ศปมผ. ตั้งโต๊ะแจงความก้าวหน้าการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย ระบุติดตั้งระบบติดตามเรือเกือบครบแล้ว ออกกฎหมายแก้ปัญหาประมงพื้นบ้าน บูรณาการใช้กฎหมาย ตรวจจับเรือมากกว่า 60 ตันกรอสส์ขึ้นไป แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์สำเร็จไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือการพัฒนาระบบให้แข็งแรงยิ่งขึ้น หวังอียูเห็นความตั้งใจ
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนถึงความก้าวหน้าการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยมี พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำกระทรวงกลาโหม, พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปมผ., นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง, นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า, นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมจัดหางาน, พล.ต.ท.ธรรมศักดิ์ วิชารยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) และ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมแถลงข่าว
โดย พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากในอดีตมีการทำประมงพื้นบ้านโดยชาวบ้านบริเวณชายฝั่ง รวมทั้งการทำประมงน้ำลึกทั้งในน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากล โดยผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถสูง ซึ่งไม่ได้มีการควบคุมอย่างจริงจัง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายและเสียหายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังยังเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีปัญหาหลักอยู่ 3 ส่วน คือ 1. เรื่องเรือ เช่น ปริมาณเรือ เครื่องมือทำประมง ซึ่งบางชนิดอาจมีการใช้ผิดประเภท 2. เรื่องของบุคลากร เช่น เจ้าของกิจการ กัปตันเรือ แรงงาน 3. เรื่องการบริหารจัดการ ที่ต้องคำนึกถึงกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ขั้นตอนของการแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งมีปัญหาเรื่องแรงงานเข้ามีเกี่ยวข้อง ซึ่งสินค้าที่ส่งขายทั้งในและนอกประเทศมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี
“ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เองจึงกำหนดปัญหาดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ จึงมีการตั้ง ศปมผ. รวมทั้งทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาไป มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน” พล.ต.คงชีพ ระบุ
ส่วน พล.ร.ท.จุมพล กล่าวว่า ทาง ศปมผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเรือโดยการวางระบบในการตรวจสอบตามมาตรฐาน อันเป็นระบบใหญ่ การติดตั้งระบบติดตามเรือ ซึ่งมีการบังคับใช้อย่างจริงจังตั้งแต่เดือน ก.ย. 2558 จนถึงตอนนี้ติดตั้งไปแล้ว 93.7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รู้ว่าเรือแต่ละลำไปทำประมงในพื้นที่ไหนของทะเล รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบอยู่ตลอด มีการออกกฎหมายเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ปัญหาการทำประมงพื้นบ้าน การทำประมงพาณิชย์ มีการให้ความรู้แก่ชาวบ้านผ่านศูนย์ย่อยของ ศปมผ. ทั้ง 28 ศูนย์ย่อยเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายโดยการใช้ชุดเจ้าหน้าที่ตรวจจับแบบสหวิชาชีพ เน้นที่เรือที่มีขนาดมากกว่า 60 ตันกรอสส์ขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานอย่างจริงจัง ทั้งการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมง และร่างวิธีพิจารณาการค้ามนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงจังในการแก้ปัญหาแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือด้านการทำประมงกับต่างประเทศการช่วยเหลือแรงงาน และการพัฒนาความร่วมมือการทำประมงระหว่างประเทศ และมีการเช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ต้องเปลี่ยนอาชีพจากการทำประมง
“เราทำงานสำเร็จไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือการพัฒนาระบบให้แข็งแรงยิ่งขึ้น คลอบคลุมในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งภายในปี 2560 เมื่อมีการวางระบบทั้งระบบสำเร็จแล้ว ศูนย์ย่อย ศปมผ. ทั้ง 28 ศูนย์จะสามารถติดตามเรือได้ทั้งหมด และเป้าหมายสำคัญไม่ใช่การตอบโจทย์อียู เพราะอียูเปรียบเป็นเพียงครูที่มาตรวจการบ้าน แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือพี่น้องชาวประมงของประเทศไทยจะมีความรู้ความเข้าใจ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง หวงแหนทรัพยากรทางทะเล ซึ่งหากทำได้ ประเทศไทยจะมีมาตรฐานโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ภาครัฐมีหน้าที่เพียงกำกับดูแล คนที่เกเร และเอาเปรียบเท่านั้น” พล.ร.ท.จุมพล ระบุ
พล.ร.ท.จุมพล กล่าวว่า ส่วนผลประเมินอียูจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่เราไปควบคุมไม่ได้ และยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหวังว่าอียูจะเห็นความตั้งใจ และความจริงใจของไทย
ด้าน นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในเรื่องของกรอบกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่เราจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงไปพร้อม ๆ กับเรื่องของนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้มีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ วันที่ 14 พ.ย. 2558 โดยมีกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับไอยูยู จำนวน 52 ฉบับ ซึ่งใน 52 ฉบับเป็นกฎหมายเร่งด่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกันไอยูยู ในส่วนของกฎหมายลูกมีเนื้อหาสำคัญ ในเรื่องของการอนุญาตทำการประมง ทั้งในน่านน้ำ นอกน่านน้ำ หรือประมงพื้นบ้าน เรื่องของการอนุญาติเครื่องมือประมง เรื่องการควบคุมเครื่องมือประมง และเรื่องการมีผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง ซึ่งตรงนี้มีส่วนสำคัญในการที่จะควบคุมการประมงมีความละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในเรื่องแผนการจัดการการประมง โดยแต่เดิมการทำการประมงอย่างเสรี แต่ในกรอบประมงฉบับใหม่จะมีการจัดสรรในเรื่องทรัพยากรเป็นไปตามสัดส่วนของทรัพยากรที่มีอยู่จริง จากการสำรวจทางวิชาการ 7 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขที่เห็นได้ชัดว่าทรัพยากรประมงปลาผิวน้ำมีอัตราในการจับต่อชั่วโมง เพิ่มมากขึ้น 35 ถึง50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปลาหน้าดิน ตัวเลขเพิ่มขึ้น 4 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเราเห็นว่ามีแนวโน้มการพัฒนาที่ดีขึ้นของจำนวนทรัพยากรประมง หลังจากที่มีมาตรการต่าง ๆ ออกมา
นายวิมล กล่าวว่า การพัฒนาระบบและการควบคุม ติดตาม เฝ้าระวังการทำประมง ตรงส่วนนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมค่อนข้างเยอะ แต่เดิมเราไม่มีระบบการติดตามควบคุมที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้ได้มีการพัฒนาขึ้นมา โดยเรามีกฎหมายหมายบังคับให้เรือประมงจำเป็นต้องมีการติดตั้งเครื่องมือติดตามเรือ และจากการติดตามด้วยเครื่องมือนี้ เราสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีถึง 87 คดี และใช้เครื่องมือตัวนี้ในการที่จะไปติดตามตรวจสอบย้อนกลับและไปรับรองสินค้าประมงได้มาถูกต้อง ทั้งนี้ในระยะเวลาที่ผ่านมาจากการตรวจสอบกลางทะเลเราพบคดีที่มีการทำผิดในเรื่องของการทำประมง 306 คดี และมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายไปแล้ว
ขณะที่ นางจิราภรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมเจ้าท่าจะดูในเรื่องของเรือ และแรงงานประจำเรือ เราพบปัญหาว่าจำนวนเรือที่มีอยู่จริงไม่ตรงกับเอกสารทางทะเบียนของกรมเจ้าท่า และไม่ตรงกับอาชญาบัตรของกรมประมง จึงมีการสำรวจอย่างเคร่งครัด รวมถึงให้ประชาชนเข้ามาแจ้งสิทธิ และกำหนดให้เรือต่ออายุใบอนุญาต 3 ปี ก็ถือกว่าไม่ประสงค์จะมีเอกสารสิทธิทางทะเบียน ซึ่งพบว่าเรือประมงที่มีอยู่จริง ถูกต้องตามเอกสารทางทะเบียน 41,753 ลำ ที่เหลือคือส่วนที่เจ้าของเรือไม่ได้มาแจ้ง 8,024 ลำก็ถูกถอนทะเบียนไป ผลสัมฤทธิ์ ทำให้กรมประมงสามารถคำนวณค่าจับสัตว์น้ำสูงสุดอย่างถาวรได้ ทั้งนี้เรือยังไม่ได้จดทะเบียนกับเจ้าท่าสามารถมายื่นขอคืนสิทธิตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 58 ถึง 29 ม.ค. 59 โดยจะมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนการคืนสิทธิ์ ส่วนเรือที่จดทะเบียนแล้วแต่ขนาดของเรือไม่ตรงในเอกสารที่ลงทะเบียน ก็สามารถมาลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ระหว่างวันที่ 12 - 22 ม.ค. นี้ หลังจากนั้น วันที่ 23 ม.ค.- 7 ก.พ. จะมีการลงพื้นที่ตรวจวัดขนาดเรือ หากวัดตัวเรือแล้วมีความสมเหตุสมผลในการเปลี่ยนขนาดเรือจึงจะอนุญาต เพราะเนื่องจากขนาดของตัวเรือมีผลกระทบต่อการคำนวณค่าจับสัตว์น้ำ จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง
สำหรับแรงงานที่ทำงานในเรือประมงทั้งผู้ควบคุมเรือ และผู้ควบคุมเครื่องจักร ที่ต้องมีใบประกาศนียบัตรที่ถูกต้องจากกรมเจ้าท่า มีการจดแจ้งไม่ตรงเอกสารทางทะเบียน ซึ่งกรมเจ้าท่าดำเนินการให้ความรู้ ออกสอบความรู้ แล้วให้เจ้าของเรือจัดจ้างคนประจำเรือที่มีประกาศนียบัตรที่ถูกต้อง ทั้งนี้แรงงานที่ไม่ต้องมีประกาศนียบัตร คือ แรงงานประมงทั้งไทยและต่างด้าว แต่เดิมที่เคยกำหนดว่าทำงานในเรื่องไม่ต้องมีการขออนุญาต แต่กรมเจ้าท่าได้กำหนดว่า เมื่อทำงานประมงจะต้องขออนุญาตลงเรือจากกรมเจ้าท่า ซึ่งก็จะมีการบันทึกหมายเลขประจำตัวประชาชน ส่วนแรงงานต่างด้าวจะบันทึกเลขที่ออกให้โดยกรมการจัดหางาน ในส่วนนี้จะทำให้เราสามารถตรวจติดตามแรงงานได้
ส่วน นายอารักษ์ กล่าวว่า เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ของแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์นั้น เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งทำอย่างไร จึงจะทำให้เกิดการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิที่แรงงานนั้นจะได้รับโดยมาตราการที่ดำเนินการคือปรับหลักเกณฑ์และหลักการปฎิบัติ คือการปรับสถานะของแรงงานีที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย และมาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ได้รับการจดทะเบียน เพื่อให้มีการรู้ตัวตน ติดตามได้ จึงดำเนินการจดทะเบียนในสองสถานะคือการทำประมงทะเล และการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ตามมติครม.ที่ระบุให้มีการจดทะเบียนปีละสองครั้ง โดยในส่วนของการทำประมงทะเลนั้นจะสิ้นสุดการจดทะเบียนในวันที่ 30 ม.ค. โดยในครั้งแรกมีผู้จดทะเบียนทั้งสิ้น 5.4 หมื่นคน และในครั้งที่สองขณะนี้จดทะเบียนแล้ว 1.5 หมื่นคน แสดงว่าปริมาณลดลง เนื่องจากการมาตรการจัดระเบียบเรือ ขณะที่การจดทะเบียนแรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำนั้น เพิ่งจดเป็นครั้งแรก และจะสิ้นสุดในวันที่ 22 ก.พ. นั้น มีผู้จดทะเบียนแล้ว 30,000 คน
ในเรื่องของการเปลี่ยนนายจ้างได้นั้น ให้มีการยืดหยุ่นในเรื่องสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน ที่หากแรงงานนั้นทำงานกับสภาพนายจ้างที่ไม่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ซึ่งเป็นการให้นายจ้างตระหนักถึงความรับผิดชอบ ต่อสภาการจ้าง สภาพการทำงานให้กับลูกจ้าง ทั้งนี้ ในส่วนที่มีข่าวว่ามีการปิดกิจการไป เยื่องจากมีคนตกงานนั้น ตนชี้แจงว่าไม่มี เพราะกรมการจัดหางานเข้าไปรองรับดำเนินการ ขณะนี้มีการเปลี่ยนนายจ้างถึง 2,000 กว่าราย มีการกลับประเทศต้นทาง 61 ราย รวมถึงมีการรอดำเนินการที่มีกระบวนการในการเคลื่อนย้ายจังหวัด เปลี่ยนนายจ้างกันได้ นอกจาก นี้ยังมีมาตรการลงโทษขั้นสูงสุดกับนายจ้างที่ทำผิด พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานและทำผิดกับแรงงานคนต่างด้าว ทั้งเรื่องการหักค่าจ้างไม่ถูกต้อง สภาพการทำงานไม่ถูกต้อง ซึ่งตามพ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ถึงขั้นหยุดและปิดโรงงาน
ในส่วนมาตราการคุ้มครองป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์นั้น มีการอบรมพนักงานหลากหลายหน่วยงาน ให้เกิดการทำงานในลักษณะสหวิชาชีพ เพื่อการบูรณาการให้เกิดการคลอบคลุม ทั่วถึง ให้เกิดความถี่ในการตรวจแรงงาน และทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความเข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการติดตามสิทธิของแรงงานที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย กลับมาได้ถึง 12 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีความตกลงกันในเรื่องของการแก้ไข การลักลอบทำงาน การแสวงหาผลประโยชน์มิชอบ การเรียกเก็บค่าใช้จายที่เกินจริง ซึ่งขณะนี้ทั้งประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ที่มีการลงนามร่วมกันแล้ว ส่วนสปป.ลาวอยู่ระหว่างการเจรจาบางส่วน และจตกลงกันเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ เมียนมา เห็นชอบแล้ว รอกระบวนการลงนามร่วมกัน โดยเป้าหมายความร่วมระหว่างประเทศเพื่อนบ้านนั้น คือ คงจำนวนแรงงานต่างด้าวเอาไว้ให้ได้ขณะนี้ และลดการลักลอบที่จะเข้ามาเติม และเพิ่มการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายให้มากขึ้น ดังนั้น ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมา ก็คือ แรงงานในกิจการประมงได้รับการคุ้มครองแรงงาน และเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายอย่างทั่วถึง
ด้าน พล.ต.ท.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ความสำคัญกับคดีการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นภาระแห่งชาติ ได้มีการป้องกันและปราบปรามมาโดยลอด ทั้งนี้หลังการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) สตช. ได้ออกคำสั่งกำชับ โดยเชิญผู้บัญชาการตำรวจใน 22 จังหวัดชายทะเล มาเน้นย้ำให้การทำงานมีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ ก่อนตั้ง ศปมผ. มีการจับกุมในคดีเกี่ยวกับประมงผิดกฎหมายจำนวน 15 ราย ผู้ต้องหา 41 คน ผู้เสียหาย 43 คน และหลังการจัดตั้ง ศปมผ. จนขึ้นขณะนี้มีการจับกุมเพิ่มขึ้นเป็น 35 ราย ผู้ต้องหา 73 คน ผู้เสียหาย 111 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเจ้าของกิจการเรือ 7 คน ไต๋เรือ 24 คน ผู้คุมเรือ 15 คน นอกจากนี้ ยังมีนายหน้าที่กระทำความผิดอีก 48 คน และได้ช่วยเหลือเหยื่อที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 25 คน ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยและเมียนมาเป็นส่วนใหญ่
ส่วนความก้าวหน้าในการดำเนินคดีในชั้นสอบสวนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนตั้ง ศปมผ. มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 11 คดี อยู่ในระหว่างการสอบสวน 25 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 2 คดี อยู่ในชั้นศาล 2 คดี ในการดำเนินการในคดีค้ามนุษย์ เรือเป็นอุปกรณ์สำคัญ และเป็นเหมือนสถานที่กักขังผู้เสียหาย โดยเจ้าหน้าที่มองว่าเจ้าของเรืออาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม สตช. ได้ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการอย่างจริงจัง ซึ่งในภาพรวมในปีที่ผ่านมามีผลการจับกุมเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ จาก 76 คดี เมื่อปี 2557 เป็น 317 คดี จับผู้ต้องเพิ่มขึ้นได้ 32 เปอร์เซ็นต์ จาก 412 คน เป็น 547 คน สามารถช่วยผู้เสียหายจาก 507 คน เป็น 720 คน หรือประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ นายเสข กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตในประเทศไทยนั้น ได้มีการประสานงานบูรณาการเป็นระบบ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ในความคืบหน้าต่างๆที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการประสานให้ข้อมูลกับสหภาพยุโรป (อียู) รัฐสภาแห่งยุโรป ภาคเอกชนของยุโรป รวมถึงเอ็นจีโอต่าง ๆ โดยมีการพาตัวแทนอียู และสมาชิกลงพื้นที่ตรวจ เพื่อให้เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ สถานทูตไทยประจำรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้ง 28 ประเทศ ก็ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้น ๆ แจ้งความคืบหน้าที่ได้ดำเนินการ ซึ่งอียูเองตระหนักถึงความพยายามและความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหานี้.