สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จัดบรรยายสรุปการทำงานให้สื่อมวลชน ระบุกำลังเดินตามโรดแมประยะที่ 3 เตรียมพิจารณาแผนปฏิรูปที่มีความสำคัญเร่งด่วนมากที่สุด 21 - 22 ธ.ค. เป้าหมายให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วใน 20 ปีข้างหน้า
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่รัฐสภา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นำโดย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท., นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 และ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท. คนที่ 2 จัดบรรยายสรุปการทำงานของ สปท. ให้กับผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของ สปท. และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นระหว่างสมาชิก สปท. กับสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ตามนโยบาย “สื่อสารทั่วไทย สื่อไกลทั่วโลก”
โดย ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวชี้แจงถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สปท. ว่า ขณะนี้ สปท. กำลังก้าวเข้าสู่การทำงานตามโรดแมปในระยะที่ 3 ช่วงระยะ 18 เดือน ซึ่งเป็นช่วงของการนำส่งการปฏิรูปชุดแรกต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรรมาธิการทั้ง 11 คณะ ได้ทำงานกันอย่างหนักเพื่อเสนอกรอบแนวทางการปฏิรูปต่อที่ประชุม สปท. ในวันที่ 21 - 23 ธ.ค. โดยในการประชุมวันที่ 21 - 22 ธ.ค. ที่ประชุมจะพิจารณาแผนปฏิรูปที่มีความสำคัญเร่งด่วนมากที่สุดเพื่อให้การขับเคลื่อนต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม และหากเรื่องใดที่ต้องออกเป็นร่างกฎหมายก็จะส่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและหากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินก็จะส่งให้คณะกรรมาการขับเคลื่อนทั้ง 6 คณะ ที่มีนายกฯ เป็นประธานต่อไป
ด้าน นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปท. ได้วางกรอบการทำงาน 1+1+18 ซึ่งสอดคล้องกับโรดแมปของรัฐบาล 6+4+6+4 ที่มีระยะเวลา 20 เดือน โดย 1 ตัวแรก เป็นการร่างข้อกำหนดในการประชุม เลข 1 ตัวที่สองเป็นการกลั่นกรองวาระการปฏิรูป และ 18 ก็คือการดำเนินการปฏิรูป โดยการทำงานจะอยู่บนแนวคิดที่ว่า รวดเร็ว รอบด้าน และมีส่วนร่วม ซึ่งการทำงานของ สปท. จะไม่หาแล้วว่าควรปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ศึกษาเอาไว้แล้ว ทั้งนี้ ทาง สปท. เองก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 11 คณะ และคณะกรรมาธิการวิสามัญอีก 2 คณะ ซึ่งเป็นไปตามกรอบ 11 ด้านการปฏิรูปที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้นการทำงานของ สปท. จึงมีกรอบแผนและระยะการทำงาน อีกทั้งยังได้มีการตั้ง คณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.), สนช. และ สปท. ซึ่งมีการประสานงานอยู่ตลอดเวลาด้วย
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายของเรา คือ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วใน 20 ปีข้างหน้า โดยประชาชนจะมีรายได้เฉลี่ยคนละ 15,000 เหรียญต่อปี หรืออย่างน้อย ๆ GDP ของไทยจะต้องไม่ต่ำกว่า 6% ต่อปี แต่การปฏิรูปที่ กมธ. ทั้ง 11 คณะ 11 ด้านดำเนินการอยู่นี้เป็นวาระการพัฒนา ซึ่งไม่อาจเสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี หรือรัฐบาลเดียว หากจะต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้ จะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติควบคู่ไปด้วย