ความคิดที่ต้องการตอบโจทย์ให้ผู้อยากทำอาชีพขาย “ก๋วยเตี๋ยว” สามารถนำไปประกอบการค้าได้ง่ายๆ รสชาติสม่ำเสมอ กลายเป็นจุดเด่นของแฟรนไชส์ขายอาชีพ แบรนด์ ‘ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้งดึ๋ง’ ซึ่งจะจัดเตรียมวัตถุดิบหลักทุกอย่างไว้เรียบร้อยใส่ในซองจัดเป็นชุดๆ ช่วยให้แม้แต่คนที่ประกอบการอาหารไม่เป็นยังสามารถทำอาชีพนี้ได้
เจ้าของแบรนด์ ‘ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้งดึ๋ง’ คือ “ชนกานต์ ฤทธิ์ประภา” หน้าที่หลักทำงานเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินต่างชาติแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันยังแบ่งเวลามาช่วยพี่ชายประกอบธุรกิจเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวควบคู่กันไปด้วย
สาวสวยเล่าว่า ทางครอบครัว โดยเฉพาะพี่ชาย (อุกฤษฏ์ ฤทธิ์ประภา) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจตัวจริง เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวอยู่แล้ว จากประสบการณ์ทำอาชีพนี้ที่ผ่านมารู้ดีว่าสำหรับมือใหม่ที่จะขายก๋วยเตี๋ยวเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะการดูแลคุณภาพก๋วยเตี๋ยวให้สม่ำเสมอ รสชาติเหมือนเดิม ปริมาณให้เท่ากันทุกจาน ตลอดจนป้องกันปัญหาเงินรั่วไหลจากค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองต่างๆ นานา
ดังนั้น เมื่อคิดจะขายแฟรนไชส์สร้างอาชีพ จึงคิดระบบจัดวัตถุดิบหลักเป็นชุดๆ ได้แก่ เส้นแยกเป็นซองๆ โดย 1 ซองสำหรับก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม หมูเด้ง 1 ชิ้นต่อ 1 ชาม และเครื่องปรุงสำเร็จรูป 1 ซองต่อ 1 ชาม เป็นต้น วิธีดังกล่าว ช่วยให้ผู้ขายทำก๋วยเตี๋ยวได้ง่ายๆ เพียงแค่ฉีกซองวัตถุดิบแต่ละชนิดลวกน้ำร้อน และเทใส่จานเป็นอันเรียบร้อย นอกจากนั้น กรณีปล่อยให้ลูกจ้างเป็นคนขายแทนสามารถจะตรวจเช็กยอดขายได้ว่าขายไปแล้วกี่ชามจากการนับปริมาณวัตถุดิบจัดเป็นชุดที่ลดน้อยลงไป
“จากประสบการณ์ที่เราเคยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวมาก่อน ทำให้รู้ว่าสำหรับมือใหม่เป็นเรื่องยากมาก แค่จะหยิบเส้นให้ได้ปริมาณเท่าๆ กันทุกชามยังเป็นเรื่องยากเลย และในการเปิดร้านมักเกิดต้นทุนสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์สูงมาก เราเลยคิดวิธีการที่จะช่วยให้คนอยากทำอาชีพนี้สามารถทำได้ง่ายที่สุด ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการควบคุมมาตรฐานสินค้าไปในตัวอีกด้วย” สาวเจ้าของธุรกิจกล่าว
ชนกานต์เผยสาเหตุที่เลือกจะขาย “ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้ง” มาจากมองว่าเป็นเมนูที่หากินค่อนข้างยากในท้องตลาดทั่วไป ต่างจากก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวปลา หรือเย็นตาโฟ ที่มีขายอยู่จำนวนมากแล้ว ยิ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูเด้งที่ใส่ไข่ต้มออนเซ็นด้วยแล้วยังไม่เคยเห็นในตลาดมาก่อน เลยเจาะจงเลือกทำเมนูนี้
“ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้งดึ๋ง” เริ่มเปิดร้านครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 อยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ได้ผลตอบรับที่ดีมาก ทำให้เห็นว่าอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวสามารถสร้างรายได้ระดับไม่ธรรมดา อีกทั้งมีผู้สนใจมองหาช่องทางอาชีพอยู่จำนวนมาก เลยคิดต่อยอดขายแฟรนไชส์เมื่อประมาณต้นปี 2558 ที่ผ่านมา
ในด้านการบริหารแฟรนไชส์ “ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้งดึ๋ง” นั้น ชนกานต์เผยว่า ดำเนินการภายใต้บริษัท ฤทธิ์ประภา จำกัด ตั้งขึ้นเพื่อดูแลธุรกิจโดยตรง ซึ่งพี่ชายจะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหลัก ส่วนตัวเธอเป็นผู้ช่วย นอกจากนั้น มีการจ้างผู้จัดการทั่วไป และพนักงานฝ่ายต่างๆ มารับผิดชอบแบบเต็มเวลา
สำหรับการวางระบบมาตรฐานของ “ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้งดึ๋ง” จะใช้ระบบ “ครัวกลาง” ที่จะทำวัตถุดิบหลักเองทั้งหมด ทั้งตัวหมูเด้ง หมูหวาน รวมถึงเป็นเครื่องปรุงต่างๆ เช่น พริกป่น ถั่ว เป็นต้น โดยกระบวนการชั่งตวงวัดทั้งสูตรและปริมาณช่วยให้ได้คุณภาพสม่ำเสมอ จากนั้นนำมาบรรจุซองจัดเป็นชุดๆ ก่อนจะกระจายส่งไปตามสาขาแฟรนไชส์ต่างๆ
รูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ มูลค่า 59,000 บาท ได้รับอุปกรณ์ครบชุด จำนวน 20 รายการพร้อมประกอบอาชีพ เช่น รถเข็น 1 คัน ชุดก๋วยเตี๋ยว 500 ชุด เป็นต้น โดยราคาส่งของชุดก๋วยเตี๋ยว 16 บาทต่อชุด กำหนดราคาขายปลีกแบบธรรมดา ชามละ 36 บาท (พิเศษใส่ไข่ต้มออนเซ็น ชามละ 42 บาท) โดยเฉลี่ยผู้ขายจะมีกำไรหักเฉลี่ยค่าต้นทุนวัตถุดิบ (ยังไม่รวมค่าเช่า ค่าแรงพนักงาน และค่าใช้อื่นๆ) ประมาณชามละ 20 บาท หากขายได้เฉลี่ยวันละ 100 ชาม จะมีอัตราคาดคืนทุนภายใน 2 เดือน
เงื่อนไขหลักในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ร่วมกัน มีการทำสัญญาว่าต้องรับวัตถุดิบหลักชุดก๋วยเตี๋ยวจากบริษัทเท่านั้น โดยส่งที่ราคาชุดละ 16 บาท สั่งขั้นต่ำครั้งละ 500 ชุด หรือเท่ากับ 8,000 บาท (16 บาทx500 ชุด=8,000 บาท) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งฟรี ส่วนต่างจังหวัดคิดค่าจัดส่งตามจริง
ขณะนี้มีผู้ร่วมเป็นแฟรนไชส์แล้ว 5 ราย แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 2 แห่ง และต่างจังหวัด 3 แห่ง โดยจะคัดเฉพาะผู้ที่มีคุณภาพ และความตั้งใจจริงๆ รวมถึงเชื่อมั่นในแบรนด์ ยอมรับที่จะทำตามเงื่อนไขและกติกาของแฟรนไชส์ด้วย
“เราไม่ได้เน้นว่าต้องการขยายสาขาได้ปริมาณมากๆ เท่านั้น แต่ต้องการคนที่มีความตั้งใจจริง หลายคนที่มาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์แล้วมีความเชื่อมั่นส่วนตัวอยู่แล้วว่าต้องเป็นรูปแบบที่เขาคิด ต้องการนำของเราไปดัดแปลงต่างๆ แบบนี้เราไม่สามารถปล่อยได้ ดังนั้น การคัดเลือกผู้มาร่วมธุรกิจต้องการคนที่เชื่อมั่นในแบรนด์ว่าสิ่งที่เราเตรียมไว้ให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ผ่านกระบวนการคิด และทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเราได้สูตรและรสชาติที่เชื่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะชื่นชอบ” เธอเผย
ทั้งนี้ จากการปล่อยแฟรนไชส์มา 5 สาขา ทุกแห่งยังไม่มีรายใดต้องปิดกิจการ ยอดขายโดยเฉลี่ยประมาณ 100 ชามต่อวัน ส่วนเป้าหมายในปีนี้ (2558) คาดจะปล่อยรวมกันประมาณ 20 จุดทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน จะมีการทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์จากส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและจดจำ ซึ่งจะช่วยให้สาขาแฟรนไชส์ขายดีขึ้นตามไปด้วย
www.moodengdung.com/ FB:moodengdung , IG: moodengdung
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *