รองประธาน สปท. ชูคำ “ทินพันธุ์” เน้นทำงานแบบปิดทองหลังพระ ยันหน้าที่ไม่ซ้ำซ้อน สปช.- 6 คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน เชื่อ การปฏิรูปที่ผ่านการพิจารณาปฏิบัติงานได้จริง โยนสิทธิ์ขาดรัฐเห็นชอบหรือไม่ หวังปีนี้ได้วางรากฐานใหม่ให้ประเทศ
วันนี้ (3 ม.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่มีคนเปรียบเปรยว่าบทบาทของ สปท. ไม่โดดเด่น เหมือนคนส่งเอกสาร ว่า สปท. ไม่ต้องการความโดดเด่นแต่ต้องการทำงานให้สำเร็จ เรามีหน้าที่ผลิตแผนปฏิรูปและร่างกฏหมายปฏิรูปส่งให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติฯ นี่คือ หน้าที่ของเรา และต้องเข้าใจว่าผู้นำการปฏิรูป โดย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน บอกว่าเราทำงานแบบปิดทองหลังพระดีกว่า
เมื่อถามว่า หลายคนมองว่า หน้าที่การทำงานของ สปท. ในตอนนี้ ซ้ำซ้อนกับการทำหน้าที่ของ สปช. ในอดีตนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อนแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สปท. ทำงานต่อยอดจาก สปช. และประชาชนทั้งวันนี้ และคนรุ่นต่อไปจะได้ประโยชน์จากการปฏิรูปประเทศ เพราะประเทศจะดีขึ้น
ส่วนกรณีที่มีผู้ระบุว่า สปท. มีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน 6 คณะ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน หรือไม่นั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ไม่ซ้ำแต่เสริมการทำงานกัน เป็นการจัดระบบบริหารจัดการรูปแบบใหม่ของท่านนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 6 คณะ มีนายกฯ เป็นประธานทุกคณะ และรองนายกฯ ที่ดูแลแต่ละกลุ่มภารกิจเป็นรองประธาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ อย่าลืมว่า การปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลง ที่ใดมีการเปลี่ยนแปลงย่อมมีการต่อต้าน ดังนั้น การบริหารการเปลี่ยนแปลงหรือการบริหารการปฏิรูปต้องมีคณะกรรมการลักษณะเช่นนี้ครับ เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ สปท. อยู่ต้นน้ำ ผลิตแผนปฏิรูป คณะรัฐมนตรีอยู่กลางน้ำเห็นชอบแผนปฏิรูป ส่วน 6 คณะกรรมการอยู่ปลายน้ำนำแผนปฏิรูปไปปฏิบัติและกำกับจนสำเร็จ
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปในแต่ละด้านที่ที่ประชุมได้ผ่านการพิจารณาแผนของกรรมาธิการแต่ละคณะแล้วนั้นจะสามารถปฏิบัติได้จริง เมื่อ สปท. ส่งแผนปฏิรูปให้รัฐบาล รัฐบาลจะพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ สิทธิ์ขาดอยู่ที่รัฐบาล ถ้าเห็นชอบก็เดินหน้าทันที ซึ่งการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเจออุปสรรค หรือปัญหาบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาความร่วมมือ เพราะบางฝ่ายยังมองการปฏิรูปว่าเป็นของแม่น้ำ 5 สาย เพื่อแม่น้ำ 5 สาย จึงกอดอกซุกมือ เราต้องการความร่วมแรงร่วมใจการความพยายามปฏิรูประเทศครั้งนี้
“ปัญหาหมักหมมสะสมมาหลายสิบปี และไม่ใช่มีแต่ปัญหาการเมืองเท่านั้น การปฏิรูปครั้งนี้มีความหมายต่อคนรุ่นเราและรุ่นหลัง มีผลต่อชาติบ้านเมืองในวันนี้และวันหน้า การปฏิรูปครั้งนี้เป็นการปฏิรูปประเทศของเราเพื่อทุกคน เราต้องก้าวข้ามปัญหาและก้าวขึ้นสู่ศักยภาพใหม่ของประเทศ จึงเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่ต้องการทุกมือและทุกหัวใจของคนไทย” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ตนขอให้ประเทศชาติและประชาชนมั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืนตลอดปีใหม่และทุกปีตลอดไป ขอให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศที่จะวางรากฐานใหม่ให้กับประเทศของเราเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน