“สมชัย” เผย กกต.เตรียมเปิดระบบอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนอกเขตจังหวัด 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. พร้อมค้านเลิกเลือกตั้งล่วงหน้า ชี้ยังเป็นการอำนวยความสะดวกประชาชนที่จำเป็น
วันนี้ (13 ม.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางอินเทอร์เน็ตว่า การทำงานมีความคืบหน้าพอสมควร โดยมีการทดลองใช้ของเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยใน 20 ประเทศ เพื่อที่จะนำปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นมาปรับปรุง โดยคาดว่าระบบการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางอินเตอร์เนตจะเสร็จสมบูรณ์และเริ่มใช้ได้จริงหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ และ 1 เดือนจากนั้นก็จะเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปได้เริ่มลงทะเบียนผ่านระบบไปจนถึงก่อนวันเลือกตั้งจริง 30 วันดังนั้นคาดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งจะมีเวลาในการลงทะเบียนประมาณ 8-9 เดือน อย่างไรก็ตาม เจตนา กกต.ต้องการให้การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งในประเทศ และนอกราชอาณาจักร ในอนาคตเป็นการลงทะเบียนครั้งต่อครั้ง ซึ่งก็จะต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้ดำเนินการได้ เพราะปัจจุบันเมื่อลงทะเบียนไว้ว่าจะไปใช้สิทธิที่ใด สิทธินั้นก็จะคงอยู่หากไม่มีแจ้งขอเปลี่ยนการใช้สิทธิไปที่อื่น
ทั้งนี้ การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะถูกนำมาใช้กับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตออกเสียงที่ตนมีภูมิลำเนา ได้แจ้งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ เช่น ผู้มีสิทธิออกเสียงที่อยู่ต่างจังหวัดและประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียงในกรุงเทพมหานครก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนและแจ้งประสงค์ที่จะใช้สิทธิออกเสียงที่ใด หากการออกเสียงประชามติเป็นวันที่ 31 ก.ค.ตามที่ได้กำหนดไว้ เบื้องต้นก็จะมีการเปิดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย.
นายสมชัยยังกล่าวกรณีกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญมีแนวคิดยกเลิกการเลือกตั้งล่วงหน้าว่า ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ในด้านลบ ฝ่ายที่เห็นควรยกเลิกก็จะมองว่าเพราะการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นช่องทางของผู้สมัครในการซื้อเสียง ขนคนมาลงคะแนน ดังนั้น ถ้าลดเวลาหรือยกเลิกก็เป็นเรื่องดี แต่อีกมุมหนึ่งในด้านการจัการเลือกตั้งถ้ายึดเรื่องโอกาสในการให้ประชาชนได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด เป็นการอำนวยความสะดวก การเลือกตั้งล่วงหน้าถือเป็นสิ่งที่จำเป็น ยิ่งในต่างประเทศจะมีการขยายเวลาให้เพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น ญี่ปุ่น มีการกำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 10 วัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิวันใดก็ได้ และมีการขยายเวลาลงคะแนนถึง 20.00 น.
“สองหลักการนี้ยังขัดกันอยู่ ขึ้นอยู่กับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการอย่างไร กกต.ดำเนินการได้หมด เขาอาจจะมองในแง่การบริหารจัดการ แต่ถ้าให้ กกต.คิดเอง เรายังมองว่าเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นการอำนวยความสะดวกประชาชนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น”