xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"ขอฟังกระแสต้านก่อนปรับแก้ร่างรธน. ทุเรศผัวเมียหย่าเพื่อลงสมัครส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง ข้อท้วงติงที่กรธ.เปิดทางให้บุตร บุพการี และคู่สมรส ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส.ส.เข้ามาเป็นส.ว.ได้ว่า เดิมที่ได้มีการห้ามไว้เพราะส.ว.จะเข้ามาเป็นผู้ถอดถอน ซึ่งกลัวว่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่ครั้งนี้เราเปลี่ยนฐานะของ ส.ว. จากการมองในมุมของนักการเมือง มาเป็นมุมมองของกลุ่มสาขาต่างๆ แต่ละคนอาจจะมองอะไรที่แตกต่างกันก็ได้ แล้วเมื่อไม่มีอำนาจถอดถอนบุคคล ความเกรงกลัวก็หมดไป
"ที่ผ่านมา ถึงจะห้ามผัว-เมียมาเป็นส.ว. ก็สามารถไปหย่ากันเพื่อมาเป็นส.ว. ซึ่งดูแล้วทุเรศทุรัง เขียนในรัฐธรรมนูญก็อายเขาไปทั้งโลกว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมความเป็นผัว-เมียต้องเป็นแบบนี้ เมื่อกลไกการเลือกส.ว.ไม่ได้อาศัยกลไกพรรคการเมือง ความได้เปรียบในฐานะที่มีผัว หรือเมีย อยู่ในสภาหรือมีพ่อแม่อยู่ในสภาก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นทุกคนสามารถใช้สิทธิของเขา และถึงแม้เข้ามา ก็ไม่สามารถทำอะไรได้" นายมีชัย กล่าว
เมื่อถามว่าการไม่ห้ามเรื่องสภาผัว-เมีย จะทำให้เกิดการปัญหาการเมืองแบบในอดีตอีกหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ประเด็นนี้มองว่าบทบาทของส.ว. เปลี่ยนไปแล้วไม่ได้มีอำนาจในการถอดถอนแล้ว มันจะกลายเป็นสภาที่มีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์หลากหลายสาขา ดังนั้น แต่ละคนจะมองในแง่ของสาขาวิชาชีพ โดยไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง ขณะที่ข้อกังวลของการใช้อิทธิพลทางการเมืองครอบงำ ส.ว. ที่เป็นผัว-เมียต่อการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ อยากขอถามว่า ในอดีตมีสักกี่คน แต่หากเขียนคุณสมบัติเรื่องห้ามผัว-เมียเอาไว้ ก็จะดูชอบกล ว่าความเป็นผัว-เมียของคนไทย ถูกห้ามอะไรกันไปหมด ก็ชอบกลดี มันจะไปขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนของเขาหรือเปล่า
เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยว่าการให้ ส.ว. เป็นสภาผัว-เมีย ถือเป็นอันตรายต่อการเมือง นายมีชัย กล่าวว่า กรณีนั้นกลไกต่างๆไม่เหมือนกับที่ร่างอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าหากมีเสียงร้องออกมาให้ห้ามมีสภาผัว-เมีย ก็จะไปปรับแก้ไขใหม่ก็ได้
นายมีชัย ยังกล่าวถึงการกำหนดที่มาของ ส.ว.ว่า จะใช้หลักการเลือกส.ว. จากภายนอกกลุ่มมาเลือกมาแทนการเลือกกันภายในกลุ่ม ซึ่งจะใช้การเลือกระบบนี้ระบบเดียวตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นมา วิธีการนี้ จะไม่ทำให้เกิดการสับสน เมื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ว. ในกลุ่มใดก็จะให้ผู้สมัครกลุ่มอื่นโดย 1 คน จะลงคะแนนได้กี่คน ทางกรธ.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า วิธีใดที่จะเหมาะสม โดยรายละเอียดเหล่านี้จะไปอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว.
สำหรับการแบ่งกลุ่มส.ว. ออกเป็น 20 กลุ่มนั้น กรธ.ได้คิดว่า ได้ให้คนทุกคนเข้ามาสมัครได้ ไม่ว่าในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็สมัครได้ หากยังขาดก็จะไปปรับ โดยสำหรับใครที่ไม่เข้ากลุ่มสาขาใดตามก็ยังสามารมาสมัครในกลุ่มอาชีพอิสระได้ เช่น คนขายก๋วยเตี๋ยว ก็สามารถมาลง ส.ว.ในสาขาอาชีพอิสระ ขณะที่การกำหนดประสบการณ์อย่างน้อย 10 ปี ของผู้สมัครส.ว. นั้นมีกรอบว่า บุคคลนั้นต้องอยู่ในสาขาวิชาชีพหรือกลุ่มนั้นๆ มานานพอที่จะรู้ทัศนคติของคนที่อยู่ในกลุ่มนั้นๆ เหมือนอย่างกลุ่มสื่อมวลชน หากทำงานมาเพียง 1-2 ปี คงยังไม่ค่อยรู้อะไร แต่หากเป็น 10 ปี รู้แล้วว่า จะมองอย่างไร
เมื่อถามว่า อดีต ส.ว.ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถสมัคร ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ได้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนของ ครม.-สนช.-สปท.-สปช. และ คสช. รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ห้ามไว้ ห้ามเฉพาะกรธ. ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ ในส่วนของอดีต ส.ว. หากเขาไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็คงจะห้ามเขายากเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดดังกล่าวที่ประชุม กรธ. ยังไม่ได้มีการหารือ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการกำหนดให้เป็น ส.ว. ได้เพียงสมัยเดียวทั้งชีวิต ซึ่งจะมีบทย้อนหลังหรือไม่ จะมาพิจารณากันอีกที
นายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า หลังจากที่มีสื่อซักถามทักท้วงจำนวนมาก กรธ.ตัดสินใจว่า จะให้กำหนดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะสำรวจความเห็นของประชาชน ว่าจะยอมให้เกิดสภาผัว-เมีย ภายใต้กติกาใหม่นี้ได้หรือไม่ ก่อนที่จะนำมาทบทวนอีกครั้งในภายหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น