xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้ กรธ.ยัน “มาร์ค” ลง ส.ส.ได้ แนะปรองดองไม่ต้องออกเป็น กม. เว้นนิรโทษกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ย้อน “มีชัย” ระบุแล้ว “อภิสิทธิ์” ลง ส.ส.ได้ กรณีพ้นจากราชการ แต่ต้องรอดูร่าง รธน. ชี้ปรองดองเรื่องอ่อนไหวต้องรอบคอบ รับหลายเรื่องเขียนเป็นกฎหมายไม่ได้ แนะไม่ต้องออกเป็นกฎหมายจะดีกว่า ยกเว้นเรื่องอภัยโทษ แย้ม ตร.พิจารณาเปลี่ยนยึดรถเป็นยึดใบขับขี่ถาวร ช่วยทุ่นเรื่องเก็บรถรับเป็นจุดอ่อน แถมมีปัญหาเรื่องรถหาย จนท.ต้องรับผิดชอบ

วันนี้ (6 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคุณสมบัติการลงสมัคร ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งที่ 1163/2555 ให้ปลดออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาระบุแล้วว่าสามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ ซึ่งการออกจากราชการออกก่อนนั้นออกเพราะกรณีทุจริตก็ได้ ไม่ทุจริตก็ออกจากราชการได้ แต่งตั้งผิด ขาดคุณสมบัติ ก็ต้องออกจากราชการ คนเหล่านี้จะตัดอนาคตทั้งหมดไม่ได้ กลับเข้ารับราชการใหม่ยังได้เลย กรณีของนายอภิสิทธิ์อยู่ที่ว่าศาลตัดสินว่าทุจริตหรือไม่ ในคำพิพากษาจะระบุไว้ สุดท้ายคนที่ให้คำตอบในเรื่องนี้ได้คือศาล สมมติศาลตัดสินว่าทุจริต ขั้นต่อไป กกต.ซึ่งเป็นผู้รับสมัครับเลือกตั้งจะต้องวินิจฉัยซึ่งไม่ยุ่งยาก ถ้ามีปัญหาก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ถ้าวินิจฉัยแล้วเจ้าตัวไม่ชอบใจก็ไปร้องศาล

เมื่อถามว่า ในทางกฎหมายมีผลย้อนหลังหรือไม่ เช่น ใช้เอกสารเท็จไปสมัครเป็นทหาร ก่อนจะมาเป็นนักการเมือง นายวิษณุกล่าวว่า ตนยังไม่เห็นถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญ จะมีผลย้อนหลังหรือไม่ แต่ทั้งนี้ ถ้าศาลตัดสินไม่ทุจริตมันก็จะเป็นบรรทัดฐานว่าสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.ได้ เยอะไปคนที่ต้องโทษไม่ได้หมายความว่าต้องทุจริต ขนาดลงโทษจำคุกห้ามลงสมัคร ส.ส.ยังมีการยกเว้นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ขนาดจำคุกแล้วเขายังยอมยกเว้นให้ ซึ่งต้องรอดูถ้อยคำที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้สิ่งที่พูดกันอยู่คือ พูดตามถ้อยคำที่โฆษกคณะกรรมการ กรธ.มาแถลง ซึ่งยังต้องรอคณะกรรการ กรธ.คุยในวันที่ 11-17ม.ค.ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อถามว่านายอภิสิทธิ์ต้องไม่นำเอกสารที่กลาโหมระบุใช้เอกสารเท็จสมัครทหารไปใช้ในสมัคร ส.ส.เลยใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า แน่นอน ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะไป ต้องนำหลักฐานเอกสารอื่นๆ ไปสมัคร ซึ่งรู้ว่านายอภิสิทธิ์มีเอกสารที่ใช้ได้อยู่อีกลังหนึ่ง

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอรัฐบาลใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการปรองดองว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและยังไม่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการใดๆ จึงยังไม่ได้เตรียมการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีมอบหมายก็จะไปคิดวิธีการแนวทางตามกรอบและหารือกับนายมีชัย เวลานี้มีเรื่องที่ต้องหารือกันแต่เป็นเรื่องอื่น การปรองดองไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ว่าต้องทำอย่างไรเพราะวันนี้ยังคิดไม่ออก และไม่สามารถตอบคำถามแบบสดๆ ร้อนๆ ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหวเราต้องรอบคอบ

เมื่อถามว่าเรื่องการปรองดองระหว่างบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญกับการใช้มาตรา 44 มีความแตกต่างกันอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ความต่างแน่ และเห็นด้วยว่าหลายเรื่องไม่สามารถที่จะใส่ไว้ในกฎหมายได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจเมื่อเขียนแล้วจะเหมือนการบังคับให้คนทำและสุดท้ายก็ทำไม่ได้และเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามจนถึงขั้นขึ้นศาล เมื่อถึงขั้นนั้นคือการไม่ปรองดองเหมือนการใช้ความไม่ปรองดองเพื่อให้เกิดความปรองดอง แต่บางเรื่องเขียนได้ เช่น เขียนในรัฐธรรมนูญ อาศัยอำนาจในมาตรา 44 และในกฎหมายธรรมดา แต่การเขียนในมาตรา 44 ไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากไม่รู้ว่าในที่สุดแล้วจะมีการรื้อหรือไม่ และมาตรา 44 เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นจากหลายๆฝ่ายโดยปกติแล้วหัวหน้า คสช.มักใช้อำนาจนี้กับปัญหาเร่งด่วนและในวันหนึ่งทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ระบบปกติ

“แต่ปรองดองมันยืดยาวทำไม่เสร็จในปีสองปี ดังนั้นความไม่ชัดเจนในคำสั่งมาตรา 44 จึงมีไม่มากเหมือนกับเขียนในรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมาย แต่ถ้าเขียนในรัฐธรรมนูญก็อาจเป็นการบีบในเรื่องของเวลาจนเกินไป และทำให้รัฐธรรมนูญยืดยาว ไม่ทันสมัยในวันหนึ่งและเมื่อมันเชยไม่ทันสมัย หากจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ถ้าเขียนกฎหมายธรรมดาก็อาจจะง่ายกว่า อันนี้หมายถึงเขียนในกฎหมาย แต่ผมว่าใช้หลักอื่นที่ไม่ต้องเขียนเป็นกฎหมายจะดีกว่า แต่บางเรื่องที่ต้องออกเป็นกฎหมาย เช่น อภัยโทษ นิรโทษกรรม ก็จำเป็นต้องออก” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวถึงแนวคิดการใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวยึดรถผู้ที่เมาแล้วขับในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ขณะนี้ทราบมาว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเปลี่ยนแนวคิดจากยึดรถเป็นยึดใบขับขี่ถาวรหรือไม่ กำลังพิจารณาว่าอะไรจะทำให้น่าเกรงกลัวมากกว่ากัน หากยึดใบขับขี่จะช่วยทุ่นเรื่องที่เก็บรถซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวจะยังมีใช้ต่อไปตามดำริของนายกฯ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีจุดอ่อนอยู่ว่าที่เก็บรถไม่เพียงพอ อีกทั้งหากเก็บไว้นานรถอาจจะหายได้ซึ่งจะมีปัญหาตามมา แต่ทั้งนี้ก็มีผลดีบางอย่างตามมาคือรถที่ถูกยึดมาแล้วมีการร้องเรียนว่ารถหายจนได้รถคืนในครั้งนี้

“กำลังดูอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถใช้มาตรฐานตามที่ที่เจริญแล้วจัดการปัญหาเมาแล้วขับให้ได้ผล หากจะเอาตามประเทศที่เจริญแล้วคงไม่ได้ เมื่อคนเรายังไม่เจริญ แต่วันนี้นายกฯ สั่งให้จัดการรถที่ถูกขโมยมาให้แล้วเสร็จก่อนและค่อยดูต่อไปว่าหากจะใช้วิธียึดรถจะมีที่เก็บหรือไม่ เพราะการเก็บถือเป็นปัญหามากหากรถของประชาชนหาย เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบ ต้องรับผิดซึ่งที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจโดนเรื่องนี้มาหลายคนแล้ว และเมื่อเกิดเหตุต้องส่งเรื่องถึง ป.ป.ช.เพราะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่” นายวิษณุกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น