละพรรคสามารถเสนอชื่อใครก็ได้เพื่อให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ชื่อ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ ตนขอติงว่าความคิดนายกฯ คนนอกนั้น เกิดขึ้นเพราะต้องการนายกฯ คนนอกเข้ามาแก้วิกฤต แต่เหตุผลนี้คงจะไม่จำเป็นอีกแล้ว หลังจากการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้ไม่มีวิกฤต อีกทั้งที่ผ่านมามีการพูดว่าต้องมีนายกฯ คนกลาง แต่ข้อบัญญัติเรื่องการเสนอชื่อเช่นนี้คงไม่ทำให้เกิดนายกรัฐมนตรีคนกลางแน่นอน เพราะเป็นผู้ถูกพรรคการเมืองเสนอชื่อ
“ตามหลักการประชาธิปไตย ถ้าบัญญัติให้นายกฯ มาจาก ส.ส. นั้น ก็น่าจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ว่าถ้า กรธ. ยืนยันว่า การมีนายกฯ คนนอกนั้นจำเป็นหากเกิดวิกฤต ก็อยากจะให้ กรธ. อธิบายให้ชัดเจนว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนนอกจากการวิกฤติอย่างไรและวิกฤติแบบไหน” นายองอาจ กล่าว
สำหรับเรื่องการเลือกตั้งบัตรใบเดียวนั้น นายองอาจ กล่าวว่า ตนคิดว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าเนื่องจาก 1. จะทำให้เกิดการซื้อเสียงมากขึ้น เดิมอาจจะแยกกันซื้อเสียงบัญชีรายชื่อส่วนหนึ่งแบ่งเขตส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้อาจจะซื้อเสียงพ่วงไปเลย และ 2. ประชาชนไม่สามารถแสดงเจตจำนงที่แท้จริงของตนในการไปเลือกตั้งได้ ประชาชนอาจจะพึงพอในกับพรรคการเมือง แต่ไม่พอใจกับนักการเมืองในเขตนั้นได้ ก็ต้องหวานอมขมกลืนเลือกไป ในเมื่อ กรธ. แยกให้มีทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ก็ควรให้จะบัญญัติหลักการเอาไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความไม่สบายใจเวลาไปใช้สิทธิ์
อีกเรื่องที่ตนอยากให้แก้ไข ก็คือ เรื่องหมวดพระมหากษัตริย์ในมาตราที่ 24 ที่ระบุว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ผู้ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณสามารถถวายสัตย์ต่อพระรัชทายาท ซึ่งบรรลุนิติภาวะหรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ถวายสัตย์ ผู้ถวายสัตย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่รอการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ” ซึ่งตนสงสัยว่าทำไมถึงไปบัญญัติว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอการถวายสัตย์ไปก่อนได้ ก็อยากจะให้ กรธ. แสดงความชัดเจนตรงนี้ด้วย
นายองอาจ กล่าวว่า ตนเสนอว่า กรธ. ควรจะคำนึงถึงสาระสำคัญ 4 ประการ คือ 1. การกลั่นกรองการเข้าสู่อำนาจรัฐ เพราะตนมองว่าเรื่องนี้เป็นต้นน้ำของการใช้อำนาจรัฐ เพราะถ้าหากไม่สามารถกลั่นกรองได้เต็มที่ ท้ายสุดก็จะเป็นปัญหา 2. ควรมีการกำหนดกลไกการใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม 3. ควรจะสร้างระบบการตรวจสอบอำนาจรัฐที่เข้มแข็ง 4. การสร้างกลไกถ่วงดุลระหว่างสามเหลี่ยมอำนาจให้เกิดขึ้น ได้แก่อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ
ส่วนท่าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายองอาจ กล่าวว่า ขณะนี้ในพรรคประชาธิปัตย์ยังคิดว่าเร็วไปที่จะบอกว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และควรจะพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ดังนั้น ตนก็อยากจะให้ผู้คนในสังคมว่าให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ขณะเดียวกัน ยังเตือนไปยังนายมีชัย ว่า ควรระวังท่าทีต่าง ๆ ด้วย ขณะที่บรรยายากาศที่รัฐสภา โดยมีถ้อยคำตอบโต้บุคคลที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยนั้นโหด โดยระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญของตนไม่ผ่าน อาจจะมีร่างที่โหดกว่านี้ออกมาอีก ซึ่งตนคิดว่าประธาน กรธ. ควรจะต้องระวัดระวังท่าทีให้มากกว่านี้ เพราะอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการทำหน้าที่ของ กรธ. ต่อการร่างรัฐธรรมนูญได้
“การทำแบบนี้จะไม่ทำให้เกิดประโยชน์และทำให้เกิดปัญหาต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่จำเป็น ผมอยากจะให้นายมีชัยพยายามทำให้สังคมนั้นเข้าใจกับร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่านายมีชัย และ กรธ. คงอยากจะให้ประชาชนนั้นยอมรับในร่างรัฐธรรมนูญ และหวังว่า หลังจากนี้คงจะไม่เห็นท่าทีของ กรธ. ที่ออกมาในเชิงข่มขู่หรือชี้นำเช่นนี้อีก” นายองอาจ กล่าว