ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนที่ กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย (สมาคมนี้ตั้งอยู่ในตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส) มีการแถลงข่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมสารนิเทศ กรมสรรพากร บริษัทเอกชน และเหล่านายแบบนางแบบชื่อดัง
เป็นการเปิดตัวเพื่อเข้าร่วมโครงการ "หยุด ! นางแบบนายแบบ และเด็กต่างชาติที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ต่อต้านการค้ามนุษย์" โดยปกติในอดีตจะเห็นตัวแทน สมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย ออกมาจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวมากกว่าการจัดการเรื่องค้ามนุษย์
เมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ “นายเอ็ดเวิร์ด กิตติ” ประธานสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย และคณะ ได้เข้าหารือกับ อธิบดีกรมการจัดหางาน รองอธิบดี ในประเด็นเกี่ยวกับการลักลอบทำงานของคนต่างด้าว การใช้แรงงานเด็ก การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้ว “ดร.สุมาลี อุทัยเฉลิม” ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย ได้มายื่นหนังสื่อให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สนับสนุนโครงการนี้ โดยมอบผ่าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส พร้อมด้วยพลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ กรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
หนังสือที่ยื่นให้ สนช. สนับสนุน บรรยายว่า ปัจจุบันมีนายแบบ นางแบบ เดินทางเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว โดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน และไม่ผ่านการชำระภาษีรายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เข้ามามาถ่ายแบบ ถ่ายทำโฆษณาจำนวนมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมถ่ายแบบของประเทศไทยที่ไม่ได้มาตรฐาน และทำให้รัฐสูญเสียรายได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องเยาวชนและปัญหาทางเพศที่มีอายุยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์
จึงเสนอ สนช.ให้มีการจัดระเบียบและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและการชำระภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายให้กับผู้ประกอบการ นายจ้างและนางแบบนายแบบ อย่างถูกต้องเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมถ่ายแบบไทยสู่มาตรฐานสากล
โครงการนี้ “ม.ล.ปุณฑริก สมิติ” ปลัดกระทรวงแรงงาน บอกในวันแถลงข่าวว่า เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น จริงจังในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และการกระทำผิดกฎหมายของประเทศไทย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในการเร่งดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มข้นต่อไป
ปลัดแรงงานฯ บอกว่า ปัจจุบันในประเทศไทย มีนางแบบ นายแบบจากหลายประเทศ เช่น ประเทศในยุโรป รัสเซีย ยูเครน บราซิล เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว และไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีรายได้สูง แต่หลีกเลี่ยงการชำระภาษี นอกจากนี้บางรายมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการใช้แรงงานเด็ก เข้าข่ายการค้ามนุษย์ได้
ท่านปลัดฯ ยอมรับว่า การเลี่ยงภาษีส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหลายเรื่อง คือ ต้องสูญเสียรายได้ด้านการจัดเก็บภาษี ชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีการใช้แรงงานเด็ก ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในอุตสาหกรรมถ่ายแบบโลก
แถมยังมีการแย่งอาชีพนางแบบนายแบบคนไทยอีกด้วย ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงต้องเร่งบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง พร้อมดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด จึงขอย้ำเตือนว่า นางแบบ นายแบบ คนต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย หรือประสงค์จะทำงานในประเทศไทยทุกคน ต้องขอใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน อีกทั้งต้องมีวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว ไม่ใช่วีซ่านักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน
ส่วนในกรณีที่คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่ทำงานตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนนายจ้างที่รับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่น -1แสนบาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน นอกจากนี้ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในกรณีที่ใช้แรงงานเด็ก พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และฝ่าฝืนระเบียบการชำระภาษี ซึ่งมีโทษถูกปรับ และจำคุก หรือทั้งปรับ ทั้งจำ นอกจากนั้นอาชีพอื่น ๆ ที่กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญ และต้องตรวจตราอย่างเข้มงวด คือ ประมง และไกด์นำเที่ยว ซึ่งต้องเร่งแก้ปัญหาต่อไป
ส่วน “นายอารักษ์ พรหมณี” อธิบดีกรมจัดหางาน บอกว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน หากถูกจับได้จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีมีใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่ทำงานตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนนายจ้างที่รับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานจะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
ส่วนกรณีต่างด้าวมีใบอนุญาตฯ แต่ไม่ใช่นายจ้างตามที่อนุญาต นายจ้างจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนกรณีใช้แรงงานเด็กจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หากให้เด็กทำงานที่เป็นอันตรายด้วย นายจ้างมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
“การถ่ายแบบในไทยเราไม่ได้หวงห้ามชาวต่างชาติ แต่เมื่อประสงค์เข้ามาถ่ายแบบก็ต้องขออนุญาตทั้งการเข้าเมือง และการทำงานตามกฎหมาย จึงขอให้ชาวต่างชาติหรือผู้ประกอบการด้านถ่ายแบบปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยสำหรับชาวต่างชาติที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ขอวีซ่าสำหรับการทำงาน จากนั้นเข้ามาติดต่อขอใบอนุญาตทำงานที่กรมจัดหางาน ซึ่งใช้เวลาดำเนินการไม่นาน รวมไปถึงกลุ่มดารานักแสดง ศิลปินต่างชาติ ที่มีชื่อเสียง เมื่อจะเข้ามาทำงานในไทยก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนนี้เช่นกัน”
ส่วนกรณีอายุ 15 - 18 ปี ให้ทำวีซ่าสำหรับการทำงานเช่นกัน และมาทำเรื่องแจ้งการจ้างลูกจ้างเด็กต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 15 วัน นับตั้งแต่เด็กเข้าทำงาน โดยผู้ปกครองต้องอนุญาตและติดตามเข้ามาดูแลการทำงานด้วย และจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาการทำงาน ระยะเวลาพักที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้แรงงานเด็กมากเกินไป และคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก
ส่วนใบอนุญาตทำงานนั้นจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี แต่สำหรับการถ่ายแบบจะมีอายุไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งสามารถต่ออายุได้ หากเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนก็มีใบอนุญาตฯ ไม่เกิน 15 วัน โดยค่าใช้จ่ายในการยื่นขอใบอนุญาตทำงานนั้น มีค่าคำขอ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯไม่เกิน 3 เดือน 750 บาท ไม่เกิน 6 เดือน 1,500 บาท และไม่เกิน 1 ปี 3,000 บาท
สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องนายแบบนางแบบไม่มีใบอนุญาต ที่ผ่านมา กรมฯ มีความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบ และผู้ประกอบการไทย แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่จริงจัง ซึ่งหลังจากนี้จะร่วมกับสมาคมฯ เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น โมเดลลิ่
เอเยนซี โปรดักชันเฮาส์ เป็นต้น มาทำความเข้าใจโดยการจัดทำเสวนา จากนั้นจะเริ่มมีการสุ่มตรวจใบอนุญาตฯ ของนายแบบ นางแบบด้วย ก่อนที่จะมีการจัดงานถ่ายแบบหรือเดินแบบ เป็นต้น เพราะงานเหล่านี้ใช้เวลาในการเตรียมการนาน สามารถทำได้ หรืออย่างการถ่ายแบบโฆษณาอาจจะให้มีการขึ้นเครดิตตอนท้ายด้วยว่านายแบบนางแบบเป็นใคร พร้อมด้วยเลขที่ใบอนุญาตฯ เป็นต้น
ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เช่น เด็กเล็กถ่ายแบบโฆษณาผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กต่าง ๆ ต้องดำเนินการอย่างไร อธิบดี บอกว่า ลักษณะนี้จะดำเนินการโดยผู้ปกครองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องการถ่ายแบบ กรมฯ จะมีการส่งเสริมให้คนไทย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีความใฝ่ฝันจะทำงานด้านนี้ได้ทำอาชีพถ่ายแบบ เพื่อให้คนไทยได้ไปยืนอยู่บนเวทีโลกและนำเงินกลับเข้าสู่ประเทศ เพราะรายได้จากคนหนึ่งคนที่ไปทำงานในต่างประเทศ ถือว่าเยอะมากกว่าการส่งหลายสิบคนไปใช้แรงงานหนัก ๆ
นายเอ็ดเวิร์ด กิตติ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบฯ กล่าวว่า นายแบบนางแบบต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยมีประมาณ 300 - 500 คนต่อปี กว่าครึ่งเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยสมาคมฯ ขอร่วมแก้ปัญหานี้โดยแสดงจุดยืนไม่ว่าจ้างนายแบบและนางแบบที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย และรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนอย่างถูกต้อง จัดทำภาษีอย่างถูกต้อง และขอใบอนุญาตทำงานให้คนต่างชาติ และจะมีการประสานไปยังกลุ่มลูกค้า นิตยสาร อีเวนต์ออแกไนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ไม่จ้างนายแบบนางแบบที่เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งหากทุกฝ่ายเอาจริงกับเรื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ และช่วยให้ประเทศไทยได้จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งมูลค่าการตลาดของการถ่ายแบบนั้นสูงมาก
โดยข้อมูลเมื่อ 10 ปีก่อน ยังสูงถึง 25,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเก็บตัวเลขที่แน่ชัด แต่จากข้อมูลสมาคมมีเดียเอเจนซีพบว่า งบประมาณโฆษณาทุกสื่อในปี 2014 รวมแล้วสูงถึง 146,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในอนาคตอาจมีการผลักดันทำใบอนุญาตการทำงานของสมาคมฯ ด้วย เพื่อเป็นการการันตีว่าคนที่เข้ามาทำงานนั้นเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย
“นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช” รองอธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า การจ้างนายแบบนางแบบต่างชาตินั้น จะต้องมีการเสียภาษี ณ ที่จ่าย 5% ซึ่งนายจ้างจะต้องทำเรื่องการจ่ายภาษีให้เรียบร้อย รวมไปถึงปลายปีนายจ้างจะต้องยื่นภาษีแทนนายแบบนางแบบด้วย หากพบว่าไม่มีการเสียภาษีจะถูกปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย และหากยื่นเสียภาษีแต่เสียไม่ครบจะต้องถูกปรับ 1 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย
ด้าน “พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ เห็นว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การถ่ายแบบเป็นการหาประโยชน์จากมนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เป็นการนำคนเหล่านี้มาใช้แรงงาน ถ้ามาโดยถูกกฎหมายทุกอย่าง และมีการขออนุญาตทำงานก็ไม่มีปัญหา แต่จะคาบเกี่ยวการค้ามนุษย์ในลักษณะหลอกลวงหรือเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนั้นยังอาจมีการค้าประเวณีแฝง ซึ่งเป็นการค้ามนุษย์อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันไม่ให้มีเหตุเหล่านี้เกิดขึ้น โดยต้องมีการประสานความร่วมมือกับทั้งภายในและภายนอกประเทศ
โครงการของกรมการจัดหางานครั้งนี้ ถือว่า เป็นการเตือน “บริษัทโมเดลลิ่ง” รวมไปถึงนายจ้าง ที่จ้างคนต่างชาติทำงานนางแบบ นายแบบในประเทศไทย โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว
หน่วยงานรัฐเขาคงไม่ถึงกับไปกวาดล้างเหล่านายแบบนางแบบต่างชาติแบบล้างบาง เขาหวังเพียงให้ “บริษัทโมเดลลิ่ง”ที่เปรียบเหมือนนายจ้าง มาจดทะเบียนวางระบบให้ถูกต้อง เหมือนกับแรงงานต่างด้าวแถบประเทศเพื่อนบ้านไทย ที่กระทรวงแรงงาน เขาจัดระเบียบมาถูกทางตลอด 1-2 ปีนี้ เท่านั้น