ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นพ้องให้มีการเพิ่มเติมข้อห้ามว่าผู้ที่ลงสมัคร ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่มีบุพการี หรือคู่สมรสที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุทีแรกมองในแง่สิทธิมนุษยชน แต่แบบสำรวจส่วนใหญ่ยังมองว่าสังคมไทยเกิดระบบเครือญาติ ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ว. คงไว้ที่ 5 ปี ใช้การเลือกตั้งแบบไขว้
วันนี้ (13 ม.ค.) ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการพิจารณาของ กรธ. ในหมวดรัฐสภา ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการเพิ่มเติมข้อห้ามว่าผู้ที่ลงสมัครการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะต้องไม่มีบุพการี หรือคู่สมรสที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งหมายรวมถึงกรรมการในองค์กรอิสระ และห้ามผู้สมัครในตระกูลเดียวกันเกิน 1 คนในแต่ละอำเภอ
นายชาติชาย ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ กรธ. เปิดกว้างไม่ปิดกั้นบุพการีหรือคู่สมรสและบุตรให้เป็นได้ทั้ง ส.ส. ฝ่ายหนึ่งกับ ส.ว. อีกฝ่ายหนึ่ง แต่เมื่อมีเสียงทักท้วง เสียงเรียกร้องจากเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งผลสำรวจโพลล์จากนิด้าที่พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยังมองว่าสังคมไทยที่มีพรรคพวก มีญาติ มีความเกรงใจเกื้อหนุนกัน จนบางพื้นที่ก็มีการครองตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับกันทั้งตระกูล สร้างเป็นอาณาจักรทางการเมือง ก่อให้เกิดการทับซ้อนกันทางผลประโยชน์ซึ่งไม่เหมาะกับหลักการประชาธิปไตยที่ต้องการคนที่เสียสละ มีจิตสาธารณะมาทำงานให้ส่วนรวม
“กรธ. จึงเห็นพ้องให้มีการเพิ่มข้อห้าม เพื่อให้ผู้มาเป็น ส.ว. มีความเป็นอิสระจริง ๆ ไม่ใช่ยกมาสมัครกันเป็นตระกูลในแต่ละอำเภอ นอกจากนี้หากพบภายหลังว่ามีการฝักใฝ่หรือยอมอยู่ใต้อาณัติในพรรคการเมืองก็จะมีบทลงโทษให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีมูล และต้องพ้นจากสมาชิกภาพด้วยหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าฝักใฝ่จริง นอกเหนือจากการขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมต่อสมัยประชุมก็ต้องพ้นไปด้วย” โฆษก กรธ. กล่าว
นายชาติชาย ยอมรับว่า ตอนแรก กรธ. มองในแง่สิทธิมนุษยชนว่า บุพการีและบุตรรวมทั้งคู่สมรสไม่ควรจะถูกตัดสิทธิ์ จึงไม่ได้กำหนดเป็นข้อห้าม
นายชาติชาย กล่าวด้วยว่า กรธ. ได้ยืนยันแนวคิดเดิมที่ให้ ส.ว. มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี เป็นได้วาระเดียวตลอดชีวิต มีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยมาจากกลุ่มสังคมต่างๆ 20 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน รวม 200 คน เลือกกันเองและเลือกไขว้ตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นมาถึงระดับชาติ โดยกำหนดให้มีรายชื่อสำรองจำนวนหนึ่งประมาณกลุ่มละ 10 - 20 คน เพื่อแทนที่กรณี ส.ว. บางส่วนพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดก็ตาม และหากกรณีรายชื่อสำรองแทนที่จนหมดแล้วยังมี ส.ว. ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และยังมีวาระเหลืออยู่เกินกว่า 1 ปี ก็ให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งทางอ้อมใหม่เพื่อให้ครบ 200 คน โดยผู้มาแทนที่จะอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าที่วาระที่เหลืออยู่เท่านั้น