xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ดักคอ! ปัดถก “ฮุน เซน” พลังงานทับซ้อนทางทะเล มีแค่ขอซื้อน้ำเขื่อนไปจันทบุรี-ระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรี เผย การประชุม กพช. ย้ ำต้องปรับตัวให้สอดคล้องสภาพแวดล้อม ปรับแผนจีดีพี วางแผนแหล่งพลังงาน 20 ปีข้างหน้า ส่วนข้อเรียกร้องกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวล ให้คณะกรรมการเสนอเข้าที่ประชุม กพช. แจงกำลังเคลียร์ปัญหาโซลาร์ฟาร์ม เผย ที่ประชุม ครม. ไทย - กัมพูชา คุยเรื่องพลังงานแค่ซื้อน้ำจากเขื่อนในเขมรเข้าระยอง - จันทบุรี ดักคอจะถามพลังงานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระบุ ไม่เอามาเป็นปัญหาในขณะนี้ ถ้าไม่ขุดปล่อยเน่าวันหน้าก็ได้น้ำมันเยอะขึ้น

วันนี้ (21 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยพิจารณาการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2559 ถึงปี 2563 รวมถึงยังจะมีการพิจารณาโครงการพลังงานทดแทนที่ยังไม่คืบหน้า

จากนั้นเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า เรื่องความก้าวหน้าการพิจารณาเพื่อทราบมีหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เราต้องปรับตัวเอง ทั้งระบบพลังงานของประเทศไทย ที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งพลังงาน ประเภทพลังงาน รวมทั้งเรื่องการปรับแผนจีดีพี เพราะไม่มีใครทราบว่าในอนาคตเรื่องของพลังงานจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยราคาน้ำมันโลกอย่างไร รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ทั้งนี้ สิ่งที่ตนในเรื่องที่ตนได้กำหนดชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ทุกเรื่องทุกกลุ่มงาน จะมีประเภทที่ต้องวางแผนล่วงหน้าในอนาคต 20 ปีข้างหน้า

นายกฯ กล่าวว่า อนาคตต้องประเมินว่าเรามีความจำเป็นต่อการใช้พลังงานอย่างไร และมีกลุ่มเป้าหมายอะไรบ้าง ไม่ใช่ประชาชน ครัวเรือนอย่างเดียว แต่ยังประกอบไปด้วย สถานประกอบการธุรกิจ ร้านค้า เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงาน ครัวเรือนจะใช้ไฟแตกต่างกัน ซึ่งเราต้องคิดแล้วว่าอนาคตจะทำอย่างไร โดยทั้งหมดนี้ตนไม่ได้คิดเอง แต่รับฟังมาจากประชาชน ว่า วันนี้เรามาแบกรับภาระหรือไม่ จะได้เกิดความชัดเจนขึ้น เราจะต้องมีดูว่าจะทำอย่างไรต่อราคาค่าไฟในอนาคต โดยต้องดูผลที่เกิดจากราคาน้ำมันด้วย ว่า ราคาจะลงถึงเมื่อไหร่ ต้องเตรียมการทุกวันประมาทไม่ได้มันผันผวนได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงต้องวางอนาคต 20 ปี เรื่องแหล่งพลังงานในประเทศ และพลังงานที่ซื้อจากต่างประเทศ ทั้งแก๊ส และน้ำมัน พลังงานแอลเอ็นจี (พลังงานทางเลือกใหม่สำหรับภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง)

“วันนี้ถ้าทุกคนไปสนใจแต่เรื่องราคาไฟฟ้า ราคาน้ำมันจะถูกลง หรือแพงขึ้น ผมพูดไปก็ไลฟบอยย์ เหนื่อยเปล่า ปวดหัว เพราะมีหลายอย่างที่ทับซ้อนกันอยู่ในตอนนี้ ถ้าถามว่าทำไมราคาถึงเป็นแบบนี้ ทำไมทำโรงงานไฟฟ้าแบบนี้ เพราะไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร ทำเพื่อโดยรวมทั้งสิ้น วันนี้มีทั้งทำเอง ทั้งซื้อเพื่อนบ้าน ขนใส่เรือมา เพราะว่าการใช้ปริมาณน้ำมันของคนไทยรวยมาก คนไทยใช้น้ำมันกับแก๊สเยอะ วันนี้พอราคาตก ภาษีรัฐก็ไม่ค่อยได้ เพราะราคามันลง คนใช้น้ำมันเยอะขึ้น นับเวลาที่ต้องวางแผนในอนาคต 20 ปี ซึ่งจะไปถึง ปี 2579 นับแผนการพัฒนาไปทีละ 5 ปี วันนี้เรากำลังอยู่ในแผนระยะที่ 1 คือ ทำเรื่องการปฏิรูป โดยช่วงปี 2557 - 2559 เราทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนที่ 11 ส่วนต่อไป แผนพัฒนาฯ ที่ 12 ไว้เริ่มปี 2560 โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจจะทำทุก 5 ปี ส่วนรัฐบาลก็ทำงานชุดละ 4 ปี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า นายกรัฐมนตรี ถามผู้สื่อข่าวว่า ทำไมทำหน้าแบบนั้น โดยผู้สื่อข่าวตอบว่า “ที่ผ่านมาอายุรัฐบาลไม่ถึง 4 ปี“ นายกฯ กล่าวว่า “ผมอยากให้อยู่ 4 ปี มันจะได้ทำได้ไง ไม่ใช่ผมไม่อยากให้มีซะเมื่อไหร่ ก็คุณทำกันเอง ถ้าคุณทำกันเองก็อยู่ไม่ครบอยู่อย่างนั้น อย่างไงมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าคุณไม่คิดตามผมมันก็จะเป็นอย่างเดิม ผมไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด ให้เอาคนที่จะมาอธิบายมาคู่กับผมมา แล้วมาสู้กันสิว่าเราจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างไร มาถามผมตรงนี้ต่อหน้าพวกท่าน ผมจะตอบ แต่ต้องตอบผมด้วยแล้วกัน ไม่ใช่ไปพูดข้างนอก ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เราก็จะนับเวลา 1 ปี 6 เดือนที่เหลืออยู่ ของเราสตาร์ทให้อยู่ถึงเดือนกรกฎาคม 2560 นั่นแหละคือแผนปฏิรูป เข้าใจหรือยังง่าย ๆ”

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีสมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ยื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมมติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการปรับเปลี่ยนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าระบบแอดเดอร์ มาเป็นระบบฟีดอินทารีฟ หรือฟีดแทน เนื่องจากราคาสูงกว่า นายกฯ กล่าวว่า ระบบแอดเดอร์ เป็นของเดิม ส่วนระบบฟีด เป็นของใหม่ส่งผลให้ราคารับซื้อปรับเปลี่ยนไป ซึ่งวันนี้กำลังเคลียร์ ขณะที่ของเก่าอยากได้ราคาแบบของใหม่ เนื่องจากของใหม่ราคาสูงขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่า มติดังกล่าวเป็นการขออนุมัติก่อนหน้านี้ ซึ่งจะต้องย้อนกันใหม่หมดหรือเปล่าตนก็ยังไม่รู้

“เดิมใช้แอดเดอร์ ตอนหลังมาเป็นฟีด พวกฟีดได้ราคาไฟฟ้าสูงขึ้น แต่ของเก่าให้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ กี่ปีมาแล้ว ถ้าจะบอกว่าขอเท่าระบบใหม่มันจะใช่หรือไม่ ผมไม่รู้ ผมไม่ตัดสิน ไปตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์มา เพราะถ้าผมตอบไปก็ขัดแย้งหมด ฉะนั้นให้คณะกรรมการเสนอขึ้นมา เพื่อเข้าสู่ที่ประชุม กพช.” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีปัญหาโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ นายกฯ กล่าวว่า ให้อนุญาตกันไป ไม่ใช่ตน ใครอนุญาตนั้นไม่รู้ แต่อนุญาตไปแล้วไม่ดูสายส่งให้เขาก่อน ก็สร้างกันใหญ่โต แล้วจะลากสายส่งตามกันได้หรือไม่ ตรงนี้กำลังเคลียร์กันอยู่ ในเรื่องระบบสายส่ง ที่ก่อสร้างกันขึ้นมาเยอะ และก็กลับมาดูในสถานที่ราชการ ซึ่งจากการเคลียร์ยอดเดิมคาดว่าจะเหลือปริมาณไฟฟ้าตัวนี้ เพราะเศรษฐกิจจะโตแบบนี้ ไม่ได้คิดแค่วันนี้พรุ่งนี้ แต่คิดมาเมื่อปีก่อนนู้น ฉะนั้นก็ต้องมีการวางแผน จะสร้างโรงไฟฟ้าเท่าไร เอามาจากที่ไหนบ้าง ซึ่งก็อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2578 (PDP 2015) และนำมาสู่การปฏิบัติ แต่เมื่อเศรษฐกิจถอยหลัง การจะลงทุนต่าง ๆ ลดลง ทำให้สิ่งที่คิดไว้แล้วเดิมเกิน ตรงนี้ตนก็ฟังเขาอธิบายหลักการมา คราวนี้กลับมาดูว่าพอเหลือขึ้นมาและก็เห็นประชาชนบอกว่าไม่เป็นธรรมก็กันมาได้ 800 เมกะวัตต์ ก็เอา 400 กับ 400 แบ่งกัน เป็นข้าราชการ 400 ประชาชน 400 ถ้าเกินก็จับสลากเอา แต่ปรากฏว่า วันนี้ที่เสนอมาไม่ถึง ซึ่งตรงนี้รวมพวกที่ยังไม่ได้สร้าง แต่พวกที่สร้างไปแล้วและไม่ขออนุญาตต้องไปเคลียร์มา

“ประเทศอื่นจะมีแบบนี้หรือไม่ ไม่มีใบอนุญาต ไม่แจ้ง แต่สร้างแล้วก็ร้องเรียนให้รัฐไปซื้อ ที่ไหนเขาทำกันแบบประเทศนี้ วันนี้กระทรวงมหาดไทยก็เคลียร์ไม่ออก มีชาวบ้านร้องเรียนมา สายส่งไม่มีก็ไม่ได้สร้าง แล้วว่ากันไปได้อย่างไร ฉะนั้น ต้องเยียวยา ว่าจะทำอย่างไรกับที่สร้างไปแล้ว แต่อันใหม่ไม่ได้โดยเด็ดขาด รัฐบาลจะลากสายไปไหวไหม แต่ละเส้นใช้งบประมาณน้อยเสียเมื่อไหร่ ปัญหาคือในหน่วยราชการ เป็นที่ราชพัสดุ ให้ทหารใช้ประโยชน์ แต่ไปทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ นั่นคือกฎหมาย ซึ่งตนก็ไม่รู้รัฐบาลไหนคิดมา ผมได้บอกตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. แล้ว ว่าติดปัญหาตัวนี้ พอเริ่มคิดขึ้นมา ผมถามว่ากฎหมายมีไหม ในเขาสร้างแล้วพอได้ค่าไฟ แล้วเอาไปไหน จะเอาไปใช้เองได้ไหม มันต้องส่งกระทรวงการคลังทั้งหมด วันนี้ต้องดูที่กฎหมายว่ากันอย่างไร ถ้าสร้างให้เขาก็ต้องไปดูที่ พ.ร.บ. ร่วมทุน รายได้กลับมาจะนำไปไหน มันมีกฎหมายทั้งหมด เขาถึงไม่ทำ ไม่เช่นนั้นเขาทำมาตั้งแต่สิบชาติที่แล้ว” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า ในการประชุมร่วม ครม. ไทย - กัมพูชา มีการพูดถึงเรื่องพลังงานหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้มีการพูด เรื่องการซื้อขายพลังงาน เพราะเวลานี้ทางกัมพูชา กำลังสร้างเขื่อนพลังงานน้ำอยู่ โดยเราได้เจรจาไปว่าถ้าสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว เราจะขอใช้น้ำได้บ้างหรือไม่ เพราะวันนี้ตนห่วงเรื่องนี้ที่จะผันไปทางจังหวัดจันทบุรี ระยอง ฉะนั้น ต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร ได้ไฟฟ้าพร้อมน้ำมาด้วย ซึ่งวันนี้เราใช้น้ำไม่ได้ นั่นคือปัญหาของเรา จึงต้องพูดคุยกัน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็บอกว่ายินดี เดี๋ยวค่อยหารือกัน

“ผมรู้ว่าท่านจะถามอะไร จะถามเรื่องพลังงาน ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ผมบอกแล้วว่าจะไม่เอาพื้นที่ทับซ้อนมาเป็นปัญหาในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาเป็นปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะทางไหนก็ตาม เพราะมีคณะทำงานอยู่แล้ว เจทีซี ในทะเล เจบีซี บนบก วันนี้ต้องคุยกันว่าจะร่วมมือบนบกอย่างไร ในน้ำมีหรือไม่ ตรงไหนที่ไม่มีปัญหาจะร่วมกันทำได้หรือไม่ ถ้าทำแบบนี้แล้วจะผิดตรงไหน เป็นการเจรจาใต้โต๊ะหรือเปล่า ผมได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ ก็ไม่ได้ ประเทศไทยได้ทั้งนั้น ถ้าไม่ขุดก็ปล่อยให้อยู่ข้างล่าง ตายเน่าไปตรงนั้น วันหน้าก็ได้น้ำมันเยอะขึ้น เพราะเน่าไปอีกเยอะ คนตายไปอีกเยอะ มันก็เผาเป็นอินทรียวัตถุอยู่ข้างล่าง ประเทศไทยอาจจะรวยก็ได้ ถ้าคนตายไปในวันข้างหน้าเยอะ ๆ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น