xs
xsm
sm
md
lg

จำกัด “แรงงานต่างด้าว” ซื้อบัตรสุขภาพ 8 รพ.ทำเข้าถึงบริการยาก หวั่นกระทบคุมโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอ็นจีโอ ชี้ แรงงานต่างด้าวใน กทม. เข้าถึงบริการสาธารณสุข การรักษาพยาบาลยาก เหตุถูกจำกัด รพ. ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพจาก 8 รพ. เท่านั้น และ รพ. ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯชั้นใน ขณะที่แรงงานต่างด้าวกระจายทั่วกรุงเทพฯ หวั่นกระทบการป้องกันและคุมโรคในไทย เสนอให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เป็นเครือข่ายร่วมบริการสุขภาพ พร้อมเพิ่ม รพ. ที่สามารถขายบัตรประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าวได้

น.ส.นงลักษณ์ ดิษฐวงษ์ เจ้าหน้าที่โครงการพื้นที่กรุงเทพฯ ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามใน กทม. ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพนั้น มีความแตกต่างจากพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เพราะถูกกำหนดให้มี รพ. เข้าร่วมให้บริการเพียง 8 แห่ง แบ่งเป็น 1. รพ. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี 2. รพ. สังกัดกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง คือ รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.กลาง และ รพ.วชิระ 3. รพ.เอกชน มี 1 แห่ง คือ รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่ง รพ. เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯชั้นใน ในขณะที่แรงงานต่างด้าวมักจะอยู่เขตชั้นนอก จึงมีความลำบากในการเข้าถึงบริการ ซึ่งเรื่องการรักษามีความสำคัญ ถ้ามีปัญหาด้านการรักษาตามสิทธิ ก็จะส่งผลถึงการป้องกันและควบคุมโรค ถ้าละเลยอาจจะทำให้เกิดปัญหากระทบในด้านอื่น ๆ ตามมา

“นอกจากนั้น แรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถใช้สิทธิ์ส่งต่อด้วย เมื่อเจ็บป่วยจะต้องไปรับการรักษาใน รพ. ที่กำหนดไว้เท่านั้น หากเจ็บป่วยเล็กน้อยเมื่อไปรับการรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. จะต้องจ่ายค่ารักษาเอง เพราะศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. นั้น ไม่ได้รับงบประมาณจาก รพ. ที่ขายบัตรประกันสุขภาพ หากเจ็บป่วยต้องรับการรักษาตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพจะต้องไปที่ รพ. ที่ซื้อบัตรมาเท่านั้น” น.ส.นงลักษณ์ กล่าว

นายชูวงค์ แสงคง ผู้จัดการพันธกิจโครงการพิเศษ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวใน กทม. นั้น มีความยุ่งยาก ตั้งแต่การเลือก รพ. ที่เลือกซื้อบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว/ผู้ติดตาม ได้เพียง 8 แห่ง และไม่สามารถไปใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ของ กทม. จำนวน 68 แห่ง ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ได้ หากจะไปใช้บริการต้องจ่ายเงินเอง ดังนั้นเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการดูแลรักษาพยาบาล และได้รับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภาครัฐควรปรับระบบการให้บริการสุขภาพในพื้นที่ กทม. ใหม่ ด้วยการให้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่กระจายอยู่ทั้ง 50 เขต เป็นเครือข่ายในการให้บริการกับแรงงานต่างด้าวและควรเพิ่ม รพ. ที่สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯชั้นนอก

“นายจ้างจะเป็นผู้ตัดสินใจในการซื้อบัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าว ดังนั้น นายจ้างส่วนใหญ่ก็จะเลือก รพ. ที่อยู่ใกล้กับสำนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเขต กทม. ชั้นใน ในขณะที่แรงงานต่างด้าวอาจจะต้องทำงานที่เขตอื่น เช่น แรงงานต่างด้าวทำงานแถวสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ รพ. ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพไว้ คือ รพ.ราชวิถี เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องเดินทางเข้ามารับการรักษา ต้องขาดงาน หรือหากไปใช้ศูนย์บริการสาธารณสุขก็ต้องจ่ายเงินเอง และ รพ. ทั้ง 8 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีล่ามที่จะพูดจาสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวได้ ก็ต้องหาคนที่สื่อสารได้ทั้งภาษาของผู้ป่วยและภาษาไทยมาช่วยเป็นล่าม” นายชูวงค์ กล่าว

ทั้งนี้ การเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้ต่างด้าว 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มแรงงานต่างด้าว พร้อมผู้ติดตาม 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งแรงงานตามแนวชายแดนที่ทำงานเช้าไปเย็นกลับ โดยฉบับแรก กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานในการตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพให้คนต่างด้าวทุกคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม โดยคิดค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และบัตรประกันสุขภาพ 2,200 บาท รวม 2,700 บาท เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี ราคา 365 บาท ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี สิทธิการรักษาครอบคลุมทั้งบริการรักษาพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันควบคุมโรค เช่น การฉีดวัคซีน

ส่วนประกาศฉบับที่ 2 การซื้อบัตรประกันสุขภาพตามช่วงเวลาที่คาดว่าจะอยู่ในไทย จะมี 3 แบบตามความสมัครใจ คือ คุ้มครอง 1 ปี ราคา 2,100 บาท คุ้มครอง 6 เดือน ราคา 1,400 บาท คุ้มครอง 3 เดือนราคา 1,000 บาท ซึ่งรวมค่าตรวจสุขภาพแล้ว เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี ราคา 365 บาท ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ คุ้มครอง 1 ปี สิทธิเทียบเท่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เช่น การผ่าตัด การรักษาโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง การรับยาต้านไวรัสเอชไอวี

ทั้งนี้ นายจ้างต้องจัดเตรียมเอกสาร และพาแรงงานต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติ ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือกับกรมการปกครอง และขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รวมทั้งตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองว่าไม่เป็นโรคที่ห้ามอนุญาตให้ทำงาน และประกันสุขภาพกับ รพ. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น