xs
xsm
sm
md
lg

“เอื้อวิทยา” เทกฯ โรงไฟฟ้าชีวมวล 9.9 เมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เอื้อวิทยา” เทกโอเวอร์ฟ้าแลบ ซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลโคราช 9.9 เมกะวัตต์ มูลค่า 525 ล้านบาท มีสัญญาซื้อไฟจาก กฟภ.แล้ว การันตีรับรู้รายได้ทันทีปีละ 220 ล้านบาท มั่นใจเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนครบ 50 เมกะวัตต์ภายในปี 2558

นายพีรทัศน์ ธนรัชต์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) หรือ UWC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลอีก 1 โรง ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ในจังหวัดนครราชสีมา มูลค่าโครงการ 525 ล้านบาท โดย UWC เข้าถือหุ้น 100% ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีสัญญาซื้อไฟฟ้า หรือ PPA กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. โดยมีอัตราขายไฟแบบมีส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ที่ 0.30 บาท/หน่วย ที่สำคัญโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้ว และสามารถรับรู้รายได้เข้ามาได้ทันทีจากการขายไฟฟ้าประมาณ 220 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป รวมถึงโครงการนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ถึงปี 2562 และชำระภาษีเงินได้ในอัตรา 50% หลังจากนั้นอีก 5 ปี

บริษัทฯ ได้มีการศึกษาข้อมูลโรงไฟฟ้าดังกล่าวอย่างรอบด้านก่อนเข้าซื้อกิจการ และจะใช้ความชำนาญด้านวิศวกรรมพลังงานไปปรับปรุงโรงไฟฟ้า เพื่อให้สอดรับกับการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแบบผสมผสานที่บริษัทฯ ออกแบบแทนการใช้แกลบ 100% โดยจะทำให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 22% ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าโรงที่ 3 ที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุน ต่อจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดขอนแก่น และบริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถจะลงทุนโรงไฟฟ้าได้ครบ 50 เมกะวัตต์ในปีนี้

สำหรับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในโรงไฟฟ้าดังกล่าว บริษัทฯ ได้เตรียมการปลูก และจัดหาพืชพลังงานบนพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยจะสนับสนุนให้มีการปลูกพืชพลังงานทั้งต้นเนเปียร์ และไม้โตเร็ว ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่สร้างรายได้จากการปลูกพืชพลังงานอีกด้วย

“เรามีความมั่นใจในการลงทุนครั้งนี้ และบริษัทฯ จะเข้าบริหารจัดการ และผลิตไฟฟ้าเพื่อขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทันที ซึ่งจะเร็วกว่าการพัฒนา และก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี โครงการดังกล่าว บริษัทฯ ได้เข้าไปปรับปรุงกระบวนการผลิตไฟฟ้าให้สามารถใช้เชื้อเพลิงด้านชีวมวลได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการใช้เชื้อเพลิงจากแกลบเพียงอย่างเดียว และสามารถสร้างอัตราตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้นได้ โดยคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) กว่า 22%” นายพีรทัศน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น