ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ไฟเขียวผัวเมีย ส.ส.ลงได้เหตุ ส.ว.ใหม่ไร้อำนาจถอดถอนทำความเกรงกลัวหมด แถมทุเรศบางคนลงทุนหย่าเพื่อสมัคร ระบุกลไกเปลี่ยนทำความได้เปรียบในสภาไม่เกิด ส่งผลเป็นสภาผู้ชำนาญ ห่วงหากเขียนจะขัดหลักสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า แต่ถ้าเสียงร้องให้ห้ามก็จะไปแก้ กำลังดูอยู่ลงคะแนนได้กี่คน บอกให้เลือกไขว้กลุ่มกันบล๊อคโหวต เชื่อล็อบบี้ไม่ได้ โยน กกต.ดูวิธีเลือก คนขายก๋วยเตี๋ยวก็สมัครได้ รับต้องคุยอีกที อดีต ส.ว.เข้าข่ายหมดสิทธิ์ตลอดชีพหรือไม่
วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อท้วงติงที่ กรธ.เปิดทางให้บุตร บุพการี และคู่สมรส ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและ ส.ส.เข้ามาเป็น ส.ว.ได้ว่า เดิมทีที่ได้มีการห้ามไว้เพราะ ส.ว.จะเข้ามาเป็นผู้ถอดถอน และกลัวว่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่ครั้งนี้เราเปลี่ยนฐานะของ ส.ว. จากการมองในมุมมองของนักการเมืองมาเป็นมุมมองของกลุ่มสาขาต่างๆ แต่ละคนอาจจะมองอะไรที่แตกต่างกันก็ได้ แล้วเมื่อไม่มีอำนาจถอดถอนบุคคล ความเกรงกลัวก็หมดไป
“นอกจากนี้ เราพบว่าที่ผ่านมาถึงจะห้ามผัวเมียมาเป็น ส.ว.ก็สามารถไปหย่ากันเพื่อมาเป็น ส.ว. ซึ่งดูแล้วทุเรศทุรัง เขียนในรัฐธรรมนูญก็อายเขาไปทั้งโลกว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมความเป็นผัวเมียต้องเป็นแบบนี้ เมื่อกลไกการเลือก ส.ว.ไม่ได้อาศัยกลไกพรรคการเมือง ความได้เปรียบในฐานะที่มีผัวหรือเมียอยู่ในสภาหรือมีพ่อแม่อยู่ในสภาก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ทุกคนสามารถใช้สิทธิของเขาและถึงแม้เข้ามาก็ไม่สามารถทำอะไรได้” นายมีชัยกล่าว
เมื่อถามว่า การไม่ห้ามเรื่องสภาผัวเมียจะทำให้เกิดการปัญหาการเมืองแบบในอดีตอีกหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ประเด็นนี้มองว่าบทบาทของ ส.ว.เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้มีอำนาจในการถอดถอนแล้วมันจะกลายเป็นสภาที่มีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์หลากหลายสาขา ดังนั้น แต่ละคนจะมองในแง่ของสาขาวิชาชีพ โดยไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง ขณะที่ข้อกังวลของการใช้อิทธิพลทางการเมืองครอบงำ ส.ว.ที่เป็นผัวเมียต่อการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ อยากขอถามว่าในอดีตมีสักกี่คน แต่หากเขียนคุณสมบัติเรื่องห้ามผัวเมียเอาไว้ก็จะดูชอบกลว่าความเป็นผัวเมียของคนไทยถูกห้ามอะไรกันไปหมด ก็ชอบกลดี มันจะไปขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนของเขาหรือเปล่า
เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการให้ ส.ว.เป็นสภาผัวเมียถือเป็นอันตรายต่อการเมือง นายมีชัยกล่าวว่า กรณีนั้นกลไกต่างๆ ไม่เหมือนกับที่ร่างอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าหากมีเสียงร้องออกมาให้ห้ามมีสภาผัวเมียก็จะไปปรับแก้ไขใหม่ก็ได้
นายมีชัยยังกล่าวถึงการกำหนดที่มาของ ส.ว.ว่าจะใช้หลักการเลือก ส.ว.จากภายนอกกลุ่มมาเลือกมาแทนการเลือกกันภายในกลุ่ม ซึ่งจะใช้การเลือกระบบนี้ระบบเดียวตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นมา วิธีการนี้จะไม่ทำให้เกิดการสับสนเมื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ว. ในกลุ่มใดก็จะให้ผู้สมัครกลุ่มอื่นโดย 1 คนจะลงคะแนนได้กี่คนทางคณะ กรธ.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าวิธีใดที่จะเหมาะสม โดยรายละเอียดเหล่านี้จะไปอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.
นายมีชัยกล่าวว่า การคัดเลือก ส.ว.ในระดับอำเภอจะทำในรูปแบบที่ให้เลือกกันข้ามกลุ่ม ไม่สามารถเลือกกลุ่มเดียวกันเองได้ เพื่อไม่ให้เกิดการฮั้วกันตั้งแต่ต้นซึ่งเป็นเรื่องอันตราย อย่างไรก็ตาม การคัดเลือก ส.ว. ในระดับอำเภอไม่จำเป็นต้องมีผู้ผ่านการคัดเลือกจนครบ 20 กลุ่มก็ได้ เพราะถึงอย่างไรเสียเมื่อเข้าสู่การเลือกในระดับจังหวัดก็จะได้กลุ่มคนครบ 20 กลุ่มเอง ซึ่งวิธีการเลือก ส.ว.ไขว้กลุ่มกันจะป้องกันการบล็อกโหวตได้ เพราะคนกลุ่มเดียวกันจะไม่สามารเลือกคนจากกลุ่มเดียวกันเองได้ โดยจะไม่มีการให้ผู้สมัครหาเสียง แต่จะใช้วิธีการเผยประวัติส่วนตัว ซึ่งตามประสบการณ์ของผู้ที่สมัครในวิชาชีพนั้น เชื่อได้ในระดับหนึ่งว่าจะเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำงาน สำหรับกรณีที่พบการทุจริตการเลือก ส.ว. หากตรวจพบว่ามีการฮั้วกันจะถูกตัดสิทธิที่ชาตินี้ไม่ต้องมาสมัครอีกเลย โดยไม่มีข้อยกเว้น
ส่วนกรณีที่มีข้อท้วงติงว่าการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม นายมีชัย กล่าวว่า กกต.จะเป็นผู้ไปออกแบบวิธีเลือก ซึ่ง กกต. รู้ถึงเป้าหมายของ กรธ. แล้วและช่วงระหว่างนี้ไปจนถึง 6 เดือนข้างหน้า กกต.จะค่อยคิดดูว่าวิธีเลือกแบบไหนถึงจะไม่มีการฮั้วกัน หากใครพบว่าวิธีการที่ กกต. เสนอยังสามารถฮั้วกันได้ก็สามารถไปเปลี่ยนใหม่ได้ เพราะเราจะไม่เขียนตายตัวไว้ในรัฐธรรมนูญ
สำหรับข้อกังวลว่าการเลือก ส.ว.แบบนี้จะเกิดการล็อบบี้เพื่อเลือกคนของตัวเองมาเป็น ส.ว.นั้น นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะสามารถทำได้ เพราะต้องไปล็อบบี้คนจำนวนมาก ส่วนกรณีที่ประชาชนในพื้นที่อยากใช้สิทธิเลือก ส.ว.ก็ต้องไปสมัครในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถึงจะมีสิทธิออกเสียงเลือก ส.ว.ได้ ทั้งนี้ กลไกการเลือก ส.ว.ดังกล่าวจะเป็นกลไกที่ใช้สำหรับประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมก็ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 65 ล้านคนจะเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมดได้ ให้เฉพาะคนที่สนใจนั่นจะหมายความว่าจะเป็นแบบกึ่งพลเมืองแบบประชารัฐอย่างแท้จริง หมายถึงไม่ใช่กลไกที่อาศัยพรรคการเมือง
นายมีชัยชี้แจงว่า สำหรับการแบ่งกลุ่ม ส.ว.ออกเป็น 20 กลุ่ม กรธ.ได้คิดว่าได้ให้คนทุกคนเข้ามาสมัครได้ไม่ว่าในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็สมัครได้ หากยังขาดก็จะไปปรับ โดยสำหรับใครที่ไม่เข้ากลุ่มสาขาใดตามก็ยังสามารมาสมัครในกลุ่มอาชีพอิสระได้ เช่น คนขายก๋วยเตี๋ยวก็สามารถมาลง ส.ว.ในสาขาอาชีพอิสระ ขณะที่การกำหนดประสบการณ์อย่างน้อย 10 ปีของผู้สมัคร ส.ว.นั้นมีกรอบว่าบุคคลนั้นต้องอยู่ในสาขาวิชาชีพหรือกลุ่มนั้นๆ มานานพอที่จะรู้ทัศนคติของคนที่อยู่ในกลุ่มนั้น ๆ เหมือนอย่างกลุ่มสื่อมวลชนหากทำงานมาเพียง 1-2 ปี คงยังไม่ค่อยรู้อะไร แต่หากเป็น 10 ปี รู้แล้วว่าจะมองอย่างไร
เมื่อถามว่า อดีต ส.ว.ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถสมัคร ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนของ ครม., สนช., สปท., สปช. และ คสช. รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ห้ามไว้ ห้ามเฉพาะ กรธ. ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ ในส่วนของอดีต ส.ว. หากเขาไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็คงจะห้ามเขายากเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดดังกล่าวที่ประชุม กรธ.ยังไม่ได้มีการหารือ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการกำหนดให้เป็น ส.ว.ได้เพียงสมัยเดียวทั้งชีวิต ซึ่งจะมีบทย้อนหลังหรือไม่จะมาพิจารณากันอีกที ทั้งนี้ กรธ. ได้พิจารณาและวางหลักการให้เป็น ส.ว.ได้ครั้งเดียว จากนั้นจึงเฉลี่ยไปให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมบ้างเพื่อป้องกันการผูกขาด ส่วนกรณีนี้จะโยงเข้ากับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.มาแล้วหรือไม่ ถือว่ามีความก้ำกึ่ง ซึ่งจะต้องไปคุยกันดูอีกที
ด้านนายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ.แถลงข่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มีสื่อซักถามทักท้วงจำนวนมาก กรธ.ตัดสินใจว่าจะให้กำหนดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะสำรวจความเห็นของประชาชน ว่าจะยอมให้เกิดสภาผัวเมียภายใต้กติกาใหม่นี้ได้หรือไม่ ก่อนที่จะนำมาทบทวนอีกครั้งในภายหลัง