xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองรุมต้าน-รธน.ส่อไฟเขียว เพื่อไทยหลอนอำนาจศาล !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณาจากกระแสตอบรับเบื้องต้นจากผลสำรวจแบบหยาบ ๆ ของ “กรุงเทพโพลล์” ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มกราคม รวม ๆ ยังพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยคณะกรรมการยกร่างฯ นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ แม้ว่าเนื่อหาในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่สรุปรวบยอดก็ตาม เพราะเวลานี้ยกร่างมาทั้งหมด 261 มาตรา ยังต่อปรับลดตัดทอนให้เหลือ 250 มาตรา ซึ่งร่างแรกจะได้เห็นกันแล้วในอีกราวปลายสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี เท่าที่รับฟังคำอธิบายเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ จากหัวหน้าทีมคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่พยายามเน้นย้ำให้เห็นว่าเป็นร่าง “ฉบับปราบโกง” ฉบับแรก โดยอ้างว่ามีเป้าหมายเพื่อกำจัดพวก “นักการเมืองขี้โกง” เป็นหลัก

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นจะยกตัวอย่างบางหมวด บางมาตรา เช่น หมวด 8 คณะรัฐมนตรี ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

ในมาตรา 171 ระบุว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 174 (2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทน (3) คณะรัฐมนตรีลาออก (4) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 146

มาตรา 172 ระบุให้ ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1. ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 171 (1) หรือ (3) และเป็นกรณีไม่เกี่ยวกับการทุจริต ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่หากพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 171 (4) หรือเป็นกรณีเกี่ยวกับการทุจริต ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ (2) ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 171 (2) ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ในกรณีที่ ครม. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ตาม (1) หรือคณะรัฐมนตรี (2) ลาออกทั้งคณะ และเป็นกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีเฉพาะเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเอง ให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ระบุไว้ชัดเจนกรณีรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจะสิ้นสุดลง ในมาตรา 174 ที่ระบุว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ เว้นแต่ในความผิดอันกระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (4) สภาผู้แทนมีมติไม่ไว้วางใจ (5) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 162 (6) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187/4 หรือมาตรา 187/5 (7) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 175 นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามวรรค 1 แล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 160 วรรค 4 ด้วย

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการ คือ การมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างกว้างขวาง เช่นมาตรา 239 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ (3) พิจารณาวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 213 มาตรา 218 (1)

(4) หน้าที่และอำนาจอื่นตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ การยื่นคำร้องและเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัยและการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญนอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ในมาตรา 240 วรรคท้ายยังระบุไว้ด้วยว่า ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา ครม. ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

มาตรา 241 บัญญัติว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นี่เพียงแค่ตัวอย่างบางช่วงบางตอนเท่านั้น ยังไม่นับเรื่องที่มีบทบัญญัติสำหรับการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่กำหนดคุณสมบัติป้องกันอย่างเข้มข้น เช่น ห้ามบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาเกี่ยวกับการทุจริต หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจะห้ามเข้าสนามการเมืองตลอดชีวิต ป้องกันสภาผัวเมีย เครือญาติเข้ามาสืบทอดอำนาจ

อีกด้านหนึ่งเมื่อเมื่อพิจารณาผลสำรวจเบื้องต้นดังกล่าวโดยสำรวจจากชาวบ้านทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,198 คน เมื่อถามความคิดเห็นที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถแจกใบแดงระงับสิทธิผู้สมัคร ส.ส. ก่อนการเลือกตั้งได้หากพบมีการทุจริต ร้อยละ 86.2 เห็นด้วย ร้อยละ 12.1 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1.7 ไม่ตอบ เมื่อถามถึงประเด็นที่ให้พรรคการเมืองจะต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนมีการเลือกตั้ง โดยอาจจะเป็นผู้สมัคร ส.ส. หรือคนนอกก็ได้ ร้อยละ 79.9 เห็นด้วย ร้อยละ 17.3 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 2.8 ไม่ตอบ

เมื่อถามถึงการให้อำนาจองค์กรอิสระ 3 องค์กร ได้แก่ กกต., คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หารือร่วมกันเพื่อส่งข้อตักเตือนไปยังคณะรัฐมนตรี กรณีที่พบการดำเนินงานหรือนโยบายของรัฐบาลอาจจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศในระยะยาว ร้อยละ 77.6 เห็นด้วย ร้อยละ 18.4 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 4.0 ไม่ตอบ เมื่อถามถึงวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี โดยจะเป็นกี่สมัยก็ได้ (โดยไม่มีผลย้อนหลัง) ร้อยละ 52.4 เห็นด้วย ร้อยละ 40.4 ไม่ค่อยเห็นด้วย และ ร้อยละ 7.2 ไม่ตอบ

เมื่อถามถึงความมั่นใจที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เน้นเรื่อง ขจัดทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง และการซื้อสิทธิขายเสียง จะสามารถบรรลุเจตนารมณ์ที่วางไว้ได้ ร้อยละ 24.0 มั่นใจ ร้อยละ 73.0 ไม่ค่อยมั่นใจ และ ร้อยละ 3.0 ไม่ตอบ เมื่อถามถึงความมั่นใจที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าจะทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติได้ ร้อยละ 22.2 มั่นใจ ร้อยละ 74.6 ไม่ค่อยมั่นใจ และร้อยละ 3.2 ไม่ตอบ

เมื่อถามความเห็นต่อการออกมาใช้สิทธิหากมีการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของประชาชน ร้อยละ 86.8 ตั้งใจจะออกมาใช้สิทธิ ร้อยละ 2 ตั้งใจจะไม่ออกมาใช้สิทธิ และร้อยละ 11.2 ยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาใช้สิทธิหรือไม่ และเมื่อถามถึงความพึงพอใจที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในภาพรวม ร้อยละ 46.6 พอใจ ร้อยละ 37.7 ไม่ค่อยพอใจ และ ร้อยละ 15.7 ไม่ตอบ

หากพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ถามว่ามั่นใจแค่ไหนจะสามารถขจัดนักการเมืองคอรัปชั่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ถึงร้อย 73.0 ยังไม่ค่อยแน่ใจ

แต่นี่เพียงแค่กาาสำรวจเบื้องต้น ยังไม่มีการอธิบายชี้แจงตอกย้ำให้เห็นชัด แต่ที่น่าจับตาก็คือหากมีการทำความเข้าใจและเป้าหมายของการยกร่างเพื่อขจัดรากเหง้าที่บั่นทอนทำลายประเทศมาช้านานว่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นก็เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไปได้สวย และมีแนวโน้มจะผ่านประชามติได้ไม่ยาก

สิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่าที่เห็นอยู่ในเวลานี้ในเบื้องต้นน่าจะให้การสนับสนุน ก็คือ หมวดที่ควบคุมและป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง มีการให้อำนาจขององค์กรอิสระในการตรวจสอบอย่างขว้างขวาง และปรอทที่ชี้วัดได้ดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าสนใจก็ตรงที่พวกนักการเมือง หรือพรรคการเมืองใหญ่ต่างออกมารุมต้าน เพราะพวกเขารู้ว่าถูกลดทอนอำนาจ ถูกตรวจสอบมากขึ้น ทำให้การทำ “ธุรกิจการเมือง” ที่เคยมีมาทำได้ยากขึ้น และมีสิทธิ์ติดคุก และถูกห้ามลงสนามตลอดชีวิต สิ่งพวกนี้แหละที่ทำให้เขากลัว ส่วนเรื่องที่ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงกับประชาชนเท่าที่พิจารณามันเพียงข้ออ้างเพื่อให้การเคลื่อนไหวต่อต้านมีน้ำหนักขึ้นเท่านั้นเอง

เหมือนกับกรณีที่ พรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร เวลานี้ที่เริ่มรณรงค์ต่อต้านหรือให้ชาวบ้านคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยกเอาเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างหลักในการคัดค้าน แต่หากพิจารณากันแบบรู้ทัน จากแบ็กกราวด์ก็พอเข้าใจได้ไม่ยากว่าคนพวกนี้ยัง"หลอน"จากฝันร้ายในอดีตจากคำพิพากษาทั้งในเรื่องการ “ยุบพรรค” สั่งเว้นวรรคการเมือง รวมทั้งดับฝันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบ สารพัด

ดังนั้น พิจารณาจากเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ก็อย่าได้แปลกใจที่พวกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะรู้สึกรับไม่ได้กับการถูกควบคุมแบบนี้ และเราก็ได้เห็น จาตุรนต์ ฉายแสง - จตุพร พรหมพันธุ์ - เหวง โตจิราการ เริ่มรณรงค์คว่ำร่างฉบับนี้กันตั้งแต่หัววัน เพราะสิ่งที่พวกนักการเมืองกลัวที่สุดและควบคุมยากก็คืออำนาจศาลนั่นแหละ ส่วนอำนาจอื่น เช่น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจของข้าราชการ พวกเขาสามารถควบคุมแทรกแซงผ่านทางการเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นหลักประกันในการควบคุมการทุจริตได้ผลมากขึ้นก็ต้องออกแบบองค์กรอิสระให้มีที่มามีความอิสระได้จริง ปราศจากการถูกแทรกแซงได้จริง ซึ่งไม่เว้นแม้แต่วงการศาลที่ต้องมีกลไกตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน แต่เท่าที่พิจารณาในเวลานี้ถือว่ามีแนวโน้มเป็นบวก และต้องชี้แจงอธิบายได้อย่างทันท่วงทีไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพวกนักการเมืองกระจอกที่เป็นลูกน้องของครอบครัว ทักษิณ ชินวัตร เป็นอันขาด !!
กำลังโหลดความคิดเห็น